ข้อมูลเพื่อผู้บริโภค

อาหารแฟรงเกนสไตน์

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 23850

ฟาสต์ฟู้ดก็คือ อาหารหรือขนมที่สั่งเร็ว ได้เร็ว กินเร็ว และราคาไม่แพงจนเกินไป แต่ไม่ได้เป็นอาหารหลัก


ตำนานฟาสต์ฟู้ด
ฟาสต์ฟู้ด (FASTFOOD) หรือที่บางคนเรียกว่า “อาหารจานด่วน” นั้น เป็นคำที่อเมริกันแดนคาวบอยคิดขึ้นมาไว้สำหรับเรียกอาหารหรือขนมทั้งประเภทกินอิ่มหรือกินเล่นเป็นของว่าง โดยมีการตระเตรียมและปรุงไว้จนสำเร็จรูปหรือเกือบสำเร็จรูปแล้วสามารถรับประทานได้ทันที หรือใช้เวลาสำหรับกรรมวิธีขั้นสุดท้ายก่อนรับประทานเพียงแค่ไม่กี่นาที ผู้บริโภคสามารถที่จะนั่งกินในร้านหรือนำออกไปกินนอกร้านก็ได้

พูดง่าย ๆ สไตล์อเมริกัน ฟาสต์ฟู้ดก็คือ อาหารหรือขนมที่สั่งเร็ว ได้เร็ว กินเร็ว และราคาไม่แพงจนเกินไป

ฟาสต์ฟู้ดมี 2 ประเภท พวกแรกคือ อาหารประเภทกินอิ่ม หรือ FULL MEAL FASTFOOD ฟาสต์ฟู้ดพวกแรกนี้จะมีส่วนประกอบจำพวกแป้ง เนื้อสัตว์ และผัก โดยในหนึ่งชุดอาจประกอบไปด้วยอาหารประเภทแป้ง เช่น ขนมปัง มันฝรั่งทอด หรือมันฝรั่งนึ่งอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนเนื้อสัตว์ก็แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน ไก่ย่าง ไก่ทอด และประดับด้วยแตงดอง ผักกาดหอม และมะเขือเทศ อาหารชุดเหล่านี้จะมีทั้งชุดเล็กและชุดใหญ่ตามความต้องการของผู้บริโภค

ส่วนอีกพวกหนึ่งก็คือ SNACK FASTFOOD หรืออาหารกึ่งขนม ถือเป็นอาหารว่างระหว่างมื้อ อาจเป็นอาหารหวานหรืออาหารคาวซึ่งมีรูปแบบมากมาย ตั้งแต่ไอศครีมจนถึงขนมเค้ก โดนัท กรอบเค็ม ข้าวเกรียบ ปอเปี๊ยะ ลูกชิ้นปิ้ง หรือขนมไทยอื่น ๆ
      แต่ถ้าจะให้แบ่งฟาสต์ฟู้ดออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ก็สามารถแบ่งได้ตามกลุ่มธุรกิจที่ประกอบกิจการด้านนี้ได้ 5 กลุ่มคือ
1. กลุ่มพิซซ่า โดยมีพิซซ่าฮัทเป็นผู้นำในกลุ่มนี้
2. กลุ่มแฮมเบอร์เกอร์ มีแมคโดนัลด์เป็นผู้นำทั้งในแง่ของจำนวนร้านค้าและยอดขาย รองลงมาเป็นเอแอนด์ดับลิว และเบอร์เกอร์คิงตามลำดับ
3. กลุ่มไก่ทอด มีเคนตั๊กกี้หรือเคเอฟซีเป็นผู้นำทางการตลาด และมีเชสเตอร์กริลตามติดมาห่าง ๆ
4. กลุ่มโดนัท ผู้เป็นเจ้าครองตลาดก็คือ ดังกิ้นโดนัท และมิสเตอร์โดนัท
5.กลุ่มไอศครีม ซึ่งมีอยู่มากมาย เช่น สเวนเซ่นส์ บาสกิ้น วอลล์ ฯลฯ
     ถึงแม้ว่าธุรกิจฟาสต์ฟู้ดแต่ละกลุ่มจะมีความแตกต่างกันไปในรายละเอียดของการแข่งขัน ทั้งด้านมาตรฐานของสินค้าและการให้บริการ แต่ก็มีจุดประสงค์หลักเดียวกันอยู่ที่มีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายครอบคลุมทุกเพศทุกวัยทั้งนักเรียน นักศึกษา คนทำงานและกลุ่มครอบครัว


ตำนานฟาสต์ฟู้ดในเมืองไทย
วิมปี้ (Wimpy) คือร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดแห่งแรกของเมืองไทย ตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2507 จำหน่ายแฮมเบอร์เกอร์และน้ำส้มคั้น อยู่ที่ศูนย์การค้าราชประสงค์ หลังจากนั้นอีก 8 ปีศูนย์การค้าแห่งนี้ได้ซบเซาลง และร้านวิมปี้ก็ต้องปิดกิจการของตนเองลงตามไปด้วย แต่อาหารฟาสต์ฟู้ดก็ไม่ได้หายไปเพียงแต่เปลี่ยนที่ให้บริการมาอยู่ตามร้านอาหารและคอฟฟี่ชอพ

