เครือข่ายผู้เสียหายฯ รุกประเด็นต่อห้ามรพ.เอกชนเก็บค่ารักษาฉุกเฉิน

580518 health2
เครือข่ายผู้เสียหาย ทางการแพทย์จี้บิ๊กตู่ห้าม รพ. เอกชนเก็บค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉิน ระบุภายในเวลา 72 ชม. ห้ามเรียกเก็บเงิน-ค่ามัดจำ พร้อมผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข


เมื่อวันที่ 18 พ.ค.58 นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอบคุณที่ได้มีการตั้งคณะกรรมการควบคุมการคิดค่ารักษาของโรงพยาบาล เอกชน พร้อมทั้งมีมาตรการแก้ ปัญหาในระยะสั้น กลางและระยะยาวนั้น เครือข่ายผู้เสียหายฯ ขอเสนอเพิ่มเติมมาตรการในระยะสั้น คือ ห้ามโรงพยาบาลเอกชน เรียกเก็บค่ามัดจำ หรือให้คนไข้หรือญาติเซ็นรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลในระยะ 72 ชั่วโมง หลังจากนั้นให้โรงพยาบาลเอกชนส่งตัวคนไข้ไปโรงพยาบาลตามสิทธิ์ โดยห้ามให้คนไข้หรือญาติสำรองจ่ายหรือเซ็นรับสภาพหนี้

ทั้งนี้ ในกรณีที่โรงพยาบาลตามสิทธิ์เตียงเต็ม ให้หน่วยงานต้นสังกัด 3 กองทุน คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลางดำเนินการหาเตียงให้กับคนไข้ หากหาเตียงไม่ได้จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาลเอกชนต่อไป ให้ทั้ง 3 กองทุนรับผิดชอบค่าใช้จ่าย และให้มีบทลงโทษหากมีการไม่ปฏิบัติตามข้อ 1 และ 2 พร้อมทั้งประกาศรูปแบบใบ ยินยอมให้รักษาของทุกโรงพยาบาลให้เป็นรูปแบบเดียวกันทั้งประเทศ ให้แยกใบยินยอมให้รักษา กับใบรับผิดชอบค่าใช้จ่ายออกจากกัน

นางปรียนันท์กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการระยะกลางขอเสนอดังนี้ 1.ให้ใช้มาตรา 44 ยุบบอร์ดแพทยสภาที่มาจากการเลือกตั้งชุดปัจจุบัน แล้วเลือกคนกลางที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้าไปเป็นกรรมการ โดยคงคณะกรรมการโดยตำแหน่งเอาไว้ 2.ผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... และมาตร การระยะยาว ขอให้เร่งยกระดับมาตรฐานโรงพยาบาลรัฐบาล ให้มีเตียงและอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเพียงพอ เพิ่มความมั่นคงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลรัฐบาล ทั้งค่าตอบแทนและการให้ทุนเรียนต่อเฉพาะทางอย่างเพียงพอ เพื่อรักษาบุคลากรเอาไว้ในระบบ และให้แก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพเวช กรรม พ.ศ.2525 ให้คนนอกเข้า ไปเป็นกรรมการแพทยสภาในสัดส่วน 50:50 เพื่อความเป็น ธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นธรรมต่อประชาชน.

ข้อเสนอของทางเครือข่ายผู้เสียหายจากบริการทางการแพทย์

มาตรการระยะสั้น ภายใน 1 เดือน กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน
1. ภายใน 72 ชั่วโมง ห้ามรพ.เอกชนเรียกเก็บค่ามัดจำ หรือให้คนไข้หรือญาติเซ็นรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล
2. เมื่อพ้น 72 ชั่วโมง ให้รพ.เอกชนส่งตัวคนไข้ไปรพ.ตามสิทธิ โดยห้ามให้คนไข้หรือญาติสำรองจ่าย หรือเซ็นรับสภาพหนี้
3. ในกรณีที่รพ.ตามสิทธิเตียงเต็ม ให้หน่วยงานต้นสังกัด 3 กองทุนคือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง ดำเนินการหาเตียงให้กับคนไข้ หากหาเตียงไม่ได้จำเป็นต้องอยู่รพ.เอกชนต่อไป ให้ทั้ง 3 กองทุนรับผิดชอบค่าใช้จ่าย
4. ให้มีบทลงโทษหากมีการไม่ปฏิบัติตามข้อ 1 และ 2
5. ให้ประกาศรูปแบบใบยินยอมให้รักษา ของทุกโรงพยาบาลให้เป็นรูปแบบเดียวกันทั้งประเทศ ให้แยกใบยินยอมให้รักษา กับใบรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ออกจากกัน

มาตรการระยะกลาง
1. ให้ใช้ม.44 ยุบบอร์ดแพทยสภาที่มาจากการเลือกตั้งชุดปัจจุบัน แล้วเลือกคนกลางที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้าไปเป็นกรรมการ โดยคงคณะกรรมการโดยตำแหน่งเอาไว้
2. ให้ปกป้องสวัสดิภาพของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ด้วยการผลักดันร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ให้มีผลบังคับใช้ในเร็ววัน เพื่อลดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างหมอกับคนไข้

มาตรการระยะยาว
1. ให้เร่งยกระดับมาตรฐานรพ.รัฐบาล ให้มีเตียงและอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเพียงพอ
2. เพิ่มความมั่นคงให้กับบุคลากรทางการแพทย์รพ.รัฐบาล ทั้งค่าตอบแทนและการให้ทุนเรียนต่อเฉพาะทางอย่างเพียงพอ เพื่อรักษาบุคลากรเอาไว้ในระบบ
3. ให้แก้ไขพ.รบ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ให้คนนอกเข้าไปเป็นกรรมการแพทยสภาในสัดส่วน 50:50 เพื่อความเป็นธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้และเป็นธรรมต่อประชาชน

ขอบคุณข้อมูลจาก นสพ.ไทยโพสต์ 18 พ.ค. 58
และแถลงการณ์ของเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์

พิมพ์ อีเมล