‘ล้มสัมปทาน’ รอบ21 แช่แข็งประเทศ ก่อวิกฤติใหญ่พลังงาน

972341

กระแสต้านก่อนหน้านี้ถูกปลุกด้วยวาทกรรม สัญญาทาส รัฐถูกครอบงำ ขายชาติ ต้องแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต ทำยังกับว่าโลกนี้มีประเทศไทยเท่านั้นที่บรมโง่



‘ล้มสัมปทาน’ รอบ21

แช่แข็งประเทศ

ก่อวิกฤติใหญ่พลังงาน

กลุ่มต่อต้านการเปิด สัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 นอกจากคนหน้าเดิม อย่าง รสนา โตสิตระกูล สปช., ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี, ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ยังมี น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตแกนนำกลุ่มแช่แข็งประเทศไทย และที่สร้างความตะลึงระคนประหลาดใจสุด ๆ คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ร่วมโหนกระแสชาตินิยมสุดโต่ง จะได้หรือเสียก็มิอาจทราบได้ ทราบแต่อภิสิทธิ์นอนคิดอยู่ 3 วันก่อนโดดเข้าร่วมรถไฟขบวนนี้

เวทีรับฟังความเห็นกลุ่มต่อต้านที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันศุกร์ที่ 20 ก.พ. สรุปว่า จะต้องมีการตั้งคณะทำงานร่วม ก่อความไม่แน่นอนว่า 16 มี.ค. จะได้เปิดประมูลรอบใหม่หรือไม่?? หลังจากที่วันที่ 18 ก.พ. ต้องล้มไม่เป็นท่า!!

กระแสต้านก่อนหน้านี้ถูกปลุกด้วยวาทกรรม สัญญาทาส รัฐถูกครอบงำ ขายชาติ ต้องแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต ทำยังกับว่าโลกนี้มีประเทศไทยเท่านั้นที่บรมโง่ ในโลกนี้ก็มีใช้อยู่แค่ 2 ระบบ คือระบบสัมปทานที่ไทยใช้อยู่ กับระบบแบ่งปันผลผลิตที่กลุ่มต้านเอาเป็นเอาตายจะต้องเอามาใช้นั่นแหละ ทั้ง 2 ระบบก็มีทั้งผลดีผลเสียที่แม้แต่ นายธีรชัย เองก็ยอมรับในเวทีรับฟัง แต่จะเอาอย่างที่ตัวเองต้องการเป็นหลัก ถึงเป็นปัญหา

ที่จริงประเทศที่ใช้สัมปทานแบบไทย มีตั้งแต่ สหรัฐ แคนาดา อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อิตาลี อังกฤษ บรูไน ปากีสถาน เนปาล ติมอร์ เกาหลีใต้ เป็นต้น ประเทศเหล่านี้โง่ ขายชาติ ถูกครอบงำ เป็นทาสเอกชน งั้นหรือ?? การสาดโคลนใส่ใครมันง่ายดีนะในประเทศนี้

ประเทศที่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ก็เช่น แอลจีเรีย ซูดาน ตุรกี โปแลนด์ รัสเซีย อิรัก อิหร่าน อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนามเมียนมาร์ เป็นต้น แล้วหนึ่งในนี้ ก็อย่างที่ บรรยง พงษ์พานิช บอก คือ อินโดนีเซียกำลังทบทวน เพราะใช้ระบบนี้ จากส่งออกน้ำมันกลายเป็นนำเข้าน้ำมันเฉยเลย มันก็มีจุดอ่อนนั่นแหละ ไม่ได้สมบูรณ์แบบที่เย้ว ๆ กัน

ก็เป็นธรรมดาโลก ไม่มีระบบไหนสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ตรงไหนเป็นจุดอ่อนก็แก้ไขกันไป ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตา ’ล้ม“ ท่าเดียวอย่างที่บางฝ่ายทำกันแบบมีวาระซ่อนเร้นหรือเปล่าไม่ทราบ?? แล้วรู้ได้ไงว่า ทำอีกระบบ แบ่งปันผลผลิต จะดีกว่าสัมปทานแน่นอน?? ในเมื่อก็มีประเทศที่กำลังทบทวน แล้วพูดก็พูดเหอะ ระบบสัมปทานที่ไทยใช้อยู่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีการแก้ไขอะไรเลย

รองปลัดฯพลังงาน คุรุจิต นาครทรรพ ที่ขึ้นดีเบตวันนั้น ก็ตอกหน้าแงพวกชอบมโนเอง ด้วยข้อเท็จจริงว่า มีการแก้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมมาแล้ว 6 ครั้ง จนลงตัวที่ระบบสัมปทาน ไทยแลนด์ 3 นั่นคือ มีการจ่ายค่าภาคหลวงแบบขั้นบันได 5-15% ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจ่ายเมื่อมีผลกำไรจากธุรกิจ 50% ที่เพิ่มขึ้นคือ ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษรายปีแบบขั้นบันได 0-75% ขึ้นกับสัดส่วนรายได้กับความพยายามในการสำรวจและลงทุนเพิ่มเติมของผู้รับสัมปทาน จาก ไทยแลนด์ 1 ที่รัฐได้ผลประโยชน์คงที่ เป็น ไทยแลนด์ 2 รัฐได้ผลประโยชน์มากขึ้นโดยไม่คำนึงถึงศักยภาพทางธรณีวิทยาและต้นทุนผู้ผลิต จนไม่เป็นที่จูงใจ ตั้งแต่ปี 2528 ไม่มีผู้ขอรับสัมปทานเพิ่มเติม ทำให้การสำรวจปิโตรเลียมหยุดชะงัก ไม่มีการพบแหล่งใหม่ ๆ อีก จนนำไปสู่รูปแบบไทยแลนด์ 3 ในปัจจุบัน