ต่อมา เคนตั๊กกี้ฟรายด์ชิกเก้น(เคเอฟซี) ได้เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ.2513 แต่ก็ประสบความล้มเหลวเช่นกันเมื่อทหารอเมริกันออกจากเวียดนาม จนกระทั่งปีพ.ศ.2520 ร้านโฮเบอร์เกอร์(Ho-Burger) ได้ถือกำเนิดขึ้นบนย่านศูนย์การค้าสยามสแควร์ เนื่องจากเป็นทำเลที่เหมาะสมเพราะใกล้กับสถานบันการศึกษาที่สำคัญหลายแห่ง ประกอบกับการปรุงแต่งรสอาหารให้เหมาะสมกับลิ้นของคนไทยและที่สำคัญสินค้าอยู่ในราคาที่เหมาะสม ทำให้พิซซ่าหน้าต่าง ๆ พาย ขนมโดนัทและไอศครีมของร้านได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอันมาก และในปีต่อมามิสเตอร์โดนัทได้ถือกำเนิดขึ้น จนเดี๋ยวนี้เฉพาะในกรุงเทพฯมหานครคาดว่ามีฟาสต์ฟู้ดแบบตะวันตกรวมกันมากกว่า 100 ร้าน

ธุรกิจฟาสต์ฟู้ด
โลกธุรกิจความผันแปรย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ การเปลี่ยนแปลงในตลาดฟาสต์ฟู้ดดำเนินไปอย่างไม่หยุดนิ่ง นักการตลาดอาศัยความเข้าใจในรูปแบบของการดำเนินชีวิต ค่านิยม และวัฒนธรรม ที่ไม่ผูกติดอยู่กับค่านิยมเก่า ๆ ของคนในสังคมเพื่อตอบสนองสินค้าให้ตรงกับความสนใจของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย

นายเฮลเตอร์ ชิว ผู้บริหารกิจการบริษัทซีพี-เคเอฟซี เดเวลอปเม้นท์(ประเทศไทย)จำกัด เปิดเผยว่า มิใช่ว่าไก่ทอด เบอร์เกอร์และพิซซ่าจะสามารถครองตลาดส่วนใหญ่ในบรรดาฟาสต์ฟู้ดได้ตลอดไป ฟาสต์ฟู้ดอื่น ๆ จะแทรกตัวขึ้นมาเรื่อย ๆ มีช่องทางและโอกาสอีกมาที่จะเกิดฟาสต์ฟู้ดกลุ่มที่ 4 ได้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นอาหารญี่ปุ่น เม็กซิกัน และที่ฮือฮามากในปัจจุบันคืออาหารไทยในต่างประเทศ

บริษัทเดอะ พิซซ่า คอมปะนี(ประเทศไทย)จำกัด กิจการในกลุ่มบริษัทไมเนอร์ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “พิซซ่า ฮัท” แฟรนไชส์ที่มีชื่อเสียงรู้จักกันดีทั่วโลก บริการฟาสต์ฟู้ดประเภท QUICK SERVICE RESTURANT ที่ควบคุมมาตรฐานของตัวสินค้าและบริการให้ส่งผลดีต่อความนิยมและยอดขายนอกเหนือจากความสำเร็จขั้นต้นของธุรกิจ บริษัทเดอะพิซซ่า คอมปะนี ยังมีโปรดักส์ไลน์อีกหลายชนิด เช่น ไอศกรีมสเวนเซ่นส์ ร้านซิซซ์เล่อร์ ที่จำหน่ายสเต็ก ซีฟู้ด และสลัด

บริษัทแฟ้คท โฮลดิ้ง จำกัด ดำเนินกิจการร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดประเภทพิซซ่าที่มีแฟรนไชส์ภายใต้เครื่องหมายการค้า “พิซซ่า มอลล์”

โรงแรมนารายณ์เจ้าของลิขสิทธิ์การผลิตพิซซ่าภายใต้เครื่องหมายการค้า “นารายณ์พิซเซอเรีย” มีลักษณะการบริการกึ่งฟาสต์ฟู้ดและภัตตาคารในระดับสากลมีลูกค้าเป้าหมายได้แก่วัยรุ่น คนทำงาน และครอบครัว

บริษัทเชคกีส์ (ประเทศไทย)จำกัด ดำเนินธุรกิจร้านอาหารแฟรนไชส์จากต่างประเทศภายใต้เครื่องหมายการค้า “เชคกีส์” พยายามสร้างความเด่นของตัวสินค้า โดยเน้นในเรื่องความหลากหลายของประเภทอาหารในเมนูที่ให้บริการ

