พบ ‘เบเกอรี่’ ส่วนใหญ่ ไขมันทรานส์ไม่เกินเกณฑ์ WHO หลัง อย. ออกประกาศฯ ห้ามใช้

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค. จำนวนผู้ชม: 7184

news pic 070362 1

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับอย. และสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล แถลงผลการสุ่มตรวจ ‘ตัวอย่างเบเกอรี่’ หลังออกประกาศฯ ห้ามใช้ พบเกือบทุกตัวอย่างมีปริมาณไขมันทรานส์ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานองค์การอนามัยโลก

          วันนี้ (7 มีนาคม 2562) ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าว ‘ผลการสุ่มตรวจไขมันทรานส์ในอาหารกลุ่มเสี่ยง (โดนัททอด พาย พัฟ เพสทรี ครัวซองค์ และบัตเตอร์เค้ก) และแนวทางความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ นักวิชาการ และภาคประชาชน’ พบว่า ปริมาณการใช้ไขมันทรานส์ลดลง หลังบังคับใช้กฎหมายห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบnews pic 070362 2

          นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ มพบ. กล่าวว่า จากผลการทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ในเค้กเนย จำนวน 12 ตัวอย่างจากผู้ผลิตเจ้าดัง และเค้กชิฟฟ่อนที่นิยมซื้อเป็นของฝาก จำนวน 4 ตัวอย่าง รวมเป็น 16 ตัวอย่าง จากความร่วมมือของนิตยสารฉลาดซื้อ โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ และเครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า ทุกตัวอย่างมีปริมาณไขมันทรานส์ในปริมาณน้อยเฉลี่ยต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม) คือ 0.2 กรัมต่อหน่วยบริโภค ซึ่งถือว่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ (ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค)

          นอกจากนี้ยังได้ทดสอบโดนัท รสช็อกโกแลตซ้ำอีกครั้ง โดยได้สุ่มซื้อโดนัท รสช็อกโกแลตยี่ห้อเดิมที่เคยเก็บตัวอย่างไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จากร้านขายโดนัทและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 13 ยี่ห้อ ส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐานเพื่อตรวจวิเคราะห์หาปริมาณไขมันทรานส์ รวมถึงสารกันบูดประเภทกรดซอร์บิก (Sorbic Acid) และกรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) และเมื่อเปรียบเทียบผลทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงของผลิตภัณฑ์ขนมอบ อาทิ เค้กกาแฟ โดนัท และมัฟฟิน ซึ่งเท่ากับ 55 กรัม (ตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 182 พ.ศ. 2541)news pic 070362 5

          พบว่า ทุกตัวอย่างมีปริมาณไขมันทรานส์ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยตัวอย่างที่พบน้อยที่สุด คือ โดนัทรสช็อกโกแลตของบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ พบปริมาณไขมันทรานส์เพียง 0.03 กรัมต่อน้ำหนักโดนัท 55 กรัม ส่วนตัวอย่างที่พบมากที่สุดแต่ไม่เกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือ โดนัท รสช็อกโกแลต ไอซ์เกลซ ของคริสปี้ครีม พบปริมาณไขมันทรานส์ 0.14 กรัมต่อน้ำหนักโดนัท 55 กรัมnews pic 070362 3

          ด้านนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการ อย. กล่าวว่า หลังจากที่ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยกำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย เพื่อคุ้มครองสุขภาพของคนไทย และเป็นหนึ่งในมาตรการการลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2562 นั้น ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสถาบันโภชนาการ ได้ติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ได้แก่ โดนัททอด พาย พัฟ เพสทรี ครัวซองค์ และบัตเตอร์เค้ก

          จากผลการสุ่มตัวอย่างจำนวน 45 ตัวอย่าง พบว่า ปริมาณไขมันทรานส์เฉลี่ยของทุกผลิตภัณฑ์อยู่ในช่วง 0.09 - 0.31 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ซึ่งอยู่ในปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคต่อวัน คือ 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และมีปริมาณลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจผลิตภัณฑ์ก่อนประกาศฯ มีผลบังคับใช้ ซึ่งอยู่ในช่วง 0.42 - 1.21 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ทั้งนี้มีเพียงบางผลิตภัณฑ์มีปริมาณไขมันทรานส์ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่เกินจากปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เนื่องจากมีการใช้วัตถุดิบที่มีไขมันทรานส์ตามธรรมชาติเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูง เช่น เนย นม ชีส เป็นต้น

