เกสรพืชจีเอ็มไปไกลเท่าไร จะรู้กันเร็วๆนี้

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 4242


ถกเถียงมานานว่า เกสรจากมะละกอจีเอ็มจะปลิวไปผสมกับมะละกอธรรมดา จนกลายเป็นมะละกอจีเอ็มไปหมด นักวิจัยไทยได้ฤกษ์ค้นหาคำตอบ

การศึกษาชีววิทยาและการกระจายเกสรของมะละกอด้วยคอมพิวเตอร์โมเดลและสารสนเทศทางภูมิศาสตร์” เป็นงานวิจัยของ ดร.ปาริชาติ เบิร์นส นักวิจัยจากกลุ่มวิจัยด้านพืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)

ดร.ปาริชาติ อธิบายว่า ความเสี่ยงจากการกระจายเกสรของมะละกอจีเอ็มเป็นประเด็นที่หลายคนพูดถึงและให้ความสนใจ แต่ยังไม่มีการพิสูจน์ที่แน่ชัด จึงอยากที่จะทดสอบโดยการใช้โมเดลคอมพิวเตอร์และสารสนเทศทางภูมิศาสตร์เพื่อทำนายการเคลื่อนที่ของเกสรมะละกอ

“โมเดลคอมพิวเตอร์เป็นผลงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยการปรับปรุงโมเดล จากเดิมที่ใช้โมเดลคอมพิวเตอร์ในการตรวจวัดปริมาณฝุ่นในถนนสำคัญ มาพัฒนาต่อยอด เนื่องจากฝุ่นจะมีน้ำหนักและรูปทรงที่ต่างออกไป แต่เกสรมะละกอจะมีข้อมูลที่ซับซ้อน เช่น ดอกมะละกอ 1 ดอกมีเกสรจำนวนเท่าใด, ปริมาณลมแค่ไหนจะทำให้เกสรกระจาย, ลักษณะการกระจายเป็นแบบใด โดยใช้ข้อมูลน้ำหนักและรูปทรงของเกสรมะละกอ ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเคลื่อนที่และกระจายของเกสร”

เมื่อได้โมเดลคอมพิวเตอร์ ก็ดำเนินการเก็บข้อมูลในแปลงทดสอบมะละกอที่ไม่ใช่จีเอ็ม โดยปลูกมะละกอกะเทย (มีเกสร) โดยมีมะละกอเพศเมีย (ไม่มีเกสร) ล้อมรอบเอาไว้

จากนั้นติดตั้งสถานีวัดอากาศขนาดเล็ก ผลงานศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จำนวน 2 สถานี สถานีแรกสูง 2 เมตรซึ่งเป็นระดับเดียวกับต้นมะละกอ และสถานีที่ 2 สูง 10 เมตรที่เป็นระดับลมบน

นักวิจัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสนชี้ว่า สถานีวัดอากาศขนาดเล็กจะทำหน้าที่เก็บข้อมูลความแรงลม, ทิศทางลม, ความชื้นสัมพัทธ์, อุณหภูมิและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องแบบเรียลไทม์ โดยส่งข้อมูลเข้าศูนย์เนคเทคตลอดเวลา

นอกจากนี้ ยังมีเสาดัก (Trap) ทำหน้าที่ดักจับเกสรมะละกอที่ปลิวกระจายจากมะละกอกะเทย โดยเป็นเสาไม้ไผ่ที่มีฐานด้านบนติดเทปกาวเอาไว้ ติดตั้ง 8 ทิศ ๆ ละ 14 ต้น รวมเป็น 112 ต้น ซึ่งเกสรที่ดักได้จะบ่งชี้ระยะทางของเกสรที่ปลิวมาตามแรงลม โดยมีการเก็บข้อมูลเดือนละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 10 เดือน

ซึ่งดร.ปาริชาติย้ำว่า ก่อนหน้าที่จะทดสอบได้เก็บข้อมูลเกสรพืชที่อยู่ใกล้เคียง ดูความแตกต่างของลักษณะ เพื่อแยกเกสรมะละกอให้ได้ ป้องกันการสับสนในการเก็บข้อมูล

นอกจากนี้ ยังต้องดูผลมะละกอว่า เกิดการผสมกับเกสรที่ปลิวมาหรือไม่ โดยดูจากเมล็ด หากมะละกอไม่มีเมล็ดคือมะละกอที่ไม่เกิดการผสมเกสร แต่หากเป็นมะละกอที่มีเมล็ดเท่ากับเกิดจากเกสรที่กระจายออกมา

“ในเบื้องต้นพบว่า ผลจากแปลงทดสอบพบว่า เกสรมะละกอจะกระจายตัวในบริเวณรอบ ๆ ต้น แต่ก็ยังไม่สามารถบ่งชี้ได้แน่ชัด เพราะขึ้นอยู่กับฤดูและลมในฤดูนั้น ๆ ที่สำคัญ อาจจะต้องเพิ่มปัจจัยสำคัญอีกประการคือ แมลง ที่จะพาเกสรไปผสม”