“เราพยายามที่จะดำเนินแผนการตลาดแบบเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคโดยตรงซึ่งที่ผ่านมาก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เราเชื่อมั่นว่ากับเป้าหมายที่ตั้งไว้ในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดนี้จะส่งผลให้การแข่งขันรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะหากต่างฝ่ายต่างแข่งขันกันจะเป็นการกระตุ้นให้ตลาดนี้โตขึ้นอีก แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าใครจะหยิบจุดไหนมาแข่งขันกันมากกว่า” ยงยุทธ บุญเปกข์ตระกูล กรรมการบริหารเชคกีส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย

พิซซ่าเอ็กซเพรส นับเป็นน้องใหม่ในวงการที่เปิดตัวโดยอาศัยช่องทางจำหน่ายส่งตรงถึงบ้านเป็นหลัก เป็นจุดเด่นเช่นเดียวกับ “โดมิโน่ พิซซ่า” ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอย่างดีในอเมิรกา

พิซซ่า เอ็กซเพรส มีโครงการที่จะนำระบบสมาชิกเข้ามาให้บริการ เพื่อมอบสิทธิพิเศษพร้อมกับการบริการที่รวดเร็วโดยสามารถส่งถึงมือผู้สั่งภายใน 30 นาที ซึ่งหากเกินเวลาที่กำหนดจะเป็นการให้กินฟรี นอกเหนือจากรสชาติของอาหารผู้บริหารเชื่อว่าการให้บริการที่ทันต่อความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายคือจุดแข่งขันของ “พิซซ่า เอ็กซเพรส”

แมคโดนัลด์ ถือว่าเป็นเจ้าตำรับธุรกิจฟาสต์ฟู้ดที่มียอดขายทั่วโลกเป็นอันดับ 1 ทั้งด้านการผลิต การบริการ การบริหาร และการตลาด แมคโดนัลด์เป็นฟาสต์ฟู้ดที่เข้มงวดเรื่องระบบมาก มีหนังสือคู่มือการทำงานหนาถึง 400 กว่าหน้า บรรจุเนื้อหากว่า 20,000 หัวข้อที่เป็นกลยุทธ์ทางการตลาด

กิจการแมคโดนัลด์ถือกำเนิดขึ้นจากมันสมองของนายเรย์ ครอกด์ อดีตเซลล์แมนที่ดำรงชีพด้วยการเร่ขายถ้วยกระดาษในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ครอกเปิดร้านแมคโดนัลด์แห่งแรกขึ้นที่เดส์เพลนส์ ชานเมืองชิคาโกเมื่อเขามีอายุได้ 52 ปี ก่อนทิ้งทรัพย์สินมูลค่ากว่าร้อยล้านเหรียญสหรัฐหลังเสียชีวิตในวัย 82 ปี

การสร้างกลยุทธ์ในการขยายตลาดออกไปทั่วโลกโดยมีเป้าหมายเน้นที่มาตรฐานของตัวสินค้าและที่มาของความสำเร็จของเรย์ ครอกด์ ได้ปลูกฝังหลักการพื้นฐานให้แก่บริษัทก็คือมาตรฐานความเป็นเลิศ

บริษัท แมคไทย จำกัด ร่วมทุนระหว่างนายเดช บุลสุข และแมคโดนัลด์ คอร์ปอเรชั่น เปิดสาขาที่อัมรินทร์พลาซ่าเป็นแห่งแรก ต่อจากนั้นก็มีการเลือกทำเลที่ตั้งทั้งในกรุงเทพฯและในต่างจังหวัดเพื่อขยายสาขาออกไปอีก รูปแบบการขยายตัวจะมีทั้งแบบที่บริษัทลงทุนเองทั้งหมด หรือการซื้อที่ดินแล้วให้กลุ่มอื่นเข้ามาดำเนินกิจการ และการขายแฟรนไชส์ โดยมุ่งใช้กลยุทธ์การใช้ความพยายามเข้าเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่น ทั้งการช่วยเหลือการกุศล และดัดแปลงรูปแบบของร้านให้เข้ากับความเป็นมาของทำเลที่เปิดขยายสาขา กิจกรรมส่งเสริมการขายจะเน้นที่รายการพิเศษต่าง ๆ เช่น การจัดกิจกรรมร่วมกับโค้ก และฟิล์มสีฟูจิ

แมคโดนัลด์มีสาขารวมมากกว่า 10,500 แห่งในประเทศต่าง ๆ มากกว่า 50 ประเทศ และติดอันดับหนึ่งในสิบของบริษัทที่ใช้งบประมาณด้านการโฆษณามากที่สุดในโลก

บริษัท รอยัลอินดัสตรี้ส์ซัพพลาย เจ้าของแฟรนไชส์ ดังกิ้น โดนัท(ประเทศไทย) ดังกิ้น โดนัท เป็นฟาสต์ฟู้ดที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และพยายามพัฒนาตัวสินค้าให้เหมาะกับทุกวัย ทั้ง ๆ ที่ลูกค้าส่วนใหญ่ของดังกิ้นโดนัทจะเป็นกลุ่มวัยรุ่น มีการขยายสาขาไปต่างจังหวัดที่มุ่งเน้นในจังหวัดใหญ่ ๆ ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา และชลบุรี คาดว่าการขยายสาขาในต่างจังหวัดจะทำให้ธุรกิจของดังกิ้น โดนัทมีอัตราการเติบดตที่สูงขึ้นมากเช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร

บริษัท ไทยแฟรนไชส์ซิ่ง จำกัด ผู้ดำเนินกิจการร้านมิสเตอร์โดนัท มิสเตอร์โดนัทเป็นโดนัทเจ้าแรกที่เข้ามาเปิดกิจการในประเทศไทยและเร่งขยายงานเต็มที่ แต่ถูกกลุ่มเซ็นทรัลเข้าเทกโอเวอร์เพราะส่วนแบ่งตลาดของมิสเตอร์โดนัทยังน้อยกว่าคู่แข่ง บริาทจึงมีเป้าหมายที่จะหันมาจับกลุ่มเป้าหมายลูกค้าที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้นเพื่อให้เป็นคนละตลาดกับคู่แข่ง และเปิดโอกาสให้นักธุรกิจฟาสต์ฟู้ดเข้ามาเป็นผู้ร่วมทุนกับมิสเตอร์โดนัท โดยผู้ร่วมทุนเข้าดำเนินธุรกิจระบบแฟรนไซส์ต้องเน้นมาตรบานเดียวกันกับเจ้าของแฟรนไซส์ทำให้มิสเตอร์โดนัทสามารถขยายตัวออกไปมากขึ้น

พาราวินเซอร์ กำหนดแผนการลงทุนโดยมุ่งเป้าหมายเป็นผู้นำในยุทธจักรฟาสต์ฟู้ด เข้าเทกโอเวอร์แดรี่ควีนพร้อมกับขยายการลงทุนฟาสต์ฟู้ดอีสานชื่อ “มิสเตอร์อีสาน” และมุ่งขยายไลน์ประเภทของอาหารฟาสต์ฟู้ดให้ครบวงจร

ยูเอฟเอ็มในเครือศรีกรุงวัฒนา เป็นผู้บุกเบิกวงการเบเกอรี่ โดยมีรูปแบบฟาสต์ฟู้ดทั้งเบเกอรี่และอาหารอื่น ๆ ยูเอฟเอ็ม มีข้อได้เปรียบตรงที่มีสถาบันสอนทำอาหารของตนเอง และสามารถระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯได้มากเพื่อขยายแฟรนไชส์

ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดแตกสาขาเป็นทวีคูณ เปลี่ยนพฤติกรรมการกินของคนไทย ทั้งฟาสต์ฟู้ดไทยและต่างชาติทุ่มทุนขยายสาขาครอบครองพื้นที่ชุมชน กลุ่มเจ้าของกิจการฟาสต์ฟู้ดอย่างเช่น เอสแอนด์พี สีฟ้า นู้ดเดิ้ลการ์เด้น กานดา มิสเตอร์โดนัท ดังกิ้นโดนัท เอแอนด์ดับบลิว เคนตั๊กกี้ ฟราย ชิกเก้น ยูเอฟเอ็ม แมคโดนัลด์ พิซซ่าฮัท เบอร์เกอร์คิง โคคา แดรี่ควีน เมจิคกริลล์ อาร์บี้ อีสานคลาสสิค พิซซ่ามอลล์ โฮเบอร์เกอร์ เช็กกี้พิซซ่า เชสเตอร์กริลล์ พิซเซอเรีย พิซซ่า… ทำให้การทำโปรโมชั่นเพื่อส่งเสริมการขาย ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดยังคงขยายตัวต่อไปในอัตราเฉลี่ย 8-10 เปอร์เซ็นต์ โดยแต่ละเจ้าใช้เงินลงทุนประมาณ 5-70 ล้านบาท แมคโดนัลด์เป็นธุรกิจฟาสต์ฟู้ดที่ใช้เงินลงทุนในการเปิดสาขามากที่สุดในวงเงิน 30-70 ล้านบาท

ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดขยายตัว
ในแอฟริกามีรายงานกล่าวว่า การเติบโตของร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดยังคงเพิ่มขึ้นในตลาดต่อไปเรื่อย ๆ ขณะที่ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดบางชื่อ เช่น เคนตั๊กกี้ ฟรายชิกเก้น และพิซซ่าฮัท ก็สามารถเข้าไปเปิดสาขาในพื้นที่ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เป็นตลาดปิดสำหรับอาหารฟาสต์ฟู้ด ได้แก่ ประเทศจีนและโซเวียต

บริษัทแมคดดนัลด์มีระบบการสร้างเครือข่ายสาขาเป็นปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ตัวอย่างที่แมคโดนัลด์นำมาอ้างอิงอยู่เสมอก็คือ การตกลงกันระหว่างแมคโดนัลด์กับบริษัทเจ.อาร์.ซิมพล็อตแห่งไอดาโฮ โดยซิมพล็อตได้กลายเป็นผู้ตอบสนองมันฝรั่งแก่แมคโดนัลด์ราวปีละ 3 ล้านกิโลกรัมเพื่อนำมาใช้ทำเฟร้นฟรายด์ สำหรับสาขาต่างประเทศของแมคโดนัลด์มีอยู่ทั่วโลก ทั้งยุโรป ลาตินอเมริกาและเอเซียโดยเฉพาะอย่างยิ่งในญี่ปุ่น

