เส้นทางวิบากการยกเลิกสารเคมีอันตราย 3 ตัว

6E72B904 C3E8 4AD0 894D 91CC45846AB0เส้นทางวิบากการยกเลิกสารเคมีอันตราย 3 ตัว : พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต

          นับตั้งแต่มติของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง กระทรวงสาธารณสุข ที่มี 4 กระทรวงหลัก ประกอบด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการ และมีมติเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการดังนี้

             1 )ให้มีการเพิกถอนทะเบียนและไม่ต่ออายุทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 2 ชนิด ได้แก่ พาราควอต สารเคมีกำจัดวัชพืชซึ่ง 48 ประเทศยกเลิกการใช้แล้วเนื่องจากมีพิษเฉียบพลันสูงและเป็นสาเหตุของโรคพาร์กินสัน และคลอร์ไพริฟอส สารเคมีกำจัดแมลงซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของสมองเด็กทารกอย่างถาวรและหลายประเทศทั่วโลกห้ามการใช้ในพืชผักและอาหาร

             2 )ให้มีการจำกัดการใช้ไกลโฟเซต สารเคมีกำจัดวัชพืช ซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นสารก่อมะเร็ง สอดคล้องกับผลการศึกษาของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ในประเทศไทย โดยห้ามใช้ในเขตชุมชน พื้นที่ต้นน้ำ แหล่งน้ำ เป็นต้น

            จากนั้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 คณะกรรมการวัตถุอันตรายกลับมีมติไม่ยกเลิก พาราควอต - คลอร์ไพริฟอส ให้ทำเพียงแค่จำกัดการใช้สารเคมีสองชนิดนี้ โดยให้เวลากรมวิชาการเกษตร 2 เดือน กำหนดมาตรการก่อนประกาศบังคับ

            มติข้างต้นนำไปสู่การชุมนุมขององค์กรภาคประชาสังคม 700 องค์กรให้ยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายทั้งสามตัว โดยนายกรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงโดยมีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ เป็นประธาน

              "สุวพันธุ์" ขอเวลาอีก 60 วัน สรุปปมสารจำกัดศัตรูพืช แจ้งทุกฝ่ายส่งข้อมูลกันยายน 2561 แต่กรรมการชุดนี้ ไม่มีการตัดสินใจที่สำคัญ วนไปเวียนมา ไม่มีการตัดสินใจ แถมบรรจุวาระพิจารณาการประชุมจากกลุ่มหนุนสารเคมีอันตราย จนกรรมการนักวิชาการ 3 คน ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์พรพิมล กองทิพย์ รองศาสตราจารย์พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ประกาศลาออกจากคณะกรรมการชุดดังกล่าว

            ที่สำคัญแรงคัดค้านของนักวิชาการและภาคประชาสังคม 700 องค์กร ได้ทำให้เกิดการสนับสนุนจากคณะกรรมการปฏิรูประบบด้านสาธารณสุข คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรฯ สนับสนุนการยกเลิกสารเคมีในภาคเกษตร ได้แก่ สารพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยอิงผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงหลักฐานเชิงประจักษ์บ่งบอกถึงอันตรายต่อสุขภาพประชาชนและคุณภาพสิ่งแวดล้อม จากงานวิจัยต่างๆ ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติหรือปรากฎในรายงานเชิงวิชาการจากสถาบันวิจัยและหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งเป็นงานที่ได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ชี้ให้เห็นผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบเกือบ 5,000 รายในแต่ละปีจากสารเคมีกลุ่มนี้

               “3 ปียาฆ่าหญ้าคร่า 1,715 รายบัตรทองจ่ายแล้วกว่า 60 ล้านบาทแรงกดดันล่าสุดคงมาจากการทำงานเชิงรุกของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ทำงานศึกษาปัญหาจากผู้ป่วยในพื้นที่ การทำงานวิชาการอย่างเป็นระบบและการรับฟังความคิดเห็น จนมีมติกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดินวันที่ 14 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายพาราควอตภายใน 1 ปี เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อชีวิตและร่างกายของผู้ใช้ และผู้ที่ได้รับสารเคมีโดยไม่ตั้งใจ อันเกิดจากการใช้และการสัมผัสสารเคมีที่ปนเปื้อนทั่วไป ซึ่งนอกจากจะเป็นพิษต่อคนและสัตว์แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 22(1)(2) ประกอบมาตรา 32 มาตรา 33 และมาตรา 34 ... ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน .. 2560 เสนอแนะให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายพาราควอต ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 

           จนทำให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ลงมติ 17 ต่อ 7 วันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมาให้ทบทวนมติการตัดสินใจเรื่องสารเคมีอันตรายอีกครั้งและจะมีการประชุมในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ จะสำเร็จหรือไม่ตามมติของผู้ตรวจการแผ่นดิน คงหนีไม่พ้นการตัดสินใจของกรรมการวัตถุอันตรายที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ หรือจะเป็นวิกฤตการตัดสินใจเรื่องสุขภาพของประเทศยกที่ 2 ต่อจากกระเบื้องใยหินแอสเบสตอสที่ธุรกิจมาก่อนสุขภาพเสมอในประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย

พิมพ์ อีเมล