โรงเรียนทางเลือก สวรรค์ชั้นแปดของพ่อแม่

ใครก็อยากให้ลูกเรียนเก่งเป็นเลิศ ฉลาดเป็นกรด แต่จะมีประโยชน์อะไรถ้าเด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่คะแนนจิตพิสัยเป็นศูนย์

นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่รบเร้าให้บุญอเนก มณีธรรม ก่อตั้งโรงเรียนต้นกล้า โรงเรียนทางเลือกที่ไม่อยากเห็นเด็กแข่งกันเข้าเส้นชัยแห่งความสำเร็จ มองไปแต่หลักชัยโดยไม่มองดอกไม้ข้างทาง

"โรงเรียนไม่ใช่เพียงสถานที่กวดวิชา หรือ โรงบ่มเพาะยาพิษ ที่มุ่งแต่ให้นักเรียนที่จบการศึกษาออกมา มุ่งหวังแต่จะประสบความสำเร็จในชีวิตในแง่มุมของการสอบเรียนต่อเข้ามหาวิทยาลัย สอบได้คณะยอดฮิตเท่านั้น ถ้าหากนักเรียนเป็นคนเก่งอย่างเดียว แต่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมก็จะเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนทำร้ายสังคม จึงมีผลวิจัยออกมาว่า 80% ของเด็กไทยไม่มีขีดความสามารถอยู่รอดในศตวรรษหน้า" 

คำประกาศเสียงดังของบุญอเนก  แล้วโรงเรียนที่ดี โรงเรียนในอุดมคติต้องมีรูปร่างหน้าตา และบุคลิกอย่างไร

โรงเรียนทางเลือกของเขาออกแบบการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับพัฒนาการและสภาวะของผู้เรียนเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนั้นต้องไม่ย่างก้าวสู่ค่านิยมและความคิดที่ผิดๆ  

ไม่ว่าจะเรื่องการสอนภาษาอังกฤษที่เน้นแต่การเรียนไวยากรณ์ แต่เด็กเรียนไป 10 กว่าปีกลับไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษ หรือการลงโทษนักเรียนของครูยามเมื่อนักเรียนตอบคำถามหรือทำการบ้านไม่ได้ เอาแต่ตำหนิ แต่ไม่มีคำชื่นชม หรือ คำพูดในเชิงบวกเพื่อเติมกำลังใจให้กับนักเรียนเลย

เขาบอกว่า พ่อแม่จึงต้องเข้าถึงหัวใจของการเลี้ยงลูก ต้องเอาเด็กเป็นที่ตั้ง หาใช่ผู้ปกครองเป็นที่ตั้ง และเสริมสร้างความสามารถตามความถนัดของลูกๆ ส่วนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษามีหน้าที่เปลี่ยนเป้าหมายการเรียนเสียใหม่ และจัดการสอนที่สอดรับกัน โดยเน้นการยกระดับความคิด จิตใจ เอาความรู้เป็นเครื่องมือกระตุ้นการใฝ่รู้ และแสวงหา  เพื่อการอยู่ร่วมอย่างสันติ เข้าใจกัน และเคารพซึ่งกันและกัน

นั่นเป็นเหตุให้พ่อแม่ที่มีโลกทัศน์กว้างไกลหลายคนหันเหความสนใจเก่าๆ และเฟ้นหา "โรงเรียนทางเลือก" กันมากขึ้น

ในเมื่อ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ช้อก้องโลกยังพูดว่า "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้" โรงเรียนต้นกล้า หนึ่งในบรรดาโรงเรียนสไตล์การสอนแบบใหม่ 2-3 แห่งในเชียงใหม่ ก็กล้านำเสนอตัวเองเป็นทางเลือกปูทางสำหรับไอน์สไตน์จิ๋ว

หลักสูตรแนวคิดบูรณาการ ผสมผสานทั้งศาสตร์ของตะวันออกและตะวันตก ของโรงเรียนต้นกล้าถูกประยุกต์ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมบ้านเรา ทั้งบุคลิกภาพ ความต้องการ คุณลักษณะและเหมาะกับวัยของเด็กไทย พร้อมกับคอยประเมินความถนัดตามแนวคิด และวางแผนร่วมกับผู้ปกครองเพื่อส่งเสริมความถนัดเป็นรายบุคคล พร้อมดึงกระบวนการเรียนสอนแบบโครงการ (Project Approach) เข้ามาใช้เพื่อฝึกฝนการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์  เรียนภาษาแบบองค์รวม (Whole Language)