ชาร์ลีน ไพรซ์ และอัล ลินสตรอม เปิดเผยผลงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ของยูเอสดีเอที่ได้รับการตีพิมพ์ลงในนิตยสารเนชั่นแนลฟู้ด รีวิวของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯว่า ประเทศแคนาดาเป็นตลาดแฮมเบอร์เกอร์ที่ใหญ่ที่สุด ส่วนญี่ปุ่นเป็นตลาดสำหรับอาหารที่เกี่ยวกับไก่ และประเทศออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์เป็นตลาดสำหรับพิซซ่า

สำหรับแมคโดนัลด์ เคนตั๊กกี้ฟรายชิกเก้น เบอร์เกอร์คิง และเว็นดี้ เป็นร้านฟาสต์ฟู้ด 4 แห่งของอเมริกาที่มีเครือข่ายมากที่สุด

ในกลุ่มประเทศโซเวียต แมคโดนัลด์ได้เปิดสาขาโดยร่วมทุนกับบาโบญาซึ่งเป็นกิจการด้านเกษตรกรรมที่ใหญ่ที่สุดของฮังการี เจ้าหน้าที่ของแมคโดนัลด์เปิดเผยว่า บริษัทได้เซ็นสัญญาร่วมลงทุนกับคณะผู้บริหารกรุงมอสโกเพื่อสร้างศูนย์แปรรูปอาหารฟาสต์ฟู้ดออกจำหน่าย นอกจากนี้แมคโดนัลด์ยังจะใช้เนยและเนื้อสัตว์ในโซเวียต แต่จะมีการนำเข้ากระดาษห่อแฮมเบอร์เกอร์และอุปกรณ์บรรจุภัณฑ์อื่น ๆ จากยูโกสลาเวีย ทางด้านแรงงานมีการจ้างงานวัยรุ่นชาวโซเวียตหลังเลิกเรียน

เคนตั๊กกี้ฟรายด์ชิกเก้นในกรุงปักกิ่งเป็นฟาสต์ฟู้ดที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาเครือข่ายทั้งหมดของเคนตั๊กกี้ที่มีอยู่ทั่วโลก เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างจีน-อเมริกา โดยตั้งอยู่ที่ข้างจตุรัสเทียนอันเหมิน ในแต่ละวันจะมีชาวจีนและชาวต่างประเทศยืนเข้าแถวเพื่อลองลิ้มรสชาติของไก่ทอดลือชื่อชนิดนี้

ในยุคที่ผู้หญิงญี่ปุ่นกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ต้องออกไปทำงานนอกบ้านจึงไม่มีเวลาที่จะทำอาหารเย็นอีกต่อไป และความบันเทิงในครอบครัวได้กลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากคนญี่ปุ่น การสั่งอาหารเย็นมากินที่บ้านจึงได้รับความนิยมตามไปด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้การแข่งขันของตลาดฟาสต์ฟู้ดยี่ห้อต่าง ๆ ในญี่ปุ่นเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว

กิจการอาหารฟาสต์ฟู้ดที่มุ่งขยายตัวสู่ยุโรป ต่างให้ความสนใจกับบริษัทอาร์เจอาร์นาบิสโก้ต้นตำรับคุกกี้นาบิสโก้ วอล์คเกอร์ และสมิธส์ คริสป์ในอังกฤษ สำหรับในฝรั่งเศสก็มีขนมปังกรอบ เบอลิน อาหารขบเคี้ยว คุกกี้ แป้งเพสรี้แช่แข็ง ส่วนกิจการในอิตาลีเป็นขนมปังกรอบและคุกกี้ไซวา นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมอาหารในลอนดอนกล่าวว่า เนื่องจากธุรกิจฟาสต์ฟู้ดต้องใช้เวลายาวนานในการสร้างชื่อเสียงทำให้นักธุรกิจที่ทำกิจการอาหารในอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี กลายเป็นแหล่งดึงดูดให้ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดหลายแหล่งต้องการซื้อตรายี่ห้อของบริษัทที่มั่นคงแล้วเพื่อการขยายตลาดฟาสต์ฟู้ดของตน

อาหารฟาสต์ฟู้ดเกือบทุกประเทศมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง ในมาเลเซียเร่งการแข่งขัน เอ แอนด์ดับบลิว เครือข่ายกิจการฟาสต์ฟู้ดที่เก่าแก่ที่สุดของมาเลเซีย เปิดสาขาในเมืองกัวลา ตรังกานู สามารถทำยอดขายได้สูงเป็น 3 เท่าของที่คาดการณ์ไว้เดิม ในขณะเดียวกัน เชิร์ชส์ ฟิลด์ เครือข่ายของอเมริกาก็กลับมาในตลาดอีกครั้งด้วยชื่อใหม่ เท็กซัส ฟรายด์ ชิกเก้น ที่คาดการณ์ว่า สถานการณ์ของตลาดฟาสต์ฟู้ดเปลี่ยนแปลงไปและเปิดโอกาสกว้างมากขึ้น ในขณะที่แมคโดนัลด์กำลังช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดกับเคนตั๊กกี้ ฟรายด์ ชิกเก้น ที่กำลังโตเร็ว เครือข่ายกิจการฟาสต์ฟู้ดหลายแห่งคาดหวังที่จะเพิ่มยอดขายของตนโดยการกระจายประเภทของสินค้า รวมทั้งคุณภาพของอาหารและการให้บริการ ส่วนบรรดาผู้นำในตลาดฟาสต์ฟู้ดต่างก็เร่งปรับปรุงรูปแบบของธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด

ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมอาหารฟาสต์ฟู้ดส่วนใหญ่จะเลือกใช้วิธีการลดราคาของตัวสินค้า แต่รายงานของแอดเวอร์ไทซิ่งเอจก็เปิดเผยว่า เครือข่ายของร้านฟาสต์ฟู้ดในอเมริกาหลายแห่งเลือกใช้วิธีเพิ่มรายการอาหารในการแก้ไขปัญหายอดขายชะลอตัว ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนแผนการตลาดจากมุ่งเน้นที่ภาพพจน์มาเป็นเน้นที่ตัวสินค้าเป็นหลัก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เครือข่ายฟาสต์ฟู้ดจำนวนมากต้องเร่งเพิ่มประเภทรายการอาหารก็เพราะอุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ดขยายตัวออกไปมากจนเกินความต้องการของตลาดจึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งด้านราคาและมาตรฐานของอาหาร ตลอดไปจนถึงการให้บริการที่สะดวก สะอาด และรวดเร็ว

สำหรับกลยุทธ์ในการแข่งขันของธุรกิจฟาสต์ฟู้ดก็คือ การทุ่มงบโฆษณากันอย่างเต็มที่ในการเป็นสปอนเซอร์ และการทำโปรโมชั่นใหญ่ๆ โดยเฉพาะการมุ่งโฆษณาทางทีวีเน้นกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น ในขณะที่สื่อโฆษณากลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของกลุ่ม ผู้บริโภคในปัจจุบัน

ในฐานะของผู้บริโภคเราคงจะต้องทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิของตนเองในการเลือกบริโภคสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสุขภาพของร่างกายและจิตใจ โดยคำนึงถึงคุณค่าความปลอดภัยสุขภาพอยามัยที่เราควรจะได้รับ เพื่อสร้างอายุที่ยืนยาวให้มีความผาสุกในการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมบริโภคเช่นที่เป็นอยู่ ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดทำให้เกิดผลเป็นวงจรอย่างต่อเนื่อง ระดับชุมชนจนถึงประเทศ

ผู้ที่หันมาลงทุนทางธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ดในบ้านเราล้วนแต่มีเงินทุนหนาและมาแรงด้วยกันทั้งนั้น เพราะร้านฟาสต์ฟู้ดไม่ใช่ร้านขายข้าวแกงหรือร้านก๋วยเตี๋ยว แต่เป็นร้านที่ต้องใช้ความกว้างขวางทางธุรกิจของกลุ่มผู้ลงทุน ยิ่งเป็นบริษัทที่ร่วมทุนกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศก็ยิ่งต้องแข่งขันให้ธุรกิจของตนยิ่งใหญ่กว่าฟาสต์ฟู้ดที่เปิดบริการกันอยู่ก่อนแล้ว

การขยายสาขาของร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดมากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้เกิดผลในการจัดหาวัตถุดิบเพื่อนำมาใช้ประกอบอาหารมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะวัตถุดิบทางการเกษตรอย่างเช่น เนื้อ ผัก และไก่

ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดทำให้เกิดผลเป็นวงจรอย่างต่อเนื่อง เช่น เมื่อมีความต้องการเนื้อเพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้เกิดการขยายการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ทั้งฟาร์มโคเนื้อโคนม ที่มีกรรมวิธีการเลี้ยงอย่างเป็นขั้นตอนมีโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน กาแฟ มันฝรั่ง ผัก และมะเขือเทศจะได้รับการเร่งกรรมวิธีในการปลูก การบำรุงรักษา เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีมาตรฐานเช่นเดียว และยิ่งร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดขยายสาขาออกไปมากเท่าไร ความต้องการใช้ภาชนะจำพวกกล่อง ถ้วยใส่น้ำที่ทำด้วยกระดาษอาบไขมันก็เพิ่มมากขึ้น

หากมองในมุมมองหนึ่ง ถือได้ว่า “ธุรกิจฟาสต์ฟู้ด เป็นอุตสาหกรรมชนิดหนึ่งที่มีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจ การจ้างงานในประเทศไทย คนมีงานทำมากขึ้น แต่หากย้อนกลับมามองครอบครัวอาจจะมีผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจของครอบครัว เพราะถ้าเราไปรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดเราจะต้องใช้จ่ายต่อมื้อมากขึ้น และมีผลกระทบโดยตรงต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัว สมาชิกในครอบครัวใกล้ชิดกันน้อยลง เนื่องจากต่างคนต่างแสวงหาอาหารที่ตนเองขอบ และใช้เวลาอยู่นอกบ้านมากขึ้น ตรงนี้อาจทำให้เกิดปัญหาต่อครอบครัวและสังคมได้” เป็นทัศนะอันน่าสนใจจากนักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข รศ.ดร.วัฒนา สุวรรณแสง จั่นเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

