“เครือข่ายประชาชนฯจี้รัฐแจงยกเลิกเบี้ยคนชรา ชี้รัฐไทยถอยหลังตกคลอง”

590517 actionnet2
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ประกอบด้วยเครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายสลัม4ภาค เครือข่ายสวัสดิการชุมชน และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้ร่วมกันแถลงข่าวคัดค้านนโยบายรัฐ ที่ต้องการยกเลิกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า ถอยหลังกลับไปใช้แบบเดิม คือคัดเลือกจ่ายให้เฉพาะคนจน ตามที่ รมช.กระทรวงการคลัง ได้ออกมาให้ข่าวว่ารัฐมีงบประมาณจำกัด ประกอบกับสังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว หากรัฐจ่ายเบี้ยยังชีพสำหรับทุกคนจะทำให้ใช้งบประมาณสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องตัดลดงบประมาณส่วนนี้ เพื่อประหยัดงบประมาณปีละหมื่นล้านบาท

นางชุลีพร ด้วงฉิม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการกทม. ให้ความเห็นว่า “รัฐบาลนี้ไม่จริงใจในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สิ่งที่ปรากฎคือไล่บี้กับงบประมาณสวัสดิการถ้วนหน้า ปรับลดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บังคับให้ร่วมจ่ายในกรณีหลักประกันสุขภาพ จำกัดอัตราค่าแรงกรรมกร จำกัดเพดานงบด้านสวัสดิการประชาชน แต่กลับเพิ่มสวัสดิการข้าราชการ หรือแม้แต่การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ละเลยการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน ในขณะที่สังคมไทยยังมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ช่องว่างของโอกาสทางสังคมที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน แต่รัฐบาลชุดนี้กลับมองว่าการจัดสวัสดิการถ้วนหน้าเป็นการทำลายระบบเสรีนิยมที่ประชาชนต้องขวนขวายทำงานหารายได้เอง ได้มากก็มีสิทธิใช้มาก หากได้น้อยก็ก้มหน้ารับกรรมไป”

ด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า “ รมช.กระทรวงการคลัง ให้ตัวเลขงบประมาณด้านบำนาญชราภาพไม่ครอบคลุมและไม่แยกแยะระหว่าง งบบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กับงบสวัสดิการบำนาญพื้นฐานหรือเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุทุกคน เวลาพูดมักให้ภาพรวมว่าเป็นภาระทางการคลัง แต่เมื่อจะลดภาระกลับยกให้ประชาชนรับภาระนั้นเอง ไม่กล้าแตะการใช้งบของข้าราชการและพวกพ้อง เช่น งบปี 59 ที่บอกว่าใช้จ่ายเรื่องบำนาญ 2 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้กว่า 1 แสน 4 หมื่นล้านบาท เป็นงบจ่ายบำเหน็จบำนาญข้าราชการเกษียณราวๆ 6 แสนคน ขณะที่อีก 6 หมื่นล้านบาทจ่ายเป็นเบี้ยยังชีพให้ผู้อายุเกิน 60 ปีจำนวนกว่า 9 ล้านคน ในขณะที่เบี้ยยังชีพทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิต มีหลักประกันรายได้พื้นฐานเมื่อยามชราภาพ ทางที่ดีกระทรวงการคลังควรมีตัวเลขคุณภาพชีวิตมาแสดงให้เห็นประกอบกับจำนวนงบประมาณที่ใช้จ่ายด้วยจะดีมาก และกระทรวงการคลังควรทำหน้าที่จัดเก็บรายได้ โดยเฉพาะการเก็บภาษีให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างเป็นธรรม แล้วนำกลับมากระจายให้ประชาชนในรูปสวัสดิการถ้วนหน้าซึ่งจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำและประชาชนได้ประโยชน์แบบถ้วนหน้า”

