ตรวจ ‘น้ำพริกหนุ่ม’ รอบ 2 พบ สารกันบูดเกินมาตรฐานน้อยลง

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค. จำนวนผู้ชม: 7746

news pic 11052020 nampriknum 1

ฉลาดซื้อ และ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ ตรวจซ้ำ ‘สารกันบูดในน้ำพริกหนุ่ม’ รอบ 2 พบ น้ำพริกหนุ่ม 7 ตัวอย่างตรวจไม่พบวัตถุกันเสียทั้งสองชนิด และมีน้ำพริกหนุ่ม 8 ตัวอย่าง ตรวจพบสารกันบูดแต่ไม่เกินมาตรฐาน ส่วนอีก 8 ตัวอย่าง ตรวจพบปริมาณวัตถุกันเสียเกินมาตรฐาน ขณะที่มีผลิตภัณฑ์น้ำพริกหนุ่ม 2 ยี่ห้อที่ตรวจไม่พบสารกันบูดเลยทั้ง 2 รอบ คือ น้ำพริกหนุ่มอุ้ยคำ (ตราขันโตก) และ น้ำพริกหนุ่ม ตรา วรรณภา

        วันนี้ (11 พฤษภาคม 2563) นิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ เผยผลการสุ่มตรวจน้ำพริกหนุ่มครั้งที่ 2 โดยแบ่งกลุ่มสินค้าตัวอย่างเป็นยี่ห้อเดิมที่เคยตรวจเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 221 ผลทดสอบสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่ม) จำนวน 11 ตัวอย่าง และกลุ่มตัวอย่างใหม่จำนวน 12 ตัวอย่าง เก็บตัวอย่างระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ถึงเดือนมีนาคม 2563 โดยนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์น้ำพริกหนุ่มส่งตรวจวิเคราะห์หาปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) และ กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) ซึ่งเป็นวัตถุกันเสียที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง

          ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) ได้อนุญาตให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของวัตถุกันเสียประเภท กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) ไว้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม และวัตถุกันเสียประเภท กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) ไว้ไม่เกิน 1000 มก./กก. ในหมวดอาหารประเภทเครื่องปรุงรส เช่น น้ำพริกพร้อมบริโภค น้ำพริกสำหรับคลุกข้าว น้ำพริกกะปิ

          สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ผลการทดสอบ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่ตรวจไม่พบสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิกหรือกรดซอร์บิกเลย กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ตรวจพบสารกันบูด แต่ไม่เกินมาตรฐาน และ กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ตรวจพบว่ามีปริมาณสารกันบูดเกินมาตรฐานnews pic 11052020 nampriknum 2

          กลุ่มที่ 1 ตรวจไม่พบวัตถุกันเสียทั้งสองชนิดเลย จำนวน 7 ตัวอย่าง ได้แก่ 1) น้ำพริกหนุ่มอุ้ยคำ (ตราขันโตก จากตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ 2) น้ำพริกหนุ่ม วนัสนันท์ สูตรดั้งเดิม จากตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ 3) น้ำพริกหนุ่ม จ่าเหลาหมูทอด จากตลาดโต้รุ่งข้างลานเจ้าแม่ลำพูน 4) น้ำพริกหนุ่มแม่ลัด จาก จ.ลำพูน 5) น้ำพริกหนุ่ม ครัวไส้อั่วแม่บุญนาค จาก จ.ลำพูน 6) น้ำพริกหนุ่มเปมิกา จากร้านเปมิกา ตลาดแม่ทองคำ จ.พะเยา และ 7) น้ำพริกหนุ่ม ตรา วรรณภา สูตรโบราณ จาก บจก.นันท์ธินี จ.เชียงราย

          กลุ่มที่ 2 ตรวจพบสารกันบูดแต่ไม่เกินมาตรฐาน จำนวน 8 ตัวอย่าง ได้แก่ 1) มารศรี น้ำพริกหนุ่ม สูตรดั้งเดิมจากร้านแม่ทองปอน ตลาดแม่ทองคำ จ.พะเยา พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 115.25 มก./กก. 2) นิชา (เจ๊หงษ์ น้ำพริกหนุ่ม) จากร้านเจ๊หงษ์ ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 133.16 มก./กก. 3) แม่อุ่นเรือน จากตลาดสดอัศวิน จ.ลำปาง พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 187.17 มก./กก. 4) นันทวัน น้ำพริกหนุ่มเจียงฮาย สูตรดั้งเดิม จาก บจก.นันท์ธินี จ.เชียงราย พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 282.66 มก./กก. 5) น้ำพริกหนุ่มอำพัน จากร้านข้าวแต๋นของฝาก จ.ลำปาง พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 302.10 มก./กก. 6) น้ำพริกหนุ่ม ร้านดำรงค์ จากร้านดำรงค์ ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 382.19 มก./กก. 7) น้ำพริกหนุ่มอุ้ยแก้ว จากกาดขัวมุง จ.ลำพูน พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 430.18 มก./กก. และ 8) น้ำพริกหนุ่ม ตรา ศุภลักษณ์ (รสเผ็ดมาก) จากร้านแม่ทองปอน ตลาดสดแม่ทองคำ จ.พะเยา พบปริมาณ กรดซอร์บิก เท่ากับ 524.59 มก./กก.

