เสนอรัฐออกมาตรการใหม่ ช่วยประชาชน เหตุค่าไฟพุ่งจากการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค. จำนวนผู้ชม: 3821

20042020 pic Electricity bill

องค์กรภาคประชาชน ชี้ ลดค่าไฟแค่ 3% ไม่ได้ช่วยอะไร เสนอรัฐออกมาตรการใหม่ ช่วยประชาชน เหตุค่าไฟพุ่งจากการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”

จากการที่ รัฐบาลได้ออกนโยบาย ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ โดยให้ประชาชนอยู่บ้านเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 (COVID-19) จึงมีประชาชนบางส่วนที่ทำงานจากที่บ้าน (work from home) ทำให้ค่าไฟฟ้าในเดือนที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้น จนมีประชาชนจำนวนมากออกมาเรียกร้องรัฐให้จัดการปัญหาค่าไฟแพง นั้น

วันนี้ (20 เมษายน 2563) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และ รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร เฟซบุ๊กไลฟ์ ประเด็น ‘ค่าไฟฟ้าแพง’

20042020 pic Electricity bill saree

ภาพจากแฟ้มภาพ

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในช่วง 2 -3 ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีค่าไฟฟ้าแพงเข้ามาเป็นจำนวน โดยบางรายค่าไฟแพงขึ้นจากปกติประมาณ 2-3 เท่า จึงตัดสินใจเฟซบุ๊กไลฟ์ร่วมกันคุณบุญยืน และคุณรสนา เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหา ร่วมกันแนวทางในการลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน เพื่อเสนอเพื่อเสนอแนวทางในการลดค่าไฟฟ้าไปยังรัฐบาล

“รัฐบาลควรยุติการเรียกเก็บเงินค่าบริการจำนวน 38.22 บาท (ค่าบริการ 38.22 บาท คืออะไร? อ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่) รวมถึงการคิดค่าไฟฟ้าแบบอัตราก้าวหน้าในช่วงนี้ เนื่องจากในภาวะที่ทุกคนต้องอยู่ที่บ้าน ทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น และเสนอให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) คิดค่าไฟกับประชาชนในราคาที่เท่ากับที่ซื้อมาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) นอกจากนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็ควรลดราคาให้กับการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคด้วย” สารีกล่าว

20042020 pic Electricity bill rossana

ภาพจากแฟ้มภาพ

รสนา โตสิตระกูล กล่าวว่า แนวทางที่อยากเสนอให้รัฐบาลดำเนินการ คือลดค่าไฟฟ้า 1,000 บาทแรกให้กับประชาชนผู้ใช้ไฟทุกคน ลดค่าไฟฟ้า ร้อยละ 50 กับผู้ใช้ไฟฟ้าในช่วงตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป – 3,000 บาท และลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 30 กับผู้ใช้ไฟฟ้าในช่วง 3,000 บาท ขึ้นไป เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ส่วนใหญ่ต้องอยู่บ้านตามนโยบายรัฐบาลในการจัดการกับเชื้อโควิด-19 ซึ่งประชาชนจำนวนมากที่ไม่มีรายได้เนื่องจากการหยุดงาน และหลายส่วนก็ยังอยู่ระหว่างรอการเยียวยาด้วยมาตรการอื่นๆ ของรัฐ

20042020 pic Electricity bill boonyuen

ภาพจากแฟ้มภาพ

บุญยืน ศิริธรรม กล่าวว่า นโยบายของรัฐที่ลดค่าไฟฟ้าให้กับครัวเรือนร้อยละ 3 เป็นเวลา 3 เดือน ไม่ได้แก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างแท้จริง เพราะค่าไฟที่ลดลงนั้นเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าไฟฟ้าที่แต่ละครัวเรือนต้องจ่าย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากมาตรการของรัฐที่ให้ประชาชนอยู่บ้าน ดังนั้นจึงสนับสนุนข้อเสนอของคุณรสนา นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ทั้งการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตล้วนเป็นกิจการของรัฐที่ไม่ได้แปรรูปกลายเป็นบริษัทมหาชนดังเช่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ดังนั้นหากเกิดการขาดทุนจากการลดค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือประชาชน ก็จะเป็นเพียงการขาดทุนกำไร รัฐจึงควรต้องแสดงความจริงใจในการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประคับประคองให้ผ่านภาวะวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 นี้ไปด้วยกัน

ทั้งนี้ ได้มีข้อเสนอไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรัฐบาล 5 ข้อ ดังนี้

1) ขอให้ลดค่าไฟ โดยแบ่งเป็น 3 กรณีย่อยๆ คือ

- ลดอย่างเป็นธรรมถ้วนหน้า รายละ 1000 บาท

- ลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 50 ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่จ่ายค่าไฟในช่วง 1,001 – 3,000 บาท

- ลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 30 ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่จ่ายค่าไฟตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป

2) ขอให้ค่าบริหารจัดการเป็น 0 (ยกเลิกการคิดค่าบริการ 38.22 บาท) อย่าผลักภาระส่วนนี้ให้ประชาชนแบกรับ

3) ให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาเท่ากับที่รัฐรับซื้อไฟจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต รวมทั้งเจรจาให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตลดค่าไฟที่ขายให้แก่รัฐ เพื่อให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าลดลง

4) มีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนมีสิทธิในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้เอง เช่น ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดยทำให้การขออนุญาตในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ง่ายขึ้น นอกจากนี้ เสนอให้ใช้นโยบาย net metering โดยคิดค่าไฟแบบหักลบกลบหน่วยอัตโนมัติระหว่างไฟฟ้าที่ผลิตได้เองและไฟฟ้าที่ประชาชนใช้จากการไฟฟ้า รวมทั้งเดินหน้านโยบายให้การไฟฟ้าติดตั้งโซล่าร์เซลล์ให้ 1 ล้านครัวเรือน

และ 5) แก้ไขโครงสร้างต่าง ๆ ที่ไม่เป็นธรรม เช่น การผูกขาดราคาแก๊ส การประกันราคาค่าไฟฟ้าที่เอกชนผลิตให้รัฐ (take or pay)

 

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : facebook LIVE | ค่าไฟฟ้าลดได้...ลดราคาอย่างไร?

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มพบ., รสนา โตสิตระกูล, สารีอ๋องสมหวัง, บุญยืนศิริธรรม, COVID-19, โควิด-19, ค่าไฟแพง, ลด3%, อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ

พิมพ์