ศูนย์วิจัยปัญหาสุราฟันธง ธุรกิจเหล้าแหกกฎหมาย

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 4184

เมื่อ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมเอเชีย นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า แถลงข่าว "ผลติดตามเฝ้าระวังการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวาระครบรอบ 1 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551" ว่า ผลสำรวจการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางป้ายกลางแจ้ง บนถนนสายหลัก อาทิ รามคำแหง ลาดพร้าว เกษตร-นวมินทร์ พหลโยธิน วันที่ 12-16 กุมภาพันธ์ 2552 พบ สถานบันเทิงและร้านค้า ร้านอาหาร รวม 236 ร้าน พบป้ายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งสิ้น 509 กรณี มีการกระทำผิด 378 กรณี หรือร้อยละ 74.26 โดยพบการนำตราสินค้าบนขวดมาเผยแพร่ถึง 21 ยี่ห้อ บริษัทที่ฝ่าฝืนกฎหมายมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1.บริษัท สิงห์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด/บุญรอดฯ เห็นตราเบียร์สิงห์/ลีโอ ถึง 95 กรณี หรือร้อยละ 25.13 2.บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด เห็นตราเบนมอร์ จอห์นนี่ วอล์คเกอร์ฯ 83 กรณี หรือร้อยละ 21.95 3.บริษัท เพอร์นอต ริคาร์ด (ประเทศไทย) เห็นตราฮันเดรดไพเพอร์ส ชีวาส 50 กรณี หรือร้อยละ 13.22 รูปแบบสื่อโฆษณาที่ฝ่าฝืนกฎหมายมากที่สุด คือ ป้ายตู้ไฟมาก ร้อยละ 52.91

รศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ ผู้ประสานงานเครือข่ายนักวิชาการเฝ้าระวังเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า เพื่อให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ขอเสนอดังนี้ 1.เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตรวจจับดำเนินคดีโดยเคร่งครัด และรวดเร็ว การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะเห็นภาพขวดผลิตภัณฑ์ ทั้งแบบเต็มหรือบางส่วนของขวด หรือบรรจุภัณฑ์ ต้องหมดไปจากทุกสื่อโฆษณา 2.คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ต้องกำหนดกฎกระทรวงตามมาตรา 32 ให้มีมาตรการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่ต่ำไปกว่ามาตรการเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางโทรทัศน์และวิทยุใน ช่วงเวลาตีห้าถึงสี่ทุ่ม และ 3.ขอเรียกร้องให้เร่งตั้งคณะกรรมการนโยบายแอลกอฮอล์แห่งชาติ

ร.ท. หญิงจุฑาภรณ์ แก้วมุงคุณ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า ศวส. ได้ติดตามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ตลอดปี 2551 พบว่าการโฆษณาตราผลิตภัณฑ์และตราบริษัท ในช่วงตีห้าถึงสี่ทุ่ม มีจำนวนมากกว่าปี 2550 ซึ่งมีเพียง 4.5 และ 8.3 ครั้งต่อสัปดาห์เพิ่มเป็น 42 และ 122 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็นการโฆษณาโชว์ตราผลิตภัณฑ์ เพิ่มขึ้นเป็น 10 และการโฆษณาตราบริษัท เพิ่มขึ้นเป็น 15 เท่า ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์ตลอดทั้งปี พบว่า มีทั้งสิ้น 827 โฆษณา หรือเดือนละ 69 ชิ้น ขณะที่ก่อนมีกฎหมายบังคับใช้ มีการโฆษณาเฉลี่ยที่ 37.5 ชิ้นต่อเดือน

นพ. สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้เชิญบริษัท ผู้ผลิตและนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 9 บริษัท มาชี้แจงความผิด ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 32 เรื่องการห้ามโฆษณา เป็นครั้งสุดท้าย แต่มีเพียง 3 บริษัท ที่เข้าร่วมรับฟังการชี้แจง คือ บริษัท สิงห์ คอร์ปอเรชั่น บริษัท ไทยเบเวอเรจ จำกัด มหาชน และบริษัท ซานมิเกล ซึ่งบริษัทที่เข้าร่วมการชี้แจงรับฟังด้วยความเข้าใจ มีเพียงบริษัท สิงห์ฯ ที่ยืนยันว่า บริษัทสามารถโฆษณาได้ และไม่ได้ทำผิดกฎหมาย โดยอ้างว่ายังไม่มีการออกกฎกระทรวงมารองรับ ส่วนอีก 6 บริษัท กระทรวงจะชี้แจงด้วยจดหมาย ทั้งนี้ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นี้ จะหารือกับนายพิเชฐ พัฒนโชติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่องมาตรการห้ามจำหน่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ การกำหนดวันดีเดย์ จับปรับ การละเมิด พ.ร.บ.ฉบับนี้ทั่วประเทศ
 
ข้อมูลจาก นสพ.มติชน 24-02-52

พิมพ์