          ส่วนปริมาณไขมันทรานส์ในเนยเทียม (มาการีน) และเนยขาว (ซอทเทนนิ่ง) ส่วนใหญ่ที่ทำการสำรวจก่อนหน้าที่ประกาศฯ มีผลใช้บังคับ พบว่า มีปริมาณน้อยมาก โดยอยู่ในช่วง 0.01 - 0.37 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันและไขมันมีการปรับกระบวนการผลิตไปใช้วิธีการผลิตอื่นแทนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้ว อย่างไรก็ตาม อย. ได้ดำเนินการตรวจสอบสถานที่ผลิตน้ำมันและไขมัน 3 แห่ง ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่กระจายสินค้าให้แก่ผู้ผลิตอาหารรายย่อยในประเทศ ไม่พบการผลิตน้ำมันและไขมัน แต่เปลี่ยนไปใช้กระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแทนnews pic 070362 4

          ขณะที่ ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แม้ผู้ประกอบการปรับสูตรจนมีปริมาณไขมันทรานส์ลดลง และส่วนใหญ่ก็เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด แต่ผู้บริโภคบางส่วนก็อาจมีคำถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่อาหารและเบเกอรี่ต่างๆ จะไม่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์เลย คำตอบคือเป็นไปได้ยาก เพราะไขมันจากธรรมชาติ เช่น เนย น้ำมันปาล์ม ก็มีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบ แต่พบในปริมาณที่น้อยมาก นอกจากนี้ลักษณะโครงสร้างทางเคมีของไขมันทรานส์จากธรรมชาตินั้นจะแตกต่างจากไขมันทรานส์ที่ได้จากกระบวนการทางเคมีอยู่เล็กน้อย อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าไขมันทรานส์ที่มาจากธรรมชาตินั้นอันตรายหรือไม่

          “ในเนยก็จะมีไขมันทรานส์สูงสุดแค่ร้อยละ 5 หรือในน้ำมันพืชที่ใช้ทำอาหาร เช่น น้ำมันปาล์ม ซึ่งต้องใช้กระบวนการให้ความร้อนสูงก็มีไขมันทรานส์เช่นกัน แต่จะมีไม่เกินร้อยละ 2 ซึ่งไขมันเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่อยู่ในอาหารที่เรากินทุกวัน ดังนั้น หากเรายังทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เนย หรือใช้น้ำมันพืชในการทำอาหารอยู่ เราก็จะยังได้รับปริมาณไขมันทรานส์อยู่ดี” ศ.ดร.วิสิฐกล่าว

          อย่างไรก็ตามความสำเร็จในครั้งนี้นับเป็นตัวอย่างที่ดีในความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ซึ่งเป็นกระบวนการดำเนินงานที่มีการเร่งรัดภาคอุตสาหกรรมให้มีการพัฒนาส่วนประกอบทดแทน การให้ความความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมโดยการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ การพัฒนากระบวนการวิเคราะห์ให้ถูกต้องแม่นยำ การใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลในการประเมินและแก้ไขสถานการณ์ รวมถึงบทบาทของภาคประชาสังคมในเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค อย. มพบ. และสถาบันโภชนาการ จะติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวัง ณ สถานที่ผลิต สถานที่นำเข้า และสถานที่จำหน่ายทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไป

ร่วมติดตาม Facebook LIVE ผลทดสอบ ‘ผลการสุ่มตรวจไขมันทรานส์ในอาหารกลุ่มเสี่ยง (โดนัททอด พาย พัฟ เพสทรี ครัวซองค์ และบัตเตอร์เค้ก) และแนวทางความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ นักวิชาการ และภาคประชาชน’ ได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 

และ

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องผลทดสอบ ได้ที่ บทความฉบับที่ 216 ผลทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ และสารกันบูด ในโดนัทช็อกโกแลต ภาค 2 และบทความฉบับที่ 216 ไขมันทรานส์ในเค้กเนย หลังประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์มีผลบังคับ 

Tags: นิตยสารฉลาดซื้อ, ไขมันทรานส์, อย.

พิมพ์