“หมอศิริวัฒน์” เผยต่อรองราคายามะเร็งแนวโน้มลดลงเกือบ 50%

“หมอศิริวัฒน์” เผยต่อรองราคายามะเร็งต่อมน้ำเหลือง มีแนวโน้มลดลง 45%

จากราคาเดิม อภ.เตรียมหาข้อมูลยาสามัญควบคู่เจรจาต่อรองราคายา 3 รายการ เล็งศึกษายาจากอินเดีย-จีน ส่วนยาจิตเวชที่ อภ.ผลิต ผ่านคณะกรรมการจริยธรรมแล้ว อยู่ระหว่างการวิจัยในมนุษย์

นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะทำงานต่อรองราคายาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นและมีปัญหาการเข้าถึง ของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ในวันที่ 9 เมษายนที่จะเชิญบริษัทผู้ผลิตยา 3 รายการ คือ ริทูซิแมบ (Rituximab) ยารักษาโรคมะเร็งเม็ดต่อมน้ำเหลืองและรูมาตอยด์, อิทาเนอร์เซบต์ (Etanercept) และ อินฟลิซิแมบ (Infliximab) ยารักษาโรครูมอตอยด์ หรือข้ออักเสบ มีแนวโน้มในการเจรจาที่ดี โดยเฉพาะยาริทูซิแมทที่ก่อนหน้านี้ได้เสนอลดราคายาให้กับสำนักงานหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มากถึง 45% จากที่เคยขายให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาล แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ อีกทั้งมีความเป็นไปได้ที่ราคาจะลดลงมากกว่าเดิม เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยามากขึ้น

“ครั้ง ที่แล้ว เป็นการมาคุยเปรียบเทียบข้อมูลต่างๆ โดยต่างฝ่ายต่างมีข้อมูลค่าใช้จ่ายในยากลุ่มนี้ เมื่อเทียบกับประเทศแถบยุโรปและอเมริกาใต้ว่าเป็นอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ ซึ่งไทยไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย แต่อย่างใด ซึ่งการลดราคายาลงจะช่วยให้ ผู้ป่วยเข้าถึงยามากขึ้น สามารถดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น ทั้งนี้ ไม่ได้มีธงว่าจะทำซีแอลแต่อย่างใด”นพ.ศิริวัฒน์ กล่าว

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า อภ.เพิ่งได้รับแจ้งอย่างไม่เป็นทางการ จากคณะอนุกรรมการคัดเลือกยาและเวชภัณฑ์ที่มีความจำเป็นและมีปัญหาการการเข้า ถึงของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ ที่มี ภญ.สำลี ใจดี เป็นประธาน ซึ่งได้พิจารณาคัดเลือกยาที่ผู้ป่วยและแพทย์ถึงยาที่มีความจำเป็นต้องใช้ 3 รายการ โดย อภ.ได้เตรียมการหาแหล่งผลิตยาสามัญที่มีคุณภาพน่าเชื่อถือได้และมีราคาถูก ควบคู่ไปกับการเจรจาต่อรองราคายาต้นตำรับของ นพ.ศิริวัฒน์

“ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนที่ต้องใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิ บัตร (ซีแอล) อย่างไรก็ตาม อภ.จะหาข้อมูลเกี่ยวกับยาสามัญไว้รองรับหากมีการทำซีแอล แต่อาจต้องใช้เวลา เพราะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพเชิงวิชาการ โดยเบื้องต้นจะพิจารณายาจากจีนและอินเดีย เพราะเป็นแหล่งที่ผลิตยาสามัญขนาดใหญ่ รวมถึงก่อนหน้านี้ อภ.ได้มีการนำเข้ายารักษาโรคหัวใจที่ทำซีแอลจากอินเดีย ซึ่งเหลือเพียงเม็ดละ 1 บาท” นพ.วิชัย กล่าว

นพ.วิชัย กล่าวด้วยว่า นอกจากจะต้องศึกษาข้อมูลยาสามัญจากแหล่งต่างๆ แล้ว แต่ต้องมีการเจรจาต่อรองราคายาสามัญด้วยเช่นกัน เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และธุรกิจได้รับผลเชิงภาพลักษณ์ที่ดี อย่างไรก็ตามการต่อรองราคายาเป็นไปเพื่อการเข้าถึงยามากขึ้น ไม่เกี่ยวกับการทำซีแอล และดำเนินการอย่างโปร่งใสเป็นไปตามขั้นตอนจึงไม่น่าจะมีผลกระทบกับการ พิจารณาการลดหรือเลื่อนการขึ้นบัญชีไทยเป็นประเทศที่ละเมิดทรัพย์สินทาง ปัญญาที่สหรัฐฯ จะพิจารณาในช่วงเดือนเมษายนนี้” นพ.วิชัย กล่าว

นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า ส่วนยากลุ่มจิตเวชที่ก่อนหน้านี้มีการเสนอให้มีการเข้าถึงยา ซึ่งพบว่าเป็นยาที่หมดสิทธิบัตรแล้วไม่จำเป็นต้องทำซีแอลแต่มีการผูกขาดยาใน ตลาดอยู่เนื่องจากมีผู้จำหน่ายน้อยราย โดย อภ.จะเป็นผู้ผลิตเองนั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการวิจัยในมนุษย์ ซึ่งผ่านคณะกรรมการจริยธรรมแล้ว

 

ผู้จัดการออนไลน์ 19 มีนาคม 2552

 

พิมพ์ อีเมล