"การสอนแบบโครงการเพื่อเรียนรู้ทั้งกระบวนการ  จะทำให้เด็กเข้าใจได้กว้างและลึกกว่าเก่า เช่น วิชาการทำอาหาร เด็กๆ จะเข้าใจประเภท และลักษณะของอาหารที่รับประทานได้ มีกิจกรรมการเรียนรู้เพาะปลูกพืชเบื้องต้น การทำอาหารในรูปแบบต่างๆ การแปรรูปอาหาร การเปลี่ยนสถานะของอาหารจากสิ่งหนึ่งไปสู่สิ่งหนึ่ง เพื่อฝึกฝนการทำงานเป็นทีม และรู้ถึงคุณค่าของสิ่งที่ทำ"

โรงเรียนทางเลือกในแบบฉบับของเขาจะแบ่งเป็นกิจกรรมบ่มเพาะจินตนาการและความสุข ฝึกการเรียนรู้ประจำวันที่มุ่งพัฒนา ความสงบ ความมีสติ ความเบิกบาน ความอ่อนโยน สุนทรียภาพในจิตใจ เพื่อสร้างพื้นฐานที่มั่นคง กับกิจกรรมบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งจินตนาการ  มุ่งส่งเสริมประสบการณ์ในการเรียนรู้ เกิดความคิดสร้างสรรค์ไอเดียใหม่  และจินตนาการที่กว้างไกล

เมื่อทางเลือกแบบเดิมมีปัญหา ทางเลือกใหม่น่าจะดีกว่า และถ้าเด็กอยากมาโรงเรียนมากกว่าอยากไปห้าง นั่นคือดัชนีชี้วัดสำเร็จโรงเรียนทางเลือกของ "โรงเรียนต้นกล้า"

นอกจากเราจะใช้วิธีการแบบสากลเพื่อ "ปั้นเด็กไทย" ให้มีความสามารถในการแข่งขันและอยู่รอดในเวทีโลกแล้ว ยังมีอีกแนวทางหนึ่งที่ฮิตฮอตไม่แพ้กันแถมยังอินเทรนด์อีกด้วย นั่นคือการใช้วิถีพุทธมาประยุกต์เป็นแบบเรียน

เมื่อสังคมเรียกร้องหาคนเก่งและคนดีในคนเดียวกัน พร้อมสู้กับความอยุติธรรมในสังคม หลายคนเชื่อว่าระบบการศึกษาแนวพุทธจะตอบโจทย์นี้ได้ โรงเรียนต้นกล้าจึงต้องปลูกฝังรากแก้วแห่งธรรมะให้น้องหนูตั้งแต่เริ่มวัยเรียน

เช่นเดียวกับ โรงเรียนสยามสามไตร หรืออนุบาลหนูน้อย หนึ่งในโรงเรียนวิถีพุทธทั้งหมดที่บรรจุไตรสิกขา แก่นแท้ของพระพุทธศาสนาเป็นยอดชฎา อาศัยพุทธวิธีการสอนของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เป็นหลักสูตร โดยจะผสมผสานหลักปฏิบัติธรรมกับวิถีการดำรงชีวิตแบบไทย ศึกษาให้รู้จักตนเอง ฝึกควบคุมตน เพื่อนำชีวิตที่ดี

พร้อมกับมีวินัยกำกับตน ฝืนตนและฝึกตนในการศึกษา ฝึกจิตให้เข้มแข็ง ควบคุมตนเองได้ทั้งภายในและภายนอก ขณะเดียวกันก็ต้องคงแก่เล่น คงแก่เรียน ทำงานและเข้าสังคมได้ อย่างมีความสุข

"ลบภาพการนั่งเรียนวิชาพระพุทธศาสนาออกจากความทรงจำเสียก่อน เพราะเด็กจะเรียนรู้วิถีพุทธผ่านการสอดแทรกในชีวิตประจำวัน ไม่ตึงเครียด พวกเขาจะซึมซับอย่างเป็นธรรมชาติ ธรรมะก็คือธรรมชาติ เพียงแต่ต้องย่อยและสังเคราะห์ให้เด็กเข้าใจและยอมรับได้ง่าย"

อนินทิตา โปษะกฤษณะ เจ้าของโรงเรียนสยามสามไตร บอกว่าพ่อแม่บางคนโอบอุ้มลูกไว้ในสำลี ทำให้เด็กแก้ปัญหาไม่เป็น แต่เมื่อให้พวกเขาเผชิญด้วยอาวุธทางพุทธ เด็กจะเรียนรู้ถูกผิด รู้จักตัวเอง สิ่งรอบตัว และมีจริยธรรม วิเคราะห์ได้ด้วยตนเอง พวกเขาก็จะดำรงชีวิตได้อย่างเป็นสุข

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 30/4/52

พิมพ์ อีเมล