จองรถไม่ได้รถ แถมโดนยึดเงินจอง ต้องทำอย่างไร

เขียนโดย อิฐบูรณ์ อ้นวงษา - ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค วันที่ . จำนวนผู้ชม: 15148

ปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนในการจองรถมีหลายลักษณะ คือ จองซื้อรถยนต์แล้วไม่ได้รถตามกำหนดอ้างโน่น อ้างนี่ว่ารถยังไม่มาแล้วให้รอไปเรื่อยๆ  พนักงานขายออกใบเสร็จรับเงินดาวน์ให้ไม่ครบตามจำนวน โดยอ้างว่าหักเป็นค่าอุปกรณ์ และที่มีถี่มากกว่าเพื่อนคือผู้บริโภคร้องเรียนว่า โบรกเกอร์จำหน่ายรถยนต์ประกาศขายรถผ่านทางอินเทอร์เน็ตหรือไม่ก็นิตยสารประเภทคนรักรถ โดยโฆษณาลด แลก แจก แถม ดอกเบี้ยถูกเงินดาวน์ต่ำ

ลูกค้าที่ประวัติการเงินไม่ดีสามารถจองซื้อได้ แต่เมื่อถึงเวลาปรากฏว่ามีเงื่อนไขต่างๆ มากมายจนไม่สามารถรับรถได้ อย่างเช่นจะต้องติดต่อขอสินเชื่อกับไฟแนนซ์ให้ครบ 3 ไฟแนนซ์ก่อน และมีบางแห่งรับเงินจองแล้วปิดบริษัทหนี  คนที่เจอปัญหาแบบนี้ส่วนใหญ่ไม่อยากมีเรื่องก็พากันทิ้งคนจองที่มักจะถูกเรียกเก็บครั้งละ 5 พันบาทกันเป็นแถว กลายเป็นขุมทรัพย์ของนายหน้าขายรถจำนวนมหาศาล ลองคิดดูครับว่าถ้าวันหนึ่งเขามีลูกค้าไปจองรถวันละ 10 รายเก็บรายละ 5 พัน ถ้าสัก 5 คนทิ้งเงินจองรถด้วยเทคนิคต่างๆที่ว่ามาก็เป็นเงินที่คนพวกนนี้รับเต็มๆถึง 25,000 บาทต่อวัน อาชีพขี้โกงแบบนี้น่าทำไม๊ล่ะครับ


สคบ. เห็นถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญากำหนดให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา เมื่อปี 2551 แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบกัน หรอกครับว่าเนื้อหาประกาศนี้มีหน้าตาอย่างไรก็เลยถูกหลอกกินเงินจองอย่างที่ได้ยกตัวอย่างมา

สัญญาจองรถยนต์ที่ถูกต้องตามกฎหมายจะต้องมีสาระและเงื่อนไข ดังนี้ครับ
1.รายละเอียดของรถยนต์ที่จะซื้อ
1.1 ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์
1.2 รายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถมหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ(ถ้ามีนะครับ)
1.3 จำนวนเงินจองหรือมัดจำ
1.4 ราคาขาย


2. กำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์
หากผู้บริโภคพบสัญญาจองที่ขาดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดตามสัญญาที่ สคบ. ควบคุมก็ถือว่าเป็นสัญญาที่ผิดกฎหมาย ศูนย์จำหน่ายรถยนต์ที่ใช้สัญญาเถื่อนนั้นมีโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับครับ

ทีนี้หากผู้บริโภคหลวมตัวเข้าไปวางเงินจองกับสัญญาเถื่อนๆแล้วจะทำอะไรได้บ้างนั้น นอกจากแจ้งความกับตำรวจหรือสคบ.ให้ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว ตัวผู้บริโภคเองก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาขอคืนเงินจองได้ภายใน 15 วันครับ

ไม่ว่าจะเจอปัญหา ถูกปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น , ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ตามกำหนดเวลา , ไม่ส่งมอบรถยนต์ภายในระยะเวลาที่กำหนด , ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีออฟชั่น ของแถม หรือสิทธิประโยชน์ตามที่ได้ตกลงไว้ในสัญญา และที่สำคัญหากศูนย์ขายรถยนต์ทราบว่า ผู้บริโภคที่ต้องขอสินเชื่อและผู้บริโภคไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากไฟแนนซ์ภายในระยะเวลาที่จะต้องส่งมอบรถยนต์กัน ผู้บริโภคมีสิทธิเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาได้โดยทันทีทั้งสิ้น และศูนย์ขายรถยนต์ต้องคืนเงินจองรถให้ผู้บริโภคภายใน 15 วัน  นับแต่วันที่มีการบอกเลิกสัญญาการจองอย่างเป็นทางการ

ข้อแนะนำที่ควรทำเป็นอย่างแรกคือ ให้ผู้บริโภคทำจดหมายบอกเลิกสัญญการจอง โดยชี้ถึงเหตุว่ารถที่ศูนย์จำหน่ายจัดให้นั้นไม่เป็นไปตามสัญญาการจองอย่างใด หรือเป็นเพราะผู้บริโภคไม่ผ่านไฟแนนซ์ จึงขอกบอกเลิกสัญญาการจองและให้บริษัทคืนเงินจองที่ได้จ่ายไปจำนวนเท่าไหร่ก็ว่าไป โดยให้โอนเงินเข้าบัญชี......................เลขที่......................ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากของผู้บริโภค หรือจะให้ชำระเงินโดยวิธีการใดๆก็ว่าไป ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับจดหมายฉบับนี้ ทั้งนี้เป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่อง ให้ธุรกิจขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2551

พร้อมกับสำทับให้จดหมายมีความขลังอีกหน่อยด้วยข้อความว่า “มิเช่นนั้นข้าพเจ้าอาจใช้สิทธิดำเนินการเรียกร้องตามกฎหมายต่อไป” และเพิ่มความขลังขึ้นอีกนิดด้วยการใส่ข้อความท้ายจดหมายว่า สำเนาถึง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค แล้วให้ส่งจดหมายฉบับนี้แบบไปรษณีย์ตอบรับเท่านั้นเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน

วิธีการแบบนี้จะใช้ได้ผลดีกับศูนย์จำหน่ายรถที่มีหลักแหล่งชัดเจน เป็นนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดาที่ได้แสดงสำเนาหลักฐานประจำตัวแนบสัญญาการจองไว้อย่างชัดเจน แต่จะใช้ไม่ได้ผลเอาเลยกับพวกเต้นท์ลอย เต้นท์เถื่อนครับ ข้อสังเกตคือพวกนี้จะเสนอขายรถราคาต่ำมากเป็นพิเศษ แถมออฟชั่นและสิทธิประโยชน์ตามที่ผู้จองขอแบบไม่อั้น แต่พอขอดูรถบอกว่ารถจะมาอีก 2-3 วัน ถ้าอยากได้ต้องรีบวาง เงินจองก่อนไม่งั้นมันจะปล่อยรถให้คนอื่น หากเจอพวกนี้แนะนำผู้บริโภคอย่าไปสุงสิงดีกว่าครับ ไม่งั้นมันจะยุ่งเหยิง พบเมื่อไหร่แจ้งตำรวจหรือ สคบ.เมื่อนั้น  

โทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับครับ ประเคนให้มันไปเลยครับ

พิมพ์