เผยผลสำรวจ ปชช. หวังพึ่ง ‘เบี้ยยังชีพ’ เมื่อสูงวัย

เขียนโดย ศูนย์ข่าวผู้บริโภค. จำนวนผู้ชม: 4012

Image00005
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เผยผลสำรวจความเห็นประชาชนต่อความมั่นคงในชีวิตเมื่อสูงวัย พร้อมเสนอรัฐออกฎหมายระบบบำนาญแห่งชาติต้องมีความมั่นคงรองรับ 3 ชั้น คือ มีความปลอดภัย เพิ่มคุณภาพชีวิต และเพิ่มความมั่งคั่งให้ชีวิต

วันที่ 20 ก.ย. 58 ที่เกาะพญาไท กรุงเทพ นำโดย เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ร่วมกับ เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ “สังคมไทยสูงวัยไปด้วยกัน ตอนคนรุ่นใหม่สูงวัยอย่างมีคุณภาพ ด้วยบันาญแห่งชาติ”

นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อความมั่นคงในชีวิตเมื่อสูงวัย โดยเก็บข้อมูลจาก 4 ภูมิภาค จำนวน 953 คน พบประชาชน 65% มีการวางแผนด้านรายได้เมื่ออายุ 60 ปี ในขณะที่ 35% ไม่ได้วางแผน ทั้งนี้คนที่วางแผนส่วนใหญ่มองว่าจะมีรายได้จากการทำงานแม้จะอายุ 60 ปีแล้ว แต่มีความกังวลใจเรื่องสุขภาพมากสุดถึง 25% กังวลเรื่องรายได้ 21% กังวลเรื่องคนดูแล 19% กังวลเรื่องที่อยู่อาศัย 18% และเรื่องหนี้สิน 17% ทั้งนี้ปัญหาสุขภาพเกี่ยวโยงกับเรื่องรายได้จากการทำงาน หากเจ็บป่วยอาจทำงานไม่ได้ทำให้ขาดรายได้

“ผลสำรวจดังกล่าวพบว่า คนส่วนใหญ่มีการวางแผนเรื่องรายได้เมื่อสูงวัย ทั้งนี้คาดว่าจะมีรายได้จากเบี้ยยังชีพผู้สูงวัย รวมกับส่วนที่ได้จากลูกหลาน และจากการทำงานต่อเนื่องหลังจากอายุ 60 ปี โดยคาดหวังอัตรารายได้ขั้นต่ำต่อเดือนที่ 6,000 บาทขึ้นไป ทั้งนี้หวังให้รัฐปรับเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญพื้นฐานในอัตราที่สูงกว่าในปัจจุบัน หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกับ 3,000 บาทต่อเดือน” เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าว

นางหนูเกน อินทจันทร์ เครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าววว่า “หากเปรียบระบบบำนาญเหมือนกับชั้นปิ่นโต ที่มีข้าวเป็นชั้นพื้นฐานที่รัฐจัดหาให้ ส่วนชั้นกับข้าว และชั้นของหวานประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการออมเพื่อจัดหาให้กับตนเอง มีรัฐกำกับให้ทุกชั้นของปิ่นโตของแต่ละกลุ่มอาชีพ ไม่ให้มีความแตกต่างกันสูงเกินไป และที่สำคัญต้องไม่ทำให้ระบบบำนาญพื้นฐานเป็นระบบสงเคราะห์”

ด้าน น.ส.จุฑาเนตร สาสดี เยาวชนจากเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า “การที่จะสร้างความมั่นคงเมื่อสูงวัยได้นั้น ต้องเริ่มต้นตั้งแต่วัยหนุ่มสาว มีการวางแผนออมเงินสะสมเพื่อวันข้างหน้า แต่รัฐก็ควรที่จะจัดระบบบำนาญพื้นฐานไว้เป็นฐานรองรับสำหรับทุกคน โดยเปลี่ยนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และปรับอัตราเงินรายเดือนให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิต วันเยาวชนปีนี้จึงอยากบอกให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ ควรเริ่มมีการเตรียมพร้อมและร่วมกันใส่ใจสังคมไทยที่เป็นสังคมสูงวัยแล้ว ให้มีการจัดระบบบำนาญแห่งชาติสำหรับทุกคน เพื่อผู้สูงวัยในวันนี้และคนสูงวัยในอนาคตด้วย”

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ มีเป้าหมายขับเคลื่อนให้รัฐมีการจัดระบบบำนาญแห่งชาติที่ครอบคลุมประชากรทุกคน ตั้งอยู่บนหลักการเสมอภาคถ้วนหน้า ไม่เหลื่อมล้ำ มีความเป็นธรรมระหว่างกลุ่มอาชีพและวัยต่างๆ โดยมีข้อเสนอให้มีการออกกฎหมายบำนาญแห่งชาติ เพื่อสร้างหลักประกันทางรายได้ที่เหมาะสมเพียงพอต่อการดำรงชีวิต โดยระบบบำนาญแห่งชาติควรมีชั้นความมั่นคงรองรับ 3 ชั้น คือ
1) ชั้นความปลอดภัย คือการจัดบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าให้ทุกคน ในอัตรารายเดือนที่สูงว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปัจจุบัน อย่างน้อยเท่าเส้นความยากจน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 2,400 บาท/เดือน
2) ชั้นเพิ่มคุณภาพชีวิต คือการออมเพื่อบำนาญของแต่ละคน โดยมีการบังคับให้ออม หรือสร้างแรงจูงใจให้สมัครใจออม โดยรัฐสมทบการออมให้ประชาชนโดยเสมอภาคกัน เช่น การสมทบให้ข้าราชการในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ การสมทบให้ประชาชนในกองทุนการออมแห่งชาติ และการสมทบให้ผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคม ในอัตราและสัดส่วนที่ไม่แตกต่างกัน
3) ขั้นเพิ่มความมั่งคั่งให้ชีวิต คือ การออมผ่านระบบการลงทุนสำหรับประชากรที่มีรายได้มากเพียงพอ เช่นการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ทั้งนี้รัฐต้องมีการกำกับให้ระบบบำนาญทั้งหมดเอื้อต่อประชากรทุกกลุ่มอาชีพ ทุกกลุ่มวัย โดยมีคณะกรรมการกำกับให้แต่ละชั้นของระบบบำนาญมีความคล่องตัว มีความเป็นธรรม และมีการติดตามตรวจสอบกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันการล้มละลายที่อาจเกิดขึ้นในการบริหารจัดการ

พิมพ์