รถรับ-ส่ง นักเรียน

ผู้บริโภค ภาครัฐ โรงเรียน 5 จังหวัดภาคกลางร่วมผลักดันรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย

เขียนโดย ศูนย์ข่าวผู้บริโภค วันที่ . จำนวนผู้ชม: 4667

600731

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคภาคกลาง 5 จังหวัด จัดเวทีความร่วมมือเพื่อพัฒนานารถโดยสารสาธารณะปลอดภัย ภาคกลาง พัฒนาแนวทางรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย

31 ส.ค.นายประชา มีสี ศูนย์ประสานานสิทธิผู้บริโภคจังหวัดสิงห์บุรี เปิดเผยผลการสำรวจรถนักเรียน ภาคกลาง 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดอยุธยา  สิงห์บุรี  สระบุรี ปทุมธานี  อ่างทอง ในด้านข้อมูลการใช้บริการนั้น ใช้เวลาในการเดินทาง 30 – 90 นาทีในระยะทาง 5 – 20 กม. โดยรับเด็กครั้งละ 10 – 20 คนและ 21 - 30 คน มีค่าใช้จ่าย 300 – 900 บาท/เดือน รถที่ใช้ขนส่งเป็นรถตู้ รถกระบะดัดแปลงและรถสองแถว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ส่วนบุคคล การทำประกันภัยนั้นมีทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ ในด้านพฤติกรรมการใช้พบว่าไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ที่เลือกใช้รถรับส่งนักเรียนนั้นเพราะความสะดวก ไม่มีทางเลือกในการเดินทาง และไม่ทราบข้อมูลของผู้ให้บริการว่าเป็นของใครข้อมูลมาตรการทางกฎหมาย พบกว่ามากกว่า 50%ของผลสำรวจไม่มีการติดป้าย “รถรับส่งนักเรียน” และไฟสัญญาณตามกฎหมายกำหนด ไม่มีอุปกรณ์ความปลอดภัย เช่นฆ้อนทุบกระจก ถังดับเพลง เข็มขัดนิรภัย รวมถึงไม่มีผู้ดูแลที่อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ร้อยละ 30 มีการรับบุคคลอื่นในรถนักเรียน ร้อยละ 45 มีความเห็นว่ารถรับส่งนักเรียนที่ใช้บริการ มีความไม่ปลอดภัย

นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวเสริมผลการสำรวจว่ามีความเห็นจากผู้ปกครองว่าผู้ปกครองเองยังไม่ทราบถึงความปลอดภัยของรถนักเรียนว่าจะต้องเป็นอย่างไร


“ร้อยละ 90 เป็นรถดัดแปลงจากรถยนต์ส่วนบุคคล และไม่มีเข็มขัดนิรภัย ผู้ปกครองขาดความเข้าใจเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินไปโรงเรียน ด้านโรงเรียนขาดการมีส่วนร่วมทางนโยบาย ไม่มีฝ่ายรับผิดชอบ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ปัญหารถรับส่งนักเรียนร่วมกัน ทั้งผู้ปกครอง โรงเรียน กรมขนส่ง ผู้ประกอบการ ตลอดจนส่วนท้องถิ่น” ผู้ประสานงานฯกล่าว


ในเวทีเสวนาความร่วมมือ “การพัฒนาแนวทางเพื่อรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยภาคกลาง” นายอดิศักดิ์ อารีศรีสม ผู้อำนวยการโรงเรียนสิงห์บุรี กล่าวว่าได้มีการเรียกประชุมผู้ประกอบการและโรงเรียนเกี่ยวกับการรับส่ง นักเรียน โดยทางโรงเรียนได้สำรวจพบว่ารถนักเรียนส่วนมากเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลดัดแปลงเป็น 2 แถวจำนวน 40 คัน รถตู้ 13 คัน ซึ่งหากดูความเสี่ยงแล้วรถสองแถวเล็กค่อนข้างมีความเสี่ยง ไม่มีผู้ดูแล
“ในการเลือกรถรับส่งนักเรียนนั้นทางโรงเรียนปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่กรมขนส่งกำหนด พร้อมแนบรายชื่อนักเรียนที่นั่งโดยสารส่งให้โรงเรียน ทางโรงเรียนก็จะต่อใบอนุญาตให้วิ่งรับส่งนักเรียนได้ แต่พบว่าหลังจากนั้นอาจมีข้อบกพร่องไม่มีคนดูแลในรถ มีเด็กยืนท้ายรถ ยังมีปัญหาในการกำกับดูแล” นายอดิศักดิ์กล่าว


นายสุเทพ กุมุท สำนักงานขนส่งจังหวัดอยุธยา กล่าว่ารถรับส่งนักเรียนนั้นขอแยกออกเป็น 2 ส่วนนั่นคือ รถรับส่งของโรงเรียนเอกชนจะไม่ค่อยมีปัญหาเพราะทางโรงเรียนมีระบบบริหารจัดการที่เข้มงวด ซึ่งรถรับส่งนักเรียนที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้เป็นรถรับส่งนักเรียนของโรงเรียนภาครัฐ ซึ่งอาจะมีข้อจำกัดหลายๆอย่าง ทำให้กการแก้ปัญหาอาจไม่ทั่วถึง


“การแก้ปัญหาการบรรทุกเกินของรถรับส่งนักเรียน อาจจะแก้ปัญหาโดยขอความร่วมมือจากสมาคมผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการสอดส่องกำกับความเสี่ยง หรืออาจเรียกเก็บค่าบริการรถรับส่งนักเรียนไปในคราวเดียวกัน”

นางบุศริน เพ็งบุญ รองหัวหน้า แผนงานสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันอุบัติเหตุจราจร ระดับจังหวัด (สอจร.) จังหวัดสิงห์บุรี กล่าวว่า หน่วยงานของตนทำหน้าที่ในฐานะพี่เลี้ยงการดำเนินความปลอดภัยทางถนนของเด็กอยู่แล้วและมีการดำเนินการตลอดโดยร่วมกับกรมขนส่งจังหวัดและสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) มีการลงนามการข้อปฏิบัติความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน แต่ปัญหาก็ยังเกิด อาจมีหลายปัจจัยที่บางโรงเรียนบุคคลากรและงบประมาณไม่เพียงพอ ทำให้บางโรงเรียนยังดำเนินการด้านความปลอดภัยได้

นายมานิต แท่งทอง รอง ผอ.โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จ.อยุธยา กล่าวถึงมาตรการว่าทางโรงเรียนแนะนำให้ทางผู้ปกครองใช้รถรับส่งนักเรียน ซึ่งทางโรงเรียนมองว่าเมื่อนักเรียนออกจากโรงเรียนแล้วไม่ใช่ความรับผิดชอบของโรงเรียน ทางโรงเรียนไม่มีการเก็บข้อมูลรถรับส่งนักเรียนไว้

“ทางโรงเรียนจะดูรายละเอียดด้านรถเท่านั้นเช่นอายุของรถต้องไม่มากจนเกินไป โดยไม่มีการเก็บสถิติรายละเอียดต่างๆและไม่ได้เรียกประชุมผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียนเลย ซึ่งขอเสนอให้มีนโยบายจากสำนักงานเขตการศึกษาบังคับให้โรงเรียนทำ จะได้ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน” รอง ผอ.โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยกล่าว


นายวัฒนชัย ศาสตร์สาระ จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 กล่าวว่าหากจะทำให้เกิดเป็นนโยบายในการขับเคลื่อนเป็นภาคส่วนนั้นสามารถทำได้ โดยต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมของสำนักงานเขต และตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนทั้งกรมขนส่ง ผู้ปกครอง ผู้ประกอบการ โรงเรียน อย่างเป็นระบบ

พิมพ์