สมอ.ร่างเกณฑ์สินค้าไฟฟ้า ดักสารต้องห้ามก่อนส่งอียู

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 4135

สมอ.จับมือเอ็มเทคร่างมาตรฐานจำกัดสารต้องห้าม ในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ กลั่นกรองผลิตภัณฑ์ก่อนส่งออกอียู เล็งประกาศใช้ปี 53 ด้านกรรมาธิการยุโรปแนะไทยรอดูร่าง RoHS ฉบับทบทวนก่อนการบังคับใช้

นายหทัย อู่ไทย รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวถึงการจัดทำระเบียบ RoHS ของประเทศไทย (ThaiRoHS)ว่า สมอ.จะจัดทำแผนหลักว่าด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่จะบังคับตามระเบียบดังกล่าว โดยในเดือนเม.ย.จะประชุมระดมความคิดเห็น จากกลุ่มผู้ประกอบการ ภาคนโยบายและนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อสรุปและออกเป็นคู่มือสำหรับผู้ประกอบการเตรียมตัวรับระเบียบ ใหม่ ก่อนที่จะประกาศเป็นระเบียบบังคับใช้เฟสแรกในอีก 2 ปีถัดไป

RoHS หรือระเบียบการว่าด้วยการจำกัดสารที่เป็นอันตรายบางประเภทในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ สหภาพยุโรปบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ก.ค.2549 ระบุห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ปนเปื้อนสารอันตราย 6 ชนิดคือ ตะกั่ว, ปรอท, แคดเมียม, เฮกซาวาเลนต์, โครเมียม พอลิโบรมิเนต ไบฟีนิลส์ (PBB) และพอลิโบรมิเนต ไดฟีนิลส์ อีเทอร์ (PBDE) ขณะที่ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปอียูกว่าปีละ 1.5 ล้านล้านบาท จึงจำเป็นต้องเดินตามกฎข้อบังคับเพื่อเพิ่มหรือคงปริมาณการส่งออกสินค้า

"เราจำเป็นต้องกำหนดกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่าย บังคับใช้ RoHS ให้ชัดเจน เพราะผลิตภัณฑ์บางชนิดอย่างอุปกรณ์การแพทย์และเครื่องควบคุม รวมถึงผลิตภัณฑ์กลุ่มส่องสว่าง สำหรับระเบียบของไทยแล้วไม่รวมอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์" นายหทัย กล่าว

นายคริส สมิธ หัวหน้าทีม U.K. RoHS Enforcement และประธานเครือข่ายเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย RoHS ของสหภาพยุโรป กล่าวว่า การบังคับใช้ RoHS ของสหราชอาณาจักร จะพิจารณาจากเอกสารการรับรอง ระบบข้อมูลย้อนหลังและประวัติบริษัท หากพบผลิตภัณฑ์ไม่ผ่าน ก็จะนำเสนอเรื่องสู่สาธารณะ เพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้เรียนรู้ และไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก

สหราชอาณาจักรยังมีข้อยกเว้นเฉพาะกรณีตรวจพบสาร อันตรายในผลิตภัณฑ์ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการพิสูจน์แก้ข้อกล่าวหา อย่างไรก็ตาม กลไกลักษณะนี้มีใช้ในบางประเทศสมาชิกเท่านั้น เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมาย ฉะนั้น ผู้ส่งออกจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลของประเทศคู่ค้าให้ชัดเจน

น.ส.มาดาลินา คาปรูซู เจ้าหน้าที่นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม คณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า แม้ว่า RoHS ได้รับการตอบรับที่ดีจากประเทศต่างๆ แต่ยังต้องทบทวนกฎหมายโดยคณะกรรมาธิการสภาพยุโรป ที่อาจจะเพิ่มชนิดสารต้องห้ามรวมถึงปรับปรุงรายการข้อยกเว้น ด้วยเหตุนี้ การประกาศใช้ ThaiRoHS ควรจะรอผลการทบทวนดังกล่าวก่อน

กรุงเทพธุรกิจ - 11 / 3 / 52

พิมพ์