เครือข่ายผู้บริโภค ออกโรง รัฐต้องยกเลิก 3 สารเคมีอันตรายทางการเกษตร!

เครือข่ายผู้บริโภค ออกโรง รัฐต้องยกเลิก 3 สารเคมีอันตรายทางการเกษตร!

ภาพรวม

เครือข่ายผู้บริโภคภาคประชาชน สนับสนุนรัฐบาล ‘ยกเลิก 3 สารเคมีอันตรายทางการเกษตร’ ชี้ รัฐต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

21 ตุลาคม 2562, เวลา 11.00 น. ที่สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น เครือข่ายผู้บริโภคภาคประชาชน โดย สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สสอบ.) ปฏิวัติ เฉลิมชาติ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และถนัด แสงทอง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ร่วมแถลงข่าวสนับสนุนนโยบายรัฐ ออกโรงยกเลิก 3 สารเคมีอันตรายทางการเกษตรให้หายออกไปจากประเทศไทย

อ ประสาท

ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการ คอบช. กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ (UN) มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ทั้งหมด 17 ข้อ มุ่งหวังจะช่วยแก้ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ เช่น ความยากจน ความไม่เท่าเทียม สภาวะโลกร้อน และสันติสุข เพื่อเสริมแนวคิด ’ไม่เป็นการทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ โดยในเป้าหมายที่ 12 ได้กล่าวถึง Responsible Consumption and Production หรือเป็นการรองรับแผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งจะให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตจะต้องมีความรับผิดชอบ

สารพาราควอตถูกสังเคราะห์ขึ้นมานานมากแล้ว แต่โลกรู้จักคุณสมบัติด้านการกำจัดวัชพืชของพาราควอตเมื่อ 60 - 70 ปีที่ผ่านมา โดยสหภาพยุโรป (EU) อนุมัติให้ใช้สารพาราควอตเมื่อปี 2547 แต่ก็มีการรวมตัวกันคัดค้านจนนำมาสู่การแบนในอีก 3 ปีต่อมา เนื่องจากเป็นสารเคมีที่มีอันตรายถึงทำลายชีวิตมนุษย์ ซ้ำยังเป็นสารเคมีที่อันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย อีกทั้งในปี 2554 รัฐบาลเกาหลีใต้พิจารณาคำสั่งห้ามจำหน่ายพาราควอตทั่วประเทศ เพื่อเป็นมาตรการป้องกันและลดสถิติการฆ่าตัวตายด้วยการกินสารเคมีมีพิษ หลังจากนั้นพบว่าสถิติการฆ่าตัวตายจากการกินยาฆ่าวัชพืชในเกาหลีใต้ลดลงจริงถึงร้อยละ 46

ผศ.ประสาท กล่าวอีกว่า องค์การอนามัยโลกได้รายงานว่า สารพาราควอตมีความสัมพันธ์อย่างมากกับสารก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยในปี 2561 ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรกรรมอินทรีย์ร้อยละ 1.8 และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มมาเป็นร้อยละ 25 ในปี 2573 ซึ่งทิศทางเหล่านี้เป็นทิศทางที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้ประเด็นการยกเลิกสารเคมีในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ 

สาร

ด้านสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ มพบ. กล่าวว่า สารเคมีทั้ง 3 ตัวนี้ ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซตเป็นอันตรายต่อ 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรก คือ กลุ่มคนที่ใช้โดยตรง หรือคนที่รับจ้างฉีดสารเคมี ส่วนที่สอง คือ กลุ่มผู้บริโภค จากการตรวจสอบสารเคมีตกค้างในผักผลไม้ พบว่า มีสัดส่วนถึงร้อยละ 30 หรือจากการตรวจสอบล่าสุดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็พบการตกค้างของพาราควอตในผักและผลไม้สดถึงร้อยละ 26.6 สอดคล้องกับผลการตรวจสารตกค้างฯ ของศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มพบ. และไทยแพน พบการตกค้างของสารเคมีดังกล่าวในอัตราส่วน 1 ใน 3 ในขณะที่ประเทศไทยก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ส่วนที่ได้รับผลกระทบส่วนสุดท้าย คือ การปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายที่อยู่ในห่วงโซ่อาหาร ซึ่งภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันถึงการตรวจพบสารพิษกำจัดศัตรูพืช ‘พาราควอต’ ตกค้างในสิ่งแวดล้อมจริง ซึ่งสารชนิดนี้ปนเปื้อนอยู่กับสัตว์น้ำ เช่น ในกบหนอง ปูนา หอยกาบน้ำจืด และปลากะมัง โดยตัวเลขที่ตรวจพบมีค่าสูงกว่าค่ามาตรฐานความปลอดภัยสำหรับอาหาร จนทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายผู้บริโภคได้ 