ธุรกิจปิโตรเลียมเป็นธุรกิจสากล ก็ต้องมีกติกาที่เป็นสากล เป็นธรรม มีมาตรฐานเป็นที่รับได้ ไม่ใช่ออกกติกาตามใจชอบได้เสียเมื่อไหร่ ไม่ได้ดูถูกอาชีพไหน แต่ไม่เหมือนแคะขนมครกขายนะ จะได้อ่อนหวานอ่อนเค็มตามใจคนทำได้กระนั้น ธุรกิจพลังงานของไทยพัฒนามาไกลแล้วจนเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก แต่คนบางกลุ่มกลับจะพา ’ถอยหลังลงคลอง“ แบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เพียงเพราะเชื่อว่ามีแต่กลุ่มตนที่รักชาติ คนอื่นล้วนเป็นคนเลว ไม่รักชาติ

เรื่องพลังงาน มีตัวเลขว่า เงินรายได้จากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ไทยได้รับ เพิ่มขึ้นทุกปี เอาย้อนหลังใกล้ ๆ สัก 3 ปีเป็นตัวอย่าง นั่นคือ ปี 2554 รัฐมีรายได้ 148,475 ล้านบาท ปี 2555 มีรายได้ 163,480 ล้านบาท ปี 2556 มีรายได้ 207,500 ล้านบาท ทำเป็นเล่นไป เอาไปอุ้มชาวนาได้ค่อนประเทศ เอาไปทำรถไฟฟ้าได้ 2-3 สายนะนั่น

ตัวเลขน่าสนใจอีกตัว ปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่สำรวจพบในการเปิดสัมปทานรอบหลัง ๆ คือรอบ 18, 19, 20 รวมกันยังไม่พอกับความต้องการใช้ใน 1 ปี เป็นเหตุผลว่า ทำไมต้องให้มีการสำรวจที่ต่อเนื่องและไม่ควรช้าอีก จะบอกว่านี่เป็นตัวเลขโกหกอีกก็ไม่รู้จะว่าไง เมื่อทุกอย่างอ้างแต่ว่า เชื่อไม่ได้ นอกจากข้อมูลหรือตัวเลขฝ่ายตนเท่านั้นที่ถูก

อีกเรื่อง คำก็ขายชาติ สองคำก็สัญญาทาส สามคำก็ยกประโยชน์ให้นายทุน บริษัทน้ำมันต่างชาติที่เข้ามารับสัมปทานขุดเจาะ เช่น เชฟรอน คนที่ทำงานคือคนไทยหัวดำกว่า 90% นะ ไม่ใช่หัวแดงหัวทองที่ไหน คนเหล่านี้คือลูกหลานไทยทั้งสิ้น เค้าไม่รักชาติกันหรือ? ถ้าคนเหล่านี้ต้องตกงาน ใครจะรับผิดชอบ? จะผลักเป็นภาระใคร?

การสำรวจแหล่งพลังงานเป็นเรื่องต้องเตรียมการและทำต่อเนื่อง ทุกประเทศต้องพึ่งตัวเองให้มากที่สุด เมื่อตัวเลขชัดเจนว่าแก๊สในอ่าวไทยจะใช้ได้อย่างมากไม่เกิน 10 ปี ก็ควรเตรียมการมานานแล้ว ไม่ใช่ทำไมต้องรีบทำตอนนี้อย่างที่รสนาบอก เพราะจริง ๆ ช้าเกินไปแล้วด้วยซ้ำ ผู้ได้สัมปทานกว่าจะรู้ผลว่ามีแก๊ส มีน้ำมันหรือไม่ ก็ต้องใช้เวลาเป็นสิบปี

ถ้ากล่าวหาว่า การพยายามเตรียมการหาพลังงานไว้ใช้ในอนาคต เป็นการขายชาติแล้ว พวกที่พยายามแช่แข็งประเทศ ก็ต้องเป็นพวกถ่วงความเจริญชาติ อย่างนั้นหรือ?? มาถึงจุดนี้ ถือได้ว่ากระทรวงพลังงานทำหน้าที่เต็มที่แล้ว อยู่ที่รัฐบาลกับ คสช. ว่าจะเอาไง?? ถ้าไม่กล้าตัดสินใจรอบนี้ ก็อยากเสนอให้เชิญ ธีระชัย เป็น รมว.พลังงาน และ รสนา เป็น รมช. เพื่อทำทุกอย่างตามที่เรียกร้องขณะนี้

พลังงานไทยจะได้ก้าวไกลกว่านี้?????.

ที่มา : เดลินิวส์-สกู๊ปหน้า1 วันอังคาร 24 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 06:00 น.

 

บทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน :

|

พิมพ์ อีเมล