          ส่วนผลิตภัณฑ์น้ำพริกหนุ่มในกลุ่มที่ 3 ตรวจพบปริมาณวัตถุกันเสียเกินมาตรฐาน พบจำนวน 8

ตัวอย่าง ได้แก่ 1) เจ๊หงษ์ จากร้านเจ๊หงษ์ ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 515.13 มก./กก. 2) ร้านแคบหมู รัตติกรณ์ จากตลาดพะเยาอาเขต จ.พะเยา พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 577.71 มก./กก. 3) น้ำพริกหนุ่มอุมา จากตลาดสดแม่ทองคำ จ.พะเยา พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 1152.12 มก./กก. 4) น้ำพริกหนุ่มดวงกมล สูตรดั้งเดิม จากร้านขายของฝาก (สามแยกเด่นชัย) จ.แพร่ พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 1262.21 มก./กก. 5) ประชันฟาร์ม จากร้านแม่สมใจ (สามแยกเด่นชัย) จ.แพร่ พบปริมาณ กรดซอร์บิก เท่ากับ 1346.65 มก./กก. 6) บัวลักษณ์ จากร้านขายของฝาก (สามแยกเด่นชัย) จ.แพร่ พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 3007.29 มก./กก. 7) คุณถนอม จากตลาดสดอัศวิน จ.ลำปาง พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 3370.82 มก./กก. และ 8) น้ำพริกหนุ่ม แม่ประกาย จากร้านยาใจ (สามแยกเด่นชัย) จ.แพร่ พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 4647.98 มก./กก.

          ในส่วนของผลการเปรียบเทียบการตรวจวิเคราะห์น้ำพริกหนุ่มจากการตรวจครั้งที่ 2 และ 3 สรุปได้ ดังนี้

          • มีผลิตภัณฑ์น้ำพริกหนุ่ม 2 ตัวอย่าง ที่ตรวจไม่พบสารกันบูดเลยทั้งสองครั้ง คือ น้ำพริกหนุ่มอุ้ยคำ (ตราขันโตก) และ น้ำพริกหนุ่ม ตรา วรรณภา

          • มีผลิตภัณฑ์น้ำพริกหนุ่ม 2 ตัวอย่าง ที่เคยตรวจพบปริมาณสารกันบูดเกินมาตรฐานในครั้งที่แล้ว แต่ครั้งนี้ไม่เกินมาตรฐาน คือ นิชา (เจ๊หงษ์ น้ำพริกหนุ่ม) และ น้ำพริกหนุ่ม ร้านดำรงค์

          • มีผลิตภัณฑ์น้ำพริกหนุ่ม 2 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบปริมาณสารกันบูดเกินมาตรฐานทั้งสองครั้ง  (แต่ครั้งล่าสุด ตรวจพบปริมาณสารกันบูดน้อยลง แต่ก็ยังคงเกินมาตรฐาน) คือ เจ๊หงษ์ และ น้ำพริกหนุ่มอุมา

          ทั้งนี้ หากลองเปรียบเทียบสัดส่วนผลตรวจปริมาณสารกันบูดที่เกินมาตรฐานทั้งสองครั้ง จะพบว่า ในครั้งที่แล้ว (เดือนมิถุนายน 2562) ผลตรวจน้ำพริกหนุ่มทั้งหมด 17 ตัวอย่าง พบว่า มีปริมาณสารกันบูดเกินมาตรฐาน 7 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 41.17 และในครั้งนี้ จากทั้งหมด 23 ตัวอย่าง พบว่า มีปริมาณสารกันบูดเกินมาตรฐาน 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 34.78 ซึ่งน้อยลงกว่าครั้งก่อน

          ด้าน พวงทอง ว่องไว เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ กล่าวว่า ผลการเฝ้าระวังที่ออกมาครั้งนี้จะพบว่ามีผู้ประกอบการส่วนมากได้มีการปรับคปรุงคุณภาพของสินค้าได้ดีขึ้น ส่วนนี้ต้องขอบคุณในความใส่ใจเพื่อผลิตอาหารที่ปลอดภัยออกมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภค และในบางผลิตภัณฑ์ที่ยังพบอยู่นั้น คงต้องขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการในการพัฒนาสูตรและการผลิตต่อไป ส่วนเครือข่ายผู้บริโภคจะทำหน้าที่เฝ้าระวังสินค้าต่างๆ ต่อไปเพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตให้ความสำคัญและผลิตสินค้าออกมาจำหน่ายให้มีความปลอดภัยต่อการบริโภค

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, นิตยสารฉลาดซื้อ, เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ, น้ำพริกหนุ่ม, สารกันบูด, กรดเบนโซอิก, กรดซอร์บิก, วัตถุกันเสีย

พิมพ์