ฟาสต์ฟู้ด หลากสไตล์
เราอาจจะเคยเข้าใจผิดว่า อาหารฟาสต์ฟู้ดมีแต่ของอเมริกันเท่านั้นแต่ความจริงแล้วในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็มีอาหารกินด่วนประเภทนี้ด้วยกันทั้งสิ้น

เราอาจจะเคยเข้าใจผิดว่า อาหารฟาสต์ฟู้ดมีแต่ของอเมริกันเท่านั้นแต่ความจริงแล้วในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็มีอาหารกินด่วนประเภทนี้ด้วยกันทั้งสิ้น แม้แต่เมืองไทยของเราก็มี ฟาสต์ฟู้ดที่มีอยู่หลากหลายสไตล์เราอาจแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ดังนี้

1. ไทยสไตล์ฟาสต์ฟู้ด
ก็คือพวกอาหารจานเดียวทั้งหลายนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นขนมจีนน้ำยาของภาคใต้จนถึงขนมจีนน้ำเงี้ยวและข้าวซอยของภาคเหนือ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อของภาคกลาง ก๋วยเตี๋ยวจันทน์ผัดไทยของภาคตะวันออก ข้าวหมูแดง เส้นหมี่ลูกชิ้นหมู และอาหารเจของภาคตะวันตก ส่วนภาคอีสานที่ขึ้นชื่อลือชาจนกลายเป็นอาหารชาติไปแล้วคือ ข้าวเหนียว ส้มตำ ลาบ ไก่ย่าง หมูย่าง และต้มเครื่องในชนิดต่าง ๆ

2. อเมริกันฟาสต์ฟู้ด
คงต้องยกให้แฮมเบอร์เกอร์เป็นอันดับหนึ่งในด้านการครองตลาด รองลงมาได้แก่ไก่ทอด ไส้กรอก และเบคอน อเมริกันสไตล์ฟาสต์ฟู้ดจะมีจำหน่ายเป็นชุดพร้อมเครื่องดื่ม ทำการผลิตและให้บริการต่อวัน เน้นคุรภาพด้านความสดและรสชาติที่คงที่

3. ฟาสต์ฟู้ดชนิดอื่น ๆ
ปัจจุบันพิซซ่าซึ่งเป็นอาหารอิตาลีได้มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น มีการพัฒนาวนประกอบอาหารตลอดจนรสชาติให้เป็นสไตล์ไทย ๆ จึงเป็นอาหารที่คนไทยนิยมมากชนิดหนึ่ง


นอกจากนี้ ก็มีบะหมี่ทั้งแบบและรสชาติในสไตล์ญี่ปุ่น หรืออาหารจีนจากฮ่องกง เช่น ขนมจีบ ซาลาเปา และตบท้ายกันด้วยบะหมี่ไก่ หรือราดหน้าด้วยหมู เนื้อ กุ้ง และอาหารทะเลอีกนานาชนิด

ฟาสต์ฟู้ดต้องกินให้น้อยลง
นักวิชาการด้านโภชนาการ จากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “การรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดเป็นประจำจะเกิดการสะสมของไขมัน และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาโรคหัวใจ เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบหรือเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ไขมันอุดตันและโรคอ้วนเพิ่มขึ้น”

รศ.ดร. ประไพศรี ศิริจักรวาล นักวิชาการด้านโภชนาการ จากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “การรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดเป็นประจำจะเกิดการสะสมของไขมัน และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาโรคหัวใจ เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบหรือเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ไขมันอุดตันและโรคอ้วนเพิ่มขึ้น”


แต่เดิมกลุ่มคนที่เป็นโรคเหล่านี้จะมีอายุประมาณ 40 –50 ปี เมื่อไม่มีฟาสต์ฟู้ดอเมริกัน ปัจจุบันพบว่า คนอายุเพียง 30 ปีก็เป็นโภคเหล่านี้แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับภาวะอ้วนของเด็กวัยรุ่นในปัจจุบัน จากการสำรวจผู้รับบริการตรวจสุขภาพตามห้างสรรพสินค้า ในระยะเวลา 4-5 ปีของสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า กลุ่มเด็กวัยรุ่นมีปัญหาเรื่องโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น เด็กผู้ชายมีภาวะอ้วนสูงถึง 16 เปอร์เซ็นต์และ 13 เปอร์เซ็นต์ในเด็กผู้หญิงจากจำนวนเด็กประมาณ 300 คนและเช่นเดียวกันกับประเทศอเมริกา ที่พบว่า อาหารฟาสต์ฟู้ดทำให้เส้นเลือดของเด็กอุดตันและเริ่มมีการการของเส้นเลือดตีบ บางรายถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งๆที่อายุอยู่ในช่วง 7- 24 ปีเท่านั้น