กรมวทยตรวจพบ

สารี กล่าวอีกว่า เครือข่ายผู้บริโภคขอสนับสนุนให้มีการยกเลิกสารเคมีอันตราย โดยขอเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายใช้มติเอกฉันท์ยกเลิกสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ตัวอย่างชัดเจน ส่วนประเด็นที่สอง ที่หลายๆ คนมักบอกว่าไม่มีทางออกหรือทางเลือกอื่น นั่นเป็นเรื่องที่ไม่จริง เพราะจากการสำรวจนโยบายการยกเลิกการใช้สารพาราควอตในการปลูกอ้อย พบว่า บริษัทขนาดใหญ่มากกว่าร้อยละ 60 ได้ยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าวแล้ว และประเด็นที่ถูกกล่าวอ้างเรื่องที่สามที่มีการให้ข้อมูลว่า การไม่ใช้สารเคมีดังกล่าวจะทำให้เราไม่มีผักกินหรือผักจะมีราคาแพงขึ้น ทางออก คือ ควรจะใช้แนวทางการเกษตรทางเลือกหรือเกษตรอินทรีย์มากขึ้น เพราะจะเป็นการทำการเกษตรแบบยั่งยืน อีกทั้งจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า สารเคมีกำจัดวัชพืชยังมีการตกค้างในเลือดของหญิงตั้งครรภ์และสายสะดือเด็ก เพราะเด็กจะได้รับสารพาราควอต ผ่านทางสายสะดือของแม่ที่ใช้สารเคมีในไร่อ้อย

สารี กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้บริโภคควรจะคำนึงถึงแหล่งที่มาของอาหารมากขึ้น หรือเกษตรกรที่ปลูกพืชผักให้เรากินควรจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผักต่างๆ ควรมีราคาที่เป็นธรรมด้วย ผู้บริโภคจะต้องตั้งคำถามว่า ทำไมเกษตรขนาดใหญ่ส่งผักปลอดภัยไปขายต่างประเทศได้ แต่คนในประเทศยังต้องกินผักที่มีสารตกค้าง

“ทิศทางของประเทศไทยเราควรจะมีผักที่ปลอดภัยสำหรับการบริโภคมากขึ้น เครือข่ายผู้บริโภค เชื่อว่า การที่จะมีผักที่ปลอดภัยมากขึ้นจำเป็นจะต้องยกเลิกสารเคมีที่เป็นอันตราย และถ้ารัฐบาลไทยมีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว เราจะสามารถแบนสารเคมีอันตรายสามตัวนี้ได้อย่างแน่นอน” สารีกล่าว 

บญบน

ส่วนบุญยืน ศิริธรรม นายก สสอบ. กล่าวว่า อยากให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายคำนึงถึงสุขภาพประชาชนทุกคนมากกว่าเศรษฐกิจ ในกรณีพาราควอตนั้น มีประเทศต่างๆ แบนและประกาศแบนแล้วถึง 58 ประเทศ ส่วนคลอร์ไพริฟอสถูกแบนแล้ว 16 ประเทศ

“เราควรมาตั้งคำถามว่า ถ้าประเทศไทยไม่แบนสารอันตรายนี้ แล้วประเทศอื่นจะมาซื้อผลผลิตทางการเกษตรของประเทศเราหรือไม่ มันจะส่งผลกระทบถึงการส่งออกของประเทศหรือไม่ และที่สำคัญ คือ ผลกระทบต่อสุขภาพ มีข้อมูลว่า ทุก 1 หมื่นล้านบาท ที่นำเข้าสารพิษต้องใช้งบประมาณ 7,600 ล้านบาทเพื่อรักษาพยาบาล ผลเสียจึงมากกว่าผลดี” บุญยืนกล่าว

บุญยืน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในนามของ สสอบ. ขอสนับสนุนให้รัฐบาลออกกฎหมายยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายดังกล่าวแทนการควบคุม เพราะสถานการณ์ในประเทศไทยไม่สามารถควบคุมได้ จะต้องใช้มาตรการยกเลิกเท่านั้น ตอนนี้ มติคณะทำงาน 4 ฝ่าย ประกอบด้วย ภาครัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค ที่มีมติเป็นเอกฉันท์ให้สารเคมี 3 ชนิดปรับจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นชนิดที่ 4 ซึ่งจะมีผลให้ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก และครอบครอง ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้สารพิษนี้อีกต่อไป เพราะกรมวิชาการเกษตรก็ได้แจ้งเพิ่มเติมว่ามีสารที่ใช้ทดแทนได้แล้ว 

ถนด แสงทอง

ขณะที่ ถนัด แสงทอง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องสนับสนุนให้ยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายว่า ที่ผ่านมาทางเครือข่ายฯ ได้ติดตามข่าวการใช้สารเคมีมามกกกว่า 10 ปี แล้ว โดยสมาชิกของเครือข่ายฯ บางส่วนเป็นผู้ที่เคยใช้สารเคมีอันตรายดังกล่าวมาก่อน ทำให้ได้รับรู้ถึงผลกระทบต่อทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญ คือ เกษตรกรที่ใช้สารเหล่านี้ก็ไม่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซ้ำร้ายยังได้รับผลกระทบต่างๆ ทำให้ต้องหันมาใช้แนวทางเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรทางเลือก นอกจากนี้ยังได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายเกษตรที่ใช้สารเคมีด้วย ซึ่งกลุ่มนี้พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนถ้ามีทางเลือกที่เหมาะสมให้ และจากข้อกล่าวอ้างว่าถ้าเกษตรกรไม่ใช้สารเคมีจะทำให้ผลผลิตลดลงนั้นไม่เป็นความจริง ซึ่งในความจริงเกษตรกรก็ไม่ได้ต้องการใช้สารเคมี แต่ด้วยข้อจำกัดหลายเรื่อง อาทิ ด้านแรงงาน และการสูญเสียต่างๆ ทำให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้

“ภาครัฐมีต้นทุนมากมาย ทั้งนวัตกรรม และองค์ความรู้ที่จะมาทดแทนสารเคมีอันตรายได้ หากทางภาครัฐมีความจริงใจในการยกเลิกสารเคมีอันตราย จึงอยากขอให้ยกเลิกสารเหล่านี้ เปลี่ยนมาเป็นการส่งเสริม ให้ความรู้ และพัฒนาเรื่องนี้กับประชาชนอย่างจริงจัง” ถนัดกล่าว

ถนัด กล่าวทิ้งท้ายว่า ข้อเรียกร้องของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ดังนี้ 1) รัฐบาลต้องยกเลิกสารเคมีสามชนิดนี้ เพราะมีข้อมูลเชิงประจักษ์ ทั้งในเรื่องของสุขภาพ วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อม และ 2) กลุ่มเกษตรกรที่มีการใช้สารเคมีอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการขึ้นทะเบียนแสดงตัวตนว่ายังใช้สารเคมีอยู่ ภาครัฐจะต้องมีมาตรการสนับสนุนเกษตรกรเหล่านี้ในการปรับและยกเลิกการใช้สารเคมีอันตราย ซึ่งเชื่อมั่นว่ากลุ่มเกษตรกรพร้อมที่จะปรับหาแนวทางที่เหมาะสมได้

 

ปฏวต

สุดท้าย ปฏิวัติ เฉลิมชาติ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน กล่าวว่า ต้องการฝากถึงคณะกรรมการวัตถุอันตราย ขอให้มีมติแบนสารเคมีอันตรายที่หลายประเทศมีมติไปแล้ว ซึ่งมีข้อมูลชัดเจนแล้วว่าก่อให้เกิดอันตรายกับหลายๆ ส่วน ทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม จึงขอให้คณะกรรมการฯ คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

ติดตามชอม Facebook Live ย้อนหลัง ได้ที่ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคสนับสนุนให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณายกเลิกใช้ 3 สารเคมีอันตรายทางการเกษตร

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, พาราควอต, ไกลโฟเซต, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, คลอร์ไพริฟอส, ยกเลิกสารเคมีอันตราย, เครือข่ายผู้บริโภค, เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน, คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน(คอบช.)

พิมพ์ อีเมล