สภาเกษตรฯยื่นจดหมายนายกฯ ชะลอ กม.GMO

GMO 3
สภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ทำหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ชะลอกฎหมาย จีเอ็มโอ ห่วง จะก่อให้เกิดข้อจำกัดตลาดของไทยให้แคบลง วอนคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนร่วมพิจารณาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ทำหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ชะลอการตราพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือที่รู้จักกันในนามร่างพ.ร.บ.จีเอ็มโอ ห่วงการส่งเสริมจีเอ็มโอจะก่อให้เกิดข้อจำกัดตลาดของไทยให้แคบลง คู่ค้าบางประเทศใช้เป็นเหตุผลในการกีดกันทางการค้าไม่รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรของไทย ความเสี่ยงอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์หรือสัตว์ การปนเปื้อนเข้าสู่ระบบนิเวศ ซึ่งจะกระทบต่ออาหารพืชผลทางการเกษตร จะสร้างความเสียหายในความหลากหลายทางชีวภาพที่ไม่สามารถประเมินค่าได้และยังต้องแข่งกับผู้ผลิตที่มีเทคโนโลยีสูง ผลกระทบจะตกอยู่ที่เกษตรกรและทุกคนในชาติ เสนอให้มีคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนร่วมพิจารณาปรับปรุงร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวก่อน

เนื้อความในจดหมายระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ผ่านความเห็นชอบ “ร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ….”ที่เสนอโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้ง โดยให้รับความเห็นจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไปนั้น สภาเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรจัดตั้งตามพ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 เพื่อทำหน้าที่ให้ข้อมูล ข้อคิดเห็น ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคณะรัฐมนตรีในการแก้ปัญหาและพัฒนาภาคเกษตรกรรม ตระหนักดีถึงเจตนาของรัฐบาลที่ต้องการให้มีกฎหมายเพื่อควบคุมดูแลการใช้สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ทั้งที่มีอยู่ในประเทศและที่นำเข้าจากต่างประเทศ ให้เป็นไปโดยเหมาะสมไม่เกิดผลเสียหาย มีความปลอดภัยทั้งต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ มีมาตรฐานสอดคล้องกับการดำเนินงานในระดับสากล

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลและรายงานการศึกษาที่มีความน่าเชื่อถือจำนวนไม่น้อยได้บ่งชี้ตรงกันว่า หากมีการปลดปล่อยสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมสู่สิ่งแวดล้อมจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ ฐานพันธุกรรม ความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างยากที่จะฟื้นฟูกลับสู่สภาพเดิม รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ที่บริโภคผลิตผลและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสิ่งมีชีวิตตัดแปลงพันธุกรรม นอกจากนี้ ยังจะส่งผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นมูลค่ามหาศาลหลายแสนล้านบาทต่อปี ด้วยปัจจุบันจุดแข็งการส่งออกสินค้าการเกษตรของไทยไปยังตลาดต่างประเทศที่สำคัญคือประเด็นความเชื่อมั่นของประเทศผู้นำเข้าที่เชื่อมั่นว่าสินค้าเกษตรของไทยเป็นสินค้าปลอดภัย ไม่ได้ผลิตจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม และความเสียหายดังกล่าวนี้จะส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ถึงเกษตรกรซึ่งเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย มีความอ่อนด้อยในทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งอาจมีความรุนแรงถึงขั้นวิกฤตทางเศรษฐกิจได้

ในหนังสือที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรี ยังระบุด้วยว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติและองค์กรภาคีเครือข่าย มีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าวซึ่งหากเกิดขึ้นแล้วจะเป็นวิกฤตศรัทธาและวิกฤตเศรษฐกิจสังคม ที่สร้างความเดือดร้อนไม่เฉพาะเกษตรกร แต่จะกระทบถึงทุกคนในชาติ จึงใคร่ขอให้รัฐบาลได้ชะลอการตราพ.ร.บ.ดังกล่าวไว้ก่อนและจัดให้มีคณะกรรมการที่ประกอบขึ้นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเกษตรกร ผู้บริโภค ภาคประชาสังคม ซึ่งช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้รับโอกาสเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเท่าที่ควร เพื่อร่วมพิจารณาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ซึ่งยังมีประเด็นที่เป็นจุดอ่อนช่องโหว่ในทางกฎหมายหลายประการ ให้มีเนื้อหาที่ครอบคลุมสมบูรณ์เหมาะสมเป็นผลดี รวมทั้งเห็นควรให้มีการเร่งเตรียมความพร้อมประการต่างๆให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเสริมสร้างการเรียนรู้ของเกษตรกรและประชาชนโดยทั่วไป การพัฒนาให้มีบุคลากรผู้มีความรอบรู้ทั้งในเรื่องสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมและกฎหมาย และการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ภาพประกอบจาก อินเทอร์เน็ต

พิมพ์ อีเมล