กินฟาสต์ฟู้ดมากเกินไปจะเกิดอะไรขึ้น
จากการวิเคราะห์คุณค่าอาหารฟาสต์ฟู้ดในอเมริการและในประเทศไทยนักโภชนาการและนักวิชาการด้านอาหารได้ชี้ให้เห็นว่า อาหารฟาสต์ฟู้ดทุกชนิดมีสารอาหารที่ไม่สมดุล ให้พลังงานมากกว่าที่ร่างกายต้องการในหนึ่งมือ มีแร่ธาตุโซเดียมสูงมาก มีธาตุเหล็ก ทองแดงและวิตามินเอต่ำในฟาสต์ฟู้ดบางชนิด บางร้านได้แก้ปัญหาความไม่สมดุลของอาหารโดยจัดให้มีมุมสลัดผัก แต่ผู้บริโภคก็ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ขณะที่เนื้อสัตว์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรคดังกล่าว การรับประทานอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอย่อมไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพอย่างแน่นอน หากมีความจำเป็นต้องรับประทานฟาสต์ฟู้ดเป็นประจำไม่ควรเลือกินซ้ำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

ประเทศไทยเป็นที่มีความอุดมสมบูรณ์มีอาหารสดในบริโภคทุกฤดูกาล และฟาสต์ฟูดส์แบบไทยดูจะเหมาะสมมากกว่า เพราะให้พลังงานไม่สูงนักเหมาะกับเมืองไทยซึ่งมีอากศร้อนและที่สำคัญราคาถูกกว่า แถมเป็นอาหารที่มีกากใยซึ่งเป็นประโยชน์กับร่างกาย

วัยรุ่นคือเหยื่อ..?ฟาสต์ฟู้ด
กลุ่มวัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเจริญเติบโตทางร่างกายอย่างรวดเร็ว และด้วยความที่เป็นเด็กในเมืองมีอาหารการกินที่พรั่งพร้อมหลายรูปแบบ ทั้งที่คุณค่าสมดุลและไม่สมดุลแนวโน้มก็คือเด็กจะได้รับอาหารทีมีไขมันและพลังงานมากเกินไปแล้วโรคอ้วนก็จะตามมาในที่สุด

กลุ่มวัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเจริญเติบโตทางร่างกายอย่างรวดเร็ว มีการสะสมไขมันในร่างกายมากกว่าวัยเด็กโดยเฉพาะเพศหญิง เด็กจะหิวเก่ง กินไม่เลือก ง่วงนอนง่าย เป็นระยะกำลังกินกำลังนอนและด้วยความที่เป็นเด็กในเมืองมีอาหารการกินที่พรั่งพร้อมหลายรูปแบบทั้งที่คุณค่าสมดุลและไม่สมดุลแนวโน้มก็คือเด็กจะได้รับอาหารทีมีไขมันและพลังงานมากเกินไป ทั้งนี้เนื่องมาจากอิทธิพลของการโฆษณาทำให้เกิด การกินตามค่านิยม พบว่า อาหารฟาสต์ฟู้ดส่งผลให้เด็กกรุงเทพฯ มีภาวะโภชนาการเกินถึงร้อยละ 20 กลุ่มวัยรุ่นจึงเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วง ในเรื่องความเสียงต่อโรคอ้วนจากภาโภชนาการ

จากการสำรวจของกลุ่มผู้นำเยาวชนเพื่อผู้บริโภค พบว่าลูกค้าสวนใหญ่ที่มาใช้บริการในร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด คือ วัยรุ่นซึ่งมีอายุอยู่ระหว่าง 15-25 ปี โดยมีเหตุผลในการรับประทานคือ หาสถานที่พบปะสังสรรค์เพื่อนฝูงและเห็นว่าอาหารประเภทนี้รสชาติค่อนข้างอร่อย บริการที่ทันสมัย สะดวกรวดเร็ว แต่ราคาค่อยข้างแพงหากเปรียบเทียบกับคุณค่าอาหาร

ศาสตราจารย์แพทย์ดร.เทพพนม เมืองแมน คณบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า สำหรับคนไทยเรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่และกินได้ตลอด 24 ชั่งโมง ทั้งอาหารของเราก็มีมากขึ้น อย่างในชนบทขณะนี้ เด็กที่ขาดสารอาหารระดับ 3 แทบจะไม่มีเลย ระดับ 2 ก็มีน้อยมาก มีแต่ระดับ 1 ซึ่งสังเกตได้ว่าเด็กตัวเล็กกว่าปกติ แต่เด็กไทยรุ่นใหม่ในเขตเมืองตัวโตขึ้นมาก โดยเฉพาะในเขตกรุ่งเทพมหานคร มีผลวิจัยของหลายสถาบันแสดงว่า ตามโรงเรียนต่างๆ มีเด็กอ้วนมากมายสาเหตุก็มาจากการกินอาหารมากหรือภาวะโภชนาการล้นเกