แพทยสภาหน้าหงาย “มาร์ค” ไม่เซ็นกฎกระทรวง ยกเว้นยา-เวชภัณฑ์ไม่ปลอดภัย

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 4941

“สารี” เผย หารือ “อภิสิทธิ์” ยอมรับปากให้ชะลอเซ็นลงนามกฎกระทรวงยกเว้นยาและเวชภัณฑ์ ไม่เป็นสินค้าไม่ปลอดภัย ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายสินค้าไ
ม่ปลอดภัย พร้อมเตรียมเสนอ ครม.24 ก.พ.ร่วมตัดสิน ด้านนายกแพทยสภา หน้าหงายถูกต่อว่ากลางที่ประชุม บอกหมอไม่เดือดร้อนอะไรที่ไม่แน่ใจ ก็จะไม่รักษาให้ จวกพูดต่ำกว่ามาตรฐานวิชาชีพ


เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ในการรับฟังความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณา พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 โดยมีตัวแทนสภาวิชาชีพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูล โดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การที่แพทยสภาพยายามเร่งให้มีการออกกฎกระทรวง เพื่อให้มีการยกเว้นยาและเวชภัณฑ์ไม่เป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้นั้น ขอตั้งข้อสังเกตว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวอาจไม่เป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพแพทย์เลย แต่กลับเป็นประโยชน์ต่อบริษัทยา เนื่องจากบริษัทยาไม่จำเป็นต้องรับผิดในกรณีที่เป็นยาอันตราย ซึ่งคนละกรณีกับการบริการทางการแพทย์ที่มีการจ่ายยา ดังนั้น หากมีการออกกฎกระทรวงเท่ากับเป็นการคุ้มครองบริษัทยา ไม่เกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์เลย

“ในการให้ข้อมูลทางสภาเภสัชกรรมก็ยังเห็นด้วยว่าไม่ควรยกเว้น เพราะกฎหมายดังกล่าวจะช่วยให้เกิดความระมัดระวังในการนำเข้ายา หรือขายยา ผู้ผลิตเองก็มีความระมัดระวังยิ่งขึ้น มีการอธิบายวิธีใช้ มีคำเตือนชัดเจน ยกระดับผู้ผลิตยาทั้งภายในและนอกประเทศ เพื่อป้องกันสินค้าไม่ปลอดภัย ขณะเดียวกัน จะช่วยคุ้มครองประชาชนจากการให้บริการทางการแพทย์ที่ ใช้ยาที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะในคลินิกเสริมความงาม เช่น การฉีดโบท็อกซ์ เป็นต้น”น.ส.สารี กล่าว

ด้าน นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า ยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎกระทรวง เพื่อยกเว้นยาและเวชภัณฑ์ไม่ต้องรวมอยู่ในกฎหมายดังกล่าว ซึ่งในช่วงแรก สคก.ไม่อนุญาตให้เข้ารับร่วมรับฟังความคิดเห็น แต่ภายหลังได้อนุญาตเพราะเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรง แต่ก็ยังไม่อนุญาตให้เข้าร่วมรับฟังในตอนสรุปพิจารณา

“อย่างไรก็ตาม ระหว่างการให้ข้อมูลของ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ซึ่งได้ให้ข้อมูลกับ สคก.ว่า แพทย์ไม่เดือดร้อนอะไรกับเรื่องนี้ เพราะอะไรที่แพทย์ไม่แน่ใจ แพทย์ก็จะไม่รักษาให้ ผู้ป่วยก็อาจตายไป ซึ่งผมรับไม่ได้อย่างมาก ทำให้ต้องกดไมค์พูดซ้อนขึ้นมาทันที ว่า การพูดเช่นนี้ของนายกแพทยสภา เป็นการพูดที่ต่ำกว่ามาตรฐานวิชาชีพที่จะต้องรักษาผู้ป่วย โดยไม่เอาคนไข้เป็นตัวประกัน การกระทำเช่นนี้ ถือว่าเป็นการเอาคนไข้เป็นตัวประกัน ขนาดคนติดยาเอามีดไปจี้คน ยังได้รับผลกระทบเพียงคนเดียว แต่หากหมอทั้งประเทศเชื่อตามคำพูดของนายกแพทยสภาแล้วทำอย่างที่พูดคือไม่รักษาจะเกิดอะไรขึ้น”นายนิมิตร์ กล่าว

ในวันเดียวกัน นายนิมิตร์ และ น.ส.สารี พร้อมด้วยเครือข่ายผู้บริโภคกว่า 20 คน ได้เดินทางมายังรัฐสภา เพื่อเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งในการหารือกับตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคมีการใช้เวลาหารือกันนานกว่า 1 ชั่วโมง โดย น.ส.สารี กล่าวภายหลังว่า ตนได้ชี้แจงเหตุผลให้กับนายกรัฐมนตรี รับทราบ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ก็รับปากว่า จะยังไม่เซ็นในกฎกระทรวงที่มีการเสนอมา โดยจะรอการตีความของ สคก.ก่อน หาก สคก.เห็นว่า กฎหมายดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับความกังวลของเหล่าวิชาชีพทั้งหลาย ที่กลัวว่า แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ ถูกฟ้องร้องได้ง่ายขึ้นนั้น กฎหมายนี้ไม่เกี่ยวข้อง ก็ถือว่า ไม่จำเป็นต้องออกกฎกระทรวงแต่อย่างใด เพื่อที่จะได้นำหลักฐานนี้ไปชี้แจงกับกลุ่มวิชาชีพได้ รวมถึงกลุ่มวิชาชีพสามารถนำมาอ้างอิงได้ในอนาคตด้วย

น.ส.สารี กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หากจำเป็นที่จะต้องออกกฎกระทรวงเพื่อยกเว้น ก็ได้กำชับว่า จะต้องยกเว้นโดยไม่ครอบคลุมให้กับผู้ผลิตยา หรือบุคลากรทางวิชาชีพที่ผลิตยาและเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐานจนเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยเท่านั้น ซึ่งผู้ผลิตในที่นี่หมายถึงบริษัทผู้ผลิตยาไปจนถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ผลิตยาไม่ได้มาตรฐานจนเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยจะต้องได้รับโทษตามกฎหมายนี้ทั้งหมดไม่ได้รับการยกเว้นด้วย แต่จะไม่รวมกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ดำเนินการถูกต้อง

“เห็นด้วยกับ นายกรัฐมนตรี ที่เห็นพ้องกันว่า กฎกระทรวงดังกล่าวจะต้องไม่ยกเว้นยาที่ไม่ปลอดภัย ไม่เว้นผู้ผลิตยาที่ไม่ปลอดภัย ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นบริษัทยาหรือผู้ประกอบวิชาชีพใดก็ได้ตาม รวมถึงเห็นด้วยอย่างยิ่งหากไม่มีความจำเป็นต้องออกกฎกระทรวง ถ้าหากสคก.มีความเห็นที่สามารถอธิบายเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน”น.ส.สารี กล่าว

น.ส.สารี กล่าวด้วยว่า หากนายกรัฐมนตรีนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุม ครม.ในวันที่ 24 ก.พ.ก็ควรต้องถามกลับไปยัง นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข ว่า หาก สคก.มีความเห็นว่า กฎหมายดังกล่าวไม่กระทบตามที่วิชาชีพกังวล จะยอมถอนกฎกระทรวง ที่ร่างให้นายกฯลงนามหรือไม่ ทั้งนี้ นายวิทยา ไม่ควรรับฟังความเห็นจากแพทยสภา หรือวิชาชีพเพียงอย่างเดียวแต่ควรที่จะรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริโภคด้วย ซึ่งผู้บริโภคก็พร้อมที่จะเข้าพบเพื่อให้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้านมากกว่านี้
นสพ.ผู้จัดการ19-02-52

พิมพ์