เภสัชค้านร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับ อย. ให้วิชาชีพอื่นที่ไม่ใช่เภสัชขายยาได้ ไม่ปลอดภัยต่อ ปชช.

20 08 61 1

องค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมค้านร่าง พ.ร.บ.ยา ชี้เป็นฉบับลับลวงพราง อย.และ สธ.แก้ไขตามอำเภอใจไม่ปลอดภัยต่อประชาชน ปล่อยให้วิชาชีพต่างๆ ขายยาได้ นิยามยาสามัญประจำบ้านไม่ชัดเจนสร้างความสับสน ไม่แก้ไขการขายยาออนไลน์ จี้ อย.เร่งแก้ไข ก่อนเกิดประท้วงบานปลายทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 ภก.จิระ วิภาสวงศ์ ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชมรมฯ เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ยา ฉบับที่ อย.ได้มีการนำเสนอมีจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขจำนวนมาก ที่สำคัญร่าง พ.ร.บ.ยานี้ ไม่ได้นำข้อตกลงที่ได้จากการรับฟังก่อนหน้านี้หลายครั้งมาแก้ไข องค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมได้ทำการประท้วงอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ชมรมฯ จึงขอออกแถลงการณ์ ชี้แจงข้อที่ต้องแก้ไขต่อสังคม โดยมีสาระสำคัญ เช่น นิยามยาสามัญประจำบ้านที่ไม่รัดกุม การปล่อยให้วิชาชีพต่างๆ ขายยาได้ การไม่แบ่งประเภทยาตามหลักสากล ให้จดแจ้งยาชีววัตถุ และการโฆษณา เป็นต้น การแก้ไขขาดความรอบคอบด้านการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค ตลอดจนไม่คำนึงถึงหลักการที่มีการยอมรับในระดับสากลที่กำหนดให้มีความสมดุลระหว่างผู้สั่งยาและผู้ใข้ยา ทั้งนี้ชมรมฯ ขอเรียกร้องว่า อย.ต้องไม่ทำเพียงการมาแจ้งความคืบหน้าเท่านั้น แต่ต้องตกลงกันว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไร ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ไม่ใช่แก้ไขตามอำเภอใจ โดยไม่สนใจหลักการ

ภญ.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน องค์กรตัวแทนเภสัชกรที่ปฏิบัติงานวิชาชีพในร้านยาทั่วประเทศ กล่าวว่า การแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ยาในครั้งนี้ ไม่คำนึงถึงหลักการ ดูได้จากหลักการที่เสนอกับสิ่งที่แก้ไขแปลกแยกแตกต่างกัน ไม่คุ้มครองความปลอดภัยให้จดแจ้งการโฆษณาและยาชีววัตถุ ซึ่งการจดแจ้งเครื่องสำอางที่ผ่านมาก็สะท้อนแล้วว่ามีปัญหาด้านสถานที่ผลิตเถื่อนจนกระทบสังคมกว้างขวางตามที่เป็นข่าว

ที่สำคัญคือ ร้านยามีหน้าที่หลักคือขายยาโดยเภสัชกรตามกฎหมาย กลับออกกฎหมายมาให้วิชาชีพต่างๆ ขายยาได้ด้วย เป็นการสวนทางกับการที่มีเภสัชกรจบออกมามากขึ้น ซึ่งควรให้เภสัชกรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยาทำหน้าที่นี้โดยมีใบสั่งยามาที่ร้านยาตามหลักสากล

“อย่างกรณีการขายยาออนไลน์ไม่มีการควบคุมจริงจังก็ไม่สนใจออกกฎหมายมาดูแล ที่ผ่านมาองค์กรวิชาชีพต่างๆ รวมกันเสนออะไรไปก็ไม่สนใจ รอจังหวะแต่เพียงจะออกกฎหมายมา เชื่อว่าจะมีการคัดค้านกว้างขวางให้กฎหมายนี้ตกไปในที่สุด ทั้งนี้ได้ร่วมกับกลุ่มมงคลนามเภสัชกรรม ออกแถลงการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับนี้ โดยจะได้ชวนให้ร้านยาที่เป็นสมาชิกสมาคมเภสัชกรรมชุมชนทั่วประเทศร่วมคัดค้านด้วย” ภญ.ศิริรัตน์ กล่าว

ผศ.ภญ.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพสภาเภสัชกรรม ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายยาและสุขภาพ กล่าวว่า จากที่ได้ทำการวิเคราะห์ ร่าง พ.ร.บ.ยา ที่มีการนำเสนอ โดย อย. พบว่า

1.อย.รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ แต่ไม่ได้นำหลักการตามที่เสนอมาแก้ไขปรับปรุง เลือกบางประเด็นมาแก้ไขปรับปรุง

2.ไม่คุ้มครองความปลอดภัยต่อผู้บริโภคโดยใช้หลักการกฎหมายที่ผิด

3.ไม่สนใจหลักการสมดุลและตรวจสอบในการจ่ายยา

4.ไม่ให้ความสาคัญกับข้อเสนอของวิชาชีพเภสัชกรรมซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรง (ดูบทวิเคราะห์)

“ในฐานะอาจารย์ในสถาบันการศึกษาเภสัชศาสตร์จะนำข้อมูลเสนอศูนย์ประสานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย เพื่อให้คณาจารย์เภสัชศาสตร์และนิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์ในทุกคณะเภสัชศาสตร์ทั่วประเทศไทยมีความเข้าใจถึงปัญหาของการออกกฏหมายนี้ และร่วมกันนำเสนอให้มีการแก้ไขตลอดจนคัดค้านกฎหมายฉบับนี้อย่างแข็งขันต่อไป”

ผศ.ภญ.วรรณา กล่าวว่า ตั้งแต่ อย.ได้มีความพยายามที่ได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับแก้ไขสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีกระแสคัดค้านจากองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งออกแถลงการณ์คัดค้านและยื่นต่อ อย. และจากนั้นได้มีองค์กรต่างๆ แถลงการณ์ตามมาขยายวงอย่างต่อเนื่อง จนอาจคาดได้ว่าจะมีการประท้วงในจังหวัดต่างๆ ดังที่เคยปรากฎผ่านมาในการแก้ไข พ.ร.บ.ยา ครั้งที่ผ่านมา

ข้อมูลเพิ่มเติม

1.แถลงการณ์กลุ่มมงคลนามเภสัชกรรม

2.วิเคราะห์ปัญหา "ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. … ฉบับ อย." - ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

พิมพ์ อีเมล