นางหนูเกณ อินทจันทร์ เครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า “ประชาชนทุกคนก็ทำงานสร้างรายได้และความมั่งคั่งให้ประเทศชาติมาโดยตลอดโดยเฉพาะชนชั้นแรงงานที่ได้ค่าจ้างเพียงขั้นต่ำ ขณะที่ทำให้ธุรกิจ อุตสาหกรรม เติบโตมีกำไร นายทุนร่ำรวยมีสินทรัพย์มากมาย แต่ประชาชนเหล่านี้ทำงานหนักเป็นฐานรากให้เศรษฐกิจมาตลอดชีวิต เมื่อยามชราภาพรัฐก็ต้องมีหลักประกันรายได้รายเดือนเป็นบำนาญให้เฉกเช่นเดียวกับข้าราชการ แทนที่จะยกเลิกรัฐควรปรับเปลี่ยนเบี้ยยังชีพคนชราให้เป็นบำนาญพื้นฐานสำหรับทุกคน ส่วนคนมีรายได้มากก็ถือว่ามีสำรองบำนาญของตนมากขึ้น แต่ประชาชนที่รายได้ต่ำก็ถือว่าเป็นฐานรองรับความปลอดภัยในชีวิตพื้นฐานที่รัฐรับผิดชอบ”

อุบล ร่มโพธิทอง เครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า “ที่กระทรวงการคลังแจ้งว่าได้ดำเนินการสร้างระบบการออมเพื่อบำนาญในรูปกองทุนการออมแห่งชาตินั้น ก็นับว่าเป็นส่วนที่ดีแล้ว และควรพัฒนาให้กองทุนนี้มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และในระยะยาวจำเป็นต้องมีมาตรการให้ประชาชนสามารถออมได้อย่างต่อเนื่อง และเมื่อเกษียณอายุได้รับบำนาญในจำนวนเพียงพอต่อการดำรงชีพด้วย แต่รัฐกลับออกมาบอกว่าจะยกเลิก เป็นการถอยหลังตกคลอง เป็นการสร้างความมืดมิดต่ออนาคตความมั่นคงในชีวิตของผู้สูงวัย”

590517 actionnet1

นายสมชาย กระจ่างแสง กล่าวว่า “เครือข่ายฯขอคัดค้านแนวทางของรัฐที่จะยกเลิกการจ่ายเบี้ยคนชราซึ่งเป็นการจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้า แล้วถอยหลังไปใช้ระบบแยกแยะคนจน ซึ่งในระดับนานาชาติได้สรุปแล้วว่า วิธีการค้นหาคนจนเพื่อช่วยเหลือด้านสวัสดิการ เป็นวิธีการลงทุน ลงแรงที่ประสบกับการคอรัปชั่นอย่างสูง สร้างระบบพรรคพวก ตอกหมุดระบบอุปถัมภ์ และไม่มีหลักประกันว่าคนที่จำเป็นต้องได้รับจะได้รับจริง จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายดังกล่าว ออกมาชี้แจงต่อประชาชนให้มีความชัดเจน และเร่งรัดการจัดหารายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่จะตัดลดจากสวัสดิการของประชาชน”

ทั้งนี้ เครือข่ายฯเสนอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายเบี้ยคนชรา ตามที่รมช.กระทรวงการคลังได้ออกมาให้เหตุผลว่าสังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยรัฐต้องลดงบเพียงเพราะกลัวว่าจะเป็นภาระทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นตรรกะที่กลับหัวกลับหาง แทนที่จะสร้างฐานเศรษฐกิจเพื่อรองรับสังคมสูงวัย เพื่อรองรับสังคมไทยที่ยังมีปัญหาช่องว่างด้านรายได้ ความไม่เท่าเทียมด้านโอกาส แต่กลับใช้วิธีปรับลดงบ ลดทอนสิทธิประชาชน ทางเครือข่ายฯจึงเรียกร้องให้กระทรวงการคลังได้ทบทวนนโยบายเบี้ยคนชรา จัดให้เป็นระบบสวัสดิการ ปรับระบบการบริหาร สร้างความโปร่งใส สร้างให้เกิดระบบบำนาญแห่งชาติที่ครอบคลุมทุกคนอย่างเท่าเทียม และมีศักดิ์ศรี โดยกระทรวงการคลังควรทำหน้าที่จัดเก็บภาษี จากความมั่งคั่งของภาคธุรกิจ การค้า อุตสาหกรรม ตลาดทุน ให้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย มากกว่าที่มาหาทางตัดลดงบประมาณจำเป็น ที่เป็นฐานสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน

พิมพ์ อีเมล