ใช้ก๊าซ-หุงต้มอาหารให้ปลอดภัย

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 22816

ก๊าซหุงต้ม ถูกนำมาใช้ทำอาหารทั้งในครัวเรือนและร้านอาหารมากกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น เนื่องจากใช้งานง่าย สะดวกสบาย แต่ขณะเดียวกันก๊าซหุงต้มมีคุณสมบัติไวไฟและเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถติดไฟอย่างรวดเร็ว จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการระเบิดหรือเพลิงไหม้     

และเพื่อความปลอดภัยจากการใช้ก๊าซหุงต้ม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงมหาดไทย จึงได้แนะวิธีใช้ก๊าซหุงต้มอย่างถูกต้อง ดังนี้ 

การเลือกถังก๊าซ ควรเลือกใช้ถังก๊าซหุงต้มที่มีเครื่องหมายของผู้ผลิต มีตราสัญลักษณ์ เครื่องหมายรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) มีการปิดผนึกบนวาล์วหัวถังก๊าซ ระบุวัน เดือน ปี การทดสอบถังครั้งสุดท้ายซึ่งไม่ควรเกิน 5 ปี รวมถึงมีข้อความว่า อันตราย ห้ามกลิ้ง ห้ามกระแทก เขียนไว้ที่ตัวถัง และระบุน้ำหนักถังอย่างชัดเจน ถังก๊าซควรอยู่สภาพสมบูรณ์ ไม่บุบ ไม่บวมหรือเป็นสนิม 

การติดตั้งถังก๊าซ ควรวางถังก๊าซบนพื้นที่ราบและแข็งแรง ไม่เอียงหรือล้ม ควรติดตั้งเตาก๊าซหุงต้มห่างจากถังก๊าซประมาณ 1.5-2 เมตร ในที่  ที่อากาศถ่ายเทสะดวก อยู่ในบริเวณ   ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างรวดเร็ว   ไม่กีดขวางทางเข้าออก ห้ามกลิ้งหรือกระแทกถังก๊าซ เพราะแรง กระแทกอาจทำให้ถังก๊าซระเบิดได้ 

ไม่ควรตั้งถังก๊าซในห้องใต้ดินหรือพื้นที่ที่ต่ำกว่าระดับพื้นดิน เพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อนจากเตาทำลายท่อส่งก๊าซจนเกิดการรั่วไหล รวมทั้งห้ามตั้งถังก๊าซใกล้แหล่งที่มีความร้อนสูงและบริเวณที่มีประกายไฟหรือเปลวไฟโดยเด็ดขาด ส่วนท่อส่งก๊าซควรใช้สายยางชนิดหนาที่ใช้สำหรับก๊าซเท่านั้น ตลอดจนไม่ติดตั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่อาจก่อให้เกิดประกายไฟไว้ใกล้ถังก๊าซอีกด้วย 

การใช้ก๊าซหุงต้ม ก่อนใช้งานให้เปิดวาล์วที่ถังก๊าซหุงต้ม หากเป็นวาล์วแบบหมุนที่หัวเตา ควรหมุนไม่เกิน 2 รอบ แต่หากเป็นเตาแบบหัวจุดระบบอัตโนมัติ ให้จุดไฟที่เตาก่อนแล้วจึงเปิดวาล์วที่หัวเตา แต่หากเปิดแล้วไฟไม่ติด ห้ามเปิดซ้ำติดต่อกันหลายครั้ง เพราะอาจเกิดการสะสมของก๊าซเป็นจำนวนมาก จนทำให้ไฟพุ่งถูกร่างกายจนได้รับอันตรายหรือลุกลามไปติดวัสดุอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง จนทำให้เกิดไฟไหม้ได้ 

หลังจากใช้งานเสร็จแล้ว ให้ปิดวาล์วถังก๊าซหุงต้มก่อนและรอจนไฟที่เตาดับสนิทแล้วจึงปิดวาล์วที่หัวเตา  

การตรวจสอบรอยรั่วบนถังก๊าซ ให้ใช้น้ำสบู่ลูบตามจุดต่าง ๆ ได้แก่ บริเวณวาล์วก๊าซ แกนลูกบิดที่ใช้เปิด-ปิดเตาก๊าซ และที่สายท่อก๊าซ หากมีฟองสบู่ผุดขึ้นมาแสดงว่าก๊าซรั่ว  

ในกรณีที่ก๊าซรั่ว ห้ามเปิดหรือปิดสวิตช์ไฟฟ้าทุกชนิด และห้ามกระทำการใด ๆ ที่ทำให้เกิดประกายไฟ เพราะอาจทำให้เกิดการระเบิดและเพลิงลุกไหม้ได้ ให้รีบปิดวาล์วที่ถังก๊าซและหัวเตา เปิดประตู หน้าต่างทุกบานเพื่อระบายอากาศให้ก๊าซกระจายออกไป หรือใช้พัดช่วยไล่ก๊าซ จากนั้นให้รีบตรวจสอบหาสาเหตุของการรั่วไหลของก๊าซ

หากมีสาเหตุมาจากถังก๊าซรั่ว หลังปิดวาล์วแล้วให้ยกถังก๊าซไปยังที่โล่งและห้ามกระทำการใด ๆ ที่ทำให้เกิดประกายไฟในบริเวณ  ดังกล่าวอย่างเด็ดขาด แล้วพลิกถังก๊าซให้จุดที่รั่วอยู่ด้านบน เพื่อลดการรั่วไหลของก๊าซแล้วรีบแจ้งช่างผู้เชี่ยวชาญหรือร้านค้ามาดำเนินการแก้ไขโดยด่วน

การปฏิบัติตนหากเกิดไฟไหม้ หากเกิดไฟลุกไหม้ถังก๊าซหุงต้ม ให้ตั้งสติแล้วปิดวาล์วก๊าซหุงต้ม หากปิดไม่ได้ ให้ใช้น้ำสาดตรงจุดที่ติดไฟแรง ๆ ให้ไฟดับหรือใช้เครื่องดับเพลิงฉีดเข้าไปตรงจุดที่เพลิงไหม้แล้วปิดวาล์วก๊าซหุงต้มทันที  

ที่สำคัญ ควรหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์และถังก๊าซหุงต้มให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ดีอย่างสม่ำเสมอและศึกษาวิธีการใช้ก๊าซหุงต้มอย่างละเอียดเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการปฏิบัติตนในกรณีที่ก๊าซเกิดการรั่วไหล รวมทั้งติดตั้งถังดับเพลิงเคมีในบริเวณที่สามารถหยิบใช้ได้ทันทีที่เกิดเพลิงไหม้

เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานและป้องกันการเกิดอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นจากถังก๊าซหุงต้มระเบิด.

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงมหาดไทย

พิมพ์