โมเดลคอมพิวเตอร์และสารสนเทศที่พัฒนาขึ้นสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการคาดเดาทิศทางการกระจายของเกสรมะละกอ, ระยะทางการกระจาย รวมถึงนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดโซนนิ่ง โดยอาศัยการเทียบเคียงปัจจัยต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

อย่างไรก็ดี ทีมพัฒนาโมเดลคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ยังต้องการที่จะปรับโมเดลให้มีปัจจัยที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น เพื่อข้อมูลและการทำนายที่แม่นยำขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพิสูจน์ข้อมูลการกระจายของเกสรมะละกอจีเอ็มที่หลายคนติดใจสงสัยต่อไป

ในขณะเดียวกัน บิดาแห่งมะละกอจีเอ็มอย่าง ดร.เดนนิส กอนซาลเวส ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการกลาง งานบริการวิจัยด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาเผยความคืบหน้าของมะละกอจีเอ็มในการบรรยายพิเศษเรื่อง “ประสบการณ์และการประเมินความปลอดภัยด้านอาหารและสิ่งแวดล้อมของการผ่อนปรนกฎเกี่ยวกับมะละกอจีเอ็มของฮาวาย”

โดยสรุปว่า ฮาวายมีการพิสูจน์ผลการกระจายและผสมเกสรจองมะละกอจีเอ็มและมะละกอทั่วไปเช่นกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในการวิจัยเพื่อยื่นให้กับประเทศญี่ปุ่น หลังจากญี่ปุ่นยอมเปิดประตูเหล็กให้มะละกอจีเอ็มจากฮาวายวางขายอย่างสง่าผ่าเผยในช่วงต้นปี 2553 ที่จะถึงนี้

“ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่ต่อต้านมะละกอจีเอ็มอย่างรุนแรง แต่ก็เกิดการผ่อนปรน โดยเรียกร้องข้อมูลด้านความปลอดภัยทางชีวภาพและอาหารจากผู้ประกอบการฮาวาย”

การทดสอบการแพร่กระจายของเกสรมะละกอจีเอ็มทำในแปลง โดยปลูกมะละกอจีเอ็มห่างจากมะละกอทั่วไป 12 ฟุต โดยให้แปลงมะละกอจีเอ็มอยู่ด้านหัวลม ให้เกสรพัดมาผสมกับมะละกอทั่วไป จากนั้นนำผลมะละกอจากแปลงทั่วไปมาตรวจสอบ 2 ระดับคือ ระดับดีเอ็นเอด้วยวิธีพีซีอาร์ และระดับโปรตีนโดยการตรวจอีไลซ่า

ผลที่ได้พบว่า เกสรมะละกอจีเอ็มมีการกระจายเข้าสู่แปลงมะละกอทั่วไปและเกิดการผสมพันธุ์ต่ำกว่า 5% โดยมะละกอที่ได้จากการผสมของมะละกอจีเอ็มนั้นมีการแสดงออกของยีนที่ถูกดัดแปลงน้อยกว่า 5% ซึ่งไม่มีผล เพราะพืชชนิดต่าง ๆ ก็มีโอกาสที่จะเกิดการผสมรูปแบบนี้ได้ตามธรรมชาติ

“แม้จะผสมกับมะละกอจีเอ็ม ทำให้เมล็ดภายในมะละกอกลายเป็นลูกผสม แต่เนื้อของมะละกอไม่ได้เป็นจีเอ็ม ในขณะที่เมล็ดลูกผสมนั้น สามารถนำไปปลูกได้ แต่ประสิทธิภาพการป้องกันโรคนั้นไม่เสถียร เนื่องจากเป็นเมล็ดพันธุ์แบบลูกผสมพันธุ์เทียม”

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นการกระจายของเกสรรวมไปถึงผลต่อคุณค่าทางโภชนาการ, ความเป็นพิษ, สารก่อภูมิแพ้และสารพิษตามธรรมชาติที่พบในยางมะละกอนั้น ไม่พบการเปลี่ยนแปลงหลังการดัดแปลงทางพันธุกรรมรวมถึงผลการพิสูจน์ความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ทางการญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการส่งผลความเห็นจากภาคประชาชนซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 26 มิถุนายนนี้

จากนั้นจะเป็นการดำเนินการแจ้งไปยังองค์กรการค้าโลกว่า ญี่ปุ่นจะอนุญาตให้นำเข้ามะละกอจีเอ็มจากฮาวายเพื่อการค้า ซึ่งดร.กอนซาลเวสคาดว่าจะแล้วเสร็จและนำเข้ามะละกอจีเอ็มเป็นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2553

สำนักข่าวเนชั่น 24/6/52

พิมพ์