มพบ. ชี้ ‘เคอรี่’ สามารถเยียวยาผู้เสียหายได้ทันที เหตุ พนง. ละเมิดสิทธิลูกค้า

news pic 300462 kerry

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ ‘เคอรี่’ สามารถเยียวยาผู้เสียหายได้ทันที เพื่อแสดงความรับผิดชอบจากความเสียหายที่เกิดขึ้น 

          จากการที่พนักงานขนส่งของบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด เผยแพร่รูปภาพพัสดุที่หลุดออกมาจากหีบห่อที่เสียหายของลูกค้าพร้อมข้อความลงบนสื่อสาธารณะ จากนั้นมีผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นเเบบสนุกสนานจนทำให้เจ้าของพัสดุได้รับความเสียหาย ต่อมาบริษัทฯ จึงออกแถลงการณ์ขอโทษผ่านเฟซบุ๊กเพจ Kerry Express Thailand และมีการเลิกจ้างพนักงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทันที รวมทั้งจะดำเนินการทางกฎหมายกับบุคคลที่เลิกจ้างให้ถึงที่สุดนั้น

          นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในความเป็นจริงนั้น การดำเนินการขนส่งสินค้า ถึงแม้ว่าพัสดุจะเกิดการฉีกขาด พนักงานก็ไม่มีสิทธิ์ไปแกะพัสดุและนำข้อมูลของลูกค้ามาเผยแพร่ไม่ว่าจะเป็นสื่อใดก็ตาม เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวหรือสิทธิส่วนบุคคล* ขณะเดียวกันหากพนักงานขนส่งพบว่าพัสดุชำรุดบกพร่อง ควรจะแจ้งข้อมูลให้ลูกค้ารับทราบ ไม่ใช่ดำเนินการในลักษณะแกะพัสดุของลูกค้าออกมาประจาน ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณของผู้ให้บริการที่ดี

         นางนฤมล กล่าวอีกว่า ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบสามารถเรียกร้องให้บริษัทรับผิดชอบและเยียวยาความเสียหายได้ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ระบุว่า นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น กล่าวคือ ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากเป็นการกระทำโดยลูกจ้างขององค์กร นอกจากนี้ยังขอเตือนผู้ที่จะเผยแพร่ข้อมูลในลักษณะว่าจะมีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 328 ระบุว่า ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

          “ขอชื่นชมบริษัทฯ ที่ออกมาแถลงการณ์ขอโทษและจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างรวดเร็ว แต่ทั้งนี้บริษัทฯ ควรมีมาตรการเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภคโดยทันที โดยที่ไม่ต้องให้ผู้บริโภคไปแจ้งร้องเรียนด้วยตัวเอง เนื่องจากผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการถูกพนักงานของบริษัทฯ นำข้อมูลส่วนบุคคลมาเผยแพร่ลงบนสื่อสาธารณะและทำให้ได้รับความอับอาย อีกทั้งเพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบและเป็นการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น” นางนฤมลกล่าว

          ทั้งนี้ หากผู้บริโภครายอื่นพบปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ สามารถนำข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ไปแจ้งความกับเจ้าพนักงานได้ที่สถานีตำรวจทุกแห่ง เนื่องจากปัญหาลักษณะนี้เป็นคดีอาญา ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของตำรวจ

สิทธิในความเป็นส่วนตัวหรือสิทธิส่วนบุคคล เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 32 บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว และในมาตรา 26 บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญสามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, kerry, ละเมิดสิทธิ, ขนส่งสินค้า

พิมพ์ อีเมล