ไทยแพนพบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักไฮโดรโปนิกส์สูงกว่าผักทั่วไป

เขียนโดย ศูนย์ข่าวผู้บริโภค. จำนวนผู้ชม: 4937

0009
ไทยแพนพบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักไฮโดรโปนิกส์สูงกว่าผักทั่วไป ชี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเฝ้าระวังการตกค้างของไนเตรทอย่างเข้มงวด

วันที่ 22 มกราคม 2561 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)โดยนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงาน ได้แถลงผลการตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ประจำปี 2561 โดยการเฝ้าระวังครั้งนี้มีเป้าหมายในการตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผักที่ปลูกโดยไม่ใช้ดินหรือผักโฮโดรโปนิกส์ ทั้งนี้โดยไทยแพนได้เก็บตัวอย่างผักไฮโดรโปนิกส์จำนวน 30 ตัวอย่างจากตลาดและห้างทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ผลการวิเคราะห์พบว่ามีผักจำนวน 19 ตัวอย่างพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน หรือคิดเป็น 63.3% ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด โดยพบผักที่ไม่มีการตกค้างเลย 8 ตัวอย่าง และพบว่าตกค้างแต่ไม่เกินมาตรฐาน 3 ตัวอย่าง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการตกค้างของผักและผลไม้ทั่วไปซึ่งไทยแพนได้สำรวจและวิเคราะห์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา พบว่ามีการตกค้างสูงกว่า โดยผักทั่วไปพบการตกค้างเกินมาตรฐาน 54.4%

“ความเข้าใจของประชาชนที่คิดว่าผักไฮโดรโปนิกส์เป็นผักที่ปลอดภัยกว่า มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชน้อยหรือไม่ใช้เลย จึงไม่เป็นความจริงแต่ประการใด โดยไทยแพนพบสารพิษตกค้าง 25 ชนิด เช่น สารกำจัดวัชพืช (Herbicide) 1 ชนิด คือ Ametryn สารป้องกันและกำจัดโรคพืช (Fungicide) 6 ชนิด ได้แก่ Azoxystrobin, Chlorothalonil, Difenoconazole, Metalaxyl, Propamocarb และ Pyraclostrobin สารกำจัดแมลงและไร (Insecticide and Acaricide) รวม 18 ชนิด แบ่งเป็นกลุ่ม Carbamate 2 ชนิด ได้แก่ Carbofuran และ Methomyl กลุ่ม Organophosphate 3 ชนิด ได้แก่ Chlorpyrifos, Dimethoate และ Omethoate กลุ่ม Pyrethroid 3 ชนิด ได้แก่ Cypermethrin, Etofenprox และ Lambda Cyhalothrin กลุ่มอื่นๆ 10 ชนิด ได้แก่ Abamectin, Acetamiprid, Chlorantraniliprole, Chlorfenapyr, Chlorfluazuron, Emamectin, Fipronil, Imidacloprid, Lufenuron และ Spinetoram ที่น่าเป็นห่วงคือสารทั้งหมดที่พบนั้นเป็นสารดูดซึมมากถึง 17 ชนิด ทำให้การล้างเพื่อลดจำนวนสารตกค้างลงเป็นไปได้ยาก” นางสาวปรกชลกล่าว

ไทยแพนยังได้ตรวจการตกค้างของไนเตรทในผักไฮโดรโปนิกส์ด้วยเนื่องจากการตกค้างของไนเตรทเกินมาตรฐานจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ทั้งนี้โดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานการตกค้างของ EU เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดระดับการตกค้างสูงสุด โดยพบว่าผักเรดคอรัล เรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค บัตเตอร์เฮด และ ฟิลเลย์ไอซ์เบิร์ก มีไนเตรทตกค้างตั้งแต่ 199-2,500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แต่มีเพียง 1 ตัวอย่างที่เกินค่ามาตรฐาน ส่วนผักคะน้า ผักกาดฮ่องเต้ ผักโขมแดง และผักบุ้งจีนที่ปลูกแบบไร้ดินนั้น พบการตกค้างของไนเตรทระหว่าง 2,976-6,019 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าผักในกลุ่มแรกอย่างเห็นได้ชัด แต่ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับการตกค้างแต่อย่างใด

“ผลการเฝ้าระวังครั้งนี้จะนำเสนอต่อผู้ประกอบการ เพื่อให้มีมาตรการสำหรับดำเนินการกับผู้ผลิตผักไฮโดรโปนิกส์ที่มีสารพิษและไนเตรทตกค้างเกินมาตรฐานต่อไป ส่วนผู้บริโภคสามารถดาวน์โหลดรายชื่อของผักไฮโดรโปนิกส์ทั้งที่ปลอดภัยและไม่ปลอดภัยได้ที่เว็บไซท์หรือเพจของไทยแพน (Thai-PAN)” นางสาวปรกชลกล่าว

นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากกลุ่มเปลี่ยนโลกกล่าวว่า “ผู้บริโภคจำนวนมากยังสับสนเข้าใจว่าผักไฮโดรโปนิกส์กับผักออร์แกนิคหรือเกษตรอินทรีย์นั้นเหมือนกัน และเข้าใจว่าไม่มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่ประการใด การศึกษาครั้งนี้ทำให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้นว่าผักโฮโดรโปนิกส์ไม่ได้ปลอดภัยกว่าผักทั่วไปที่ปลูกโดยใช้ดิน ทั้งๆที่การปลูกแบบนี้ควรจะมีการจัดการให้ปลอดภัยกว่าได้”

“ผลการเฝ้าระวังครั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ควรมีการกำหนดมาตรฐานการตกค้างของไนเตรตในผักไฮโดรโปนิกส์ และประเมินความเสี่ยงจาการได้รับสารนี้จากพืชผัก กรมวิชาการเกษตรควรมีการทำข้อกำหนด และให้ความรู้เพื่อควบคุมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีในผักไฮโดรโปนิกส์ให้อยู่ในระดับปลอดภัย ส่วนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จำเป็นต้องเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในผักไฮโดรโปนิกส์เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการติดตามเฝ้าระวังในผักทั่วไป” นางสาวกิ่งกรกล่าว

0010

0001

data

พิมพ์