เตือนระวังไทยแก้ก.ม.ยาและสิทธิบัตรตามสหรัฐฯ

580901 medizine
เตือนเฝ้าระวังการแก้ไขกฎหมายยาและสิทธิบัตรตามความต้องการของสหรัฐฯ หลังปลดไทยจากประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษด้านทรัพย์สินทางปัญญา หวังปล่อยผีสิทธิบัตรยา

ตามที่ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ประกาศปรับประเทศไทย จากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (Priority Watch List: PWL) เป็นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) ตามสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญหา ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ

580603 kunikarน.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ตั้งข้อสังเกตว่า ในรายงานของสหรัฐฯเหตุผลหลักๆ คือ การปราบปรามปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในท้องตลาดอย่างจริงจัง จนเห็นผลเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม เหตุผลอื่นที่ไม่เกี่ยวระบบทรัพย์สินทางปัญญาโดยตรง เรื่องการขึ้นทะเบียนยา การแก้ไข พ.ร.บ.ยาในอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข เป็นเรื่องที่ต้องจับตา

“ในรายงาน USTR ระบุว่า พอใจเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาโดยตรง เช่น การเสริมสร้างความโปร่งใสโดยมีการเปิดรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นประจำ ซึ่งช่วยคลายความกังวลของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องลงไปได้มาก ประเด็นนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าที่ผ่านมา การแก้ไข พ.ร.บ.ยาที่ยืดเยื้อมานาน 3 ปีเศษนับตั้งแต่รัฐประหาร การตัดเนื้อหาที่เกี่ยวข้องการแจ้งสถานะสิทธิบัตรและโครงสร้างราคายาเมื่อต้องการขึ้นทะเบียนยา ล้วนเกี่ยวข้องกับแรงกดดันจากสหรัฐใช่หรือไม่”

ทางด้านนายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์เพื่อการเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ เน้นย้ำตลอดเวลาว่าต้องการการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดเกินกว่ามาตรฐานสากล และใช้มาตรการ Special 301 เป็นเครื่องมือข่มขู่และกดดันประเทศคู่ค้า ทั้งๆ ที่เป็นเครื่องมือที่ออกแบบและใช้บังคับเอาแต่ฝ่ายเดียว (Unilateral Measure) ตามอำเภอใจ โดยไม่มีความโปร่งใสและหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และไม่ได้นำมุมมองในทางสังคมและสุขภาพมาพิจารณาเลย หากประเทศคู่เจรจาไม่มีความเท่าทันมากพอก็จะทำตามแรงกดดันจากสหรัฐ ทั้งที่เกินกว่าข้อผูกพันในความตกลงระดับโลก

“เมื่อพิจารณาแก้ไข พรบ. ยา ที่อ้างว่าพอใจทางการไทยที่เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสีย กลับทำให้การแก้ไขค้างคาและเนื้อหาสาระสำคัญในเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การแจ้งสถานะสิทธิบัตร และการแจ้งโครงสร้างราคายา กลับถูกให้ตัดออกไป ทั้งๆ ที่จะเป็นข้อกฎหมายที่ส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงยา สกัดกั้นคำขอรับสิทธิบัตรและสิทธิบัตรที่ไม่สมควรได้รับการคุ้มครอง และทำให้ราคายามีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

ที่สหรัฐฯอ้างว่า พอใจการเพิ่มจำนวนผู้ตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรจะช่วยทำให้พิจารณาคำขอฯ เร็วและมากขึ้น แต่ต้องดูในทางกลับกันว่าจะส่งเสริมให้มีสิทธิบัตรที่ไม่มีวันตาย หรือ ever-greening patent เพิ่มมากขึ้นหรือเปล่า ผู้ตรวจสอบฯ ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มีการนำคู่มือตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรยามาให้อย่างเข้มงวดและมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ปัญหาการเข้าถึงไม่ยาลดลงหรือไม่ ที่ผ่านมา แม้จะมีคู่มือฯ แล้ว ยังพบว่าอาจมีคำขอฯ ในลักษณะ ever-greening ยื่นเข้ามาและค้างท่ออยู่ในระบบ ตัวอย่างเช่น ยาต้านไวรัสฯ Atazanavir ที่เมื่อหลายปีก่อนค้นพบว่ามีอยู่เพียง 3-4 คำขอฯ หนึ่งในนั้นได้รับสิทธิบัตรไปแล้วทั้งที่เป็นคำขอกว้างๆ และอายุสิทธิบัตรเพิ่งหมดไปเมื่อ เม.ย. ที่ผ่านมา แต่ล่าสุดกลับพบว่ามีคำขอฯ ในยาตัวเดียวกันในเรื่องการใช้และสูตรผสม ยื่นขอจดสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นเรื่อยถึง 8-9 ฉบับ ซึ่งเป็นการกีดขวางไม่ให้ยาชื่อสามัญเข้าสู่ตลาด”

นอกจากนี้ ผู้แทนมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ให้จับตาการแก้ไข ร่าง พรบ. สิทธิบัตรฉบับแก้ไข ที่ผ่านมา เปิดให้มีการรับฟังฯ ทางออนไลน์ และพบว่ามีข้อน่ากังวลหลายเรื่อง ซึ่งทางกรมฯจะปรับแก้และเปิดรับฟังฯ ทางออนไลน์อีกครั้งในเดือน ม.ค. ปีหน้า

“ต้องดูว่า จะมีการแก้ไขให้ดีขึ้น หรือจะสอดแทรกข้อเรียกร้องที่สหรัฐฯ ต้องการและพยายามกดดันมาตลอดเพิ่มเติมในร่างฯ ที่สองที่จะรับฟังหรือไม่ โดยเฉพาะในประเด็นการจำกัดการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ หรือการประกาศซีแอล, การตัดกระบวนการคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตร และการไม่ทำให้มาตรา 9 ให้ชัดเจนมากกขึ้น ซึ่งเป็นมาตราที่ระบุสิ่งที่ห้ามจดสิทธิบัตร ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับเป็นการปล่อยผีคำขอสิทธิบัตรแบบ evergreening ขวางยาชื่อสามัญเข้าสู่ตลาด”

ส่วนในเรื่องเครื่องหมายการค้า หรือ trademark ควรระวังในเรื่องการใช้การละเมิดเครื่องหมายการค้ามาเล่นงานยาชื่อสามัญ ดั่งที่เคยปรากฎขึ้นกับกรณีจับยึดยาชื่อสามัญหลายรายการในสหภาพยุโรปเมื่อหลายปีก่อน ที่เพียงสงสัยว่าจะละเมิดเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตร ยาชื่อสามัญดังกล่าวเป็นยาที่ส่งจากอินเดียไปยังประเทศในแอฟริกาและละตินอเมริกา โดยแวะถ่ายสินค้าที่เมืองในยุโรป และไม่มีสิทธิบัตรหรือละเมิดเครื่องหมายการค้าในประเทศปลายทาง

พิมพ์ อีเมล