เครือข่ายผู้หญิงฯ ซัดมติบอร์ดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกสร้างปัญหา เหตุวัคซีนของเดิมก็ยังได้ไม่ครบ ยังเพิ่มภาระให้ประชาชนร่วมจ่ายอีก

290861 women1

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เวลาประมาณ 10.00 น. เครือข่ายผู้หญิงในระบบหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว พร้อมด้วยองค์กรภาคีที่ทำงานในประเด็นผู้หญิงกว่า 10 เครือข่าย ยื่นจดหมายค้านมติของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเกี่ยวกับการจัดหาและการให้บริการด้านวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ที่สำนักงานสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เนื่องจากมติบอร์ดไม่เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างมีมาตรฐาน และขัดกับเจตนารมณ์ของการมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างชัดเจน

นางอรกัลยา พุ่มพึ่ง แกนนำเครือข่ายผู้หญิงในระบบหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว กล่าวว่าโครงการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการให้บริการฉีดวัคซีนกับนักเรียนหญิงชั้น ป.5 ให้ครอบคลุมทุกคน โดยเริ่มฉีดเข็มแรกตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2560 เป็นต้นมา และตามเกณฑ์มาตรฐานการรับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ผู้ที่รับวัคซีนเข็มแรกต้องได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สองหลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรกผ่านไปแล้ว 6 เดือน

แต่ตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการที่ผ่านมา เราได้รับทราบสถานการณ์จากเครือข่ายที่ทำงานในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องว่าการจัดหาวัคซีนมาฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายยังไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เช่น บางคนได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วแต่เข็มที่ 2 ยังไม่ได้รับทั้งที่เวลาผ่านมาเกือบครบปี ในขณะโรงเรียนบางแห่งวัคซีนมีไม่เพียงพอกับจำนวนกลุ่มเป้าหมายต้องแบ่งกันฉีด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา เราได้ทราบข่าวมาว่าคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ได้มีมติสำคัญต่อการวางแผนจัดหาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้กับกลุ่มเยาวชนในรอบใหม่อยู่ 3 ประเด็นสำคัญ คือ ประเด็นแรก ได้ขยายช่วงอายุเยาวชนไทยหญิงให้อยู่ระหว่าง 12-18 ปี ที่จะเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก (HPV)

ประเด็นที่สอง สนับสนุนให้หน่วยงานท้องถิ่นที่มีศักยภาพ พิจารณาจัดหาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกมาให้บริการฟรีกับเยาวชนกลุ่มดังกล่าวได้อย่างครอบคลุมและครบถ้วนมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าท้องถิ่นมีข้อจำกัดด้านงบประมาณและหรือด้านอื่นๆ ก็ให้ผู้ปกครองร่วมจ่ายเงินซื้อวัคซีนเอง

ประเด็นที่ 3 วัคซีนที่ฉีดให้นั้นเป็นเพียงการลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ 2 สายพันธุ์เท่านั้น ทั้งที่วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก 4 สายพันธุ์ก็มีแต่กลับไม่ถูกเลือกใช้

จากมติดังกล่าวทำให้เครือข่ายผู้หญิงในระบบหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว และองค์กรภาคีที่ทำงานในประเด็นผู้หญิงกว่า 10 เครือข่าย ต้องออกมายื่นจดหมายทักท้วงมติของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เพราะเล็งเห็นแล้วว่ามติดังกล่าวเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขด้านงานป้องกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าของประชาชนเป็นอย่างมาก

เนื่องจากที่ผ่านมาเรายังไม่เห็นกลไกใดๆ จากรัฐที่ชัดเจนต่อการแก้ไขสถานการณ์ปัญหาที่วัคซีนมีไม่เพียงพอต่อกลุ่มเป้าหมายเดิม แล้วประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าถ้าขยายช่วงอายุออกไปอีก วัคซีนจะมีเพียงพอต่อกลุ่มเป้าหมายที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้การที่รัฐได้ให้ทางเลือกมาแล้วว่าจะให้ท้องถิ่นและผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมจ่ายเงินค่าวัคซีน แต่วิธีคิดดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชน เนื่องจากชุดสิทธิประโยชน์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดบริการให้กับประชาชนได้เข้าถึงอย่างถ้วนหน้าและเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน

อีกทั้งวัคซีนที่มีการนำมาฉีดนั้นสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้เพียง 2 สายพันธุ์เท่านั้น และเป็นวัคซีนที่กำลังจะหยุดผลิต หยุดขาย เพราะทั่วโลกได้หันมาใช้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกแบบ 4 สายพันธุ์กันหมดแล้ว จึงเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์

เครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานในประเด็นผู้หญิงจึงขอให้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติพิจารณาเหตุและผลที่องค์กรภาคประชาสังคมให้ได้มา พร้อมมีข้อเสนอเพิ่มเติมดังนี้

1.   คงช่วงอายุของกลุ่มเป้าหมายในการรับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดให้อยู่ในระดับชั้น ป.5 เนื่องจากมีงานวิจัยยืนยันแล้วว่าร้อยละ 97 ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ส่งผลให้วัคซีนสามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.  ให้ สปสช. เป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่จัดซื้อวัคซีนแบบรวมระดับประเทศ เพื่อให้ได้วัคซีนในปริมาณที่ครอบคลุมกับจำนวนของกลุ่มเป้าหมาย และสามารถต่อรองเจรจากับบริษัทยาได้ภายใต้งบประมาณที่จำกัด ซึ่งจะไม่เป็นการผลักภาระให้ประชาชนต้องร่วมจ่ายแต่อย่างใด

3.  สร้างกลไกติดตามผลที่มีองค์ประกอบมาจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ของกลุ่มเป้าหมายในการได้รับวัคซีนตามมาตรฐานที่กำหนด การเฝ้าระวังผลกระทบที่มีต่อสุขภาพของกลุ่มเป้าหมายภายหลังจากการฉีดวัคซีน รวมไปถึงให้ข้อมูลเรื่องมะเร็งปากมดลูกอย่างรอบด้านให้กับโรงเรียน ผู้ปกครอง และนักเรียนได้ทราบ เช่น วิธีการป้องกัน โอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีอันเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก และการให้กลุ่มเป้าหมายตระหนักต่อการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย

พิมพ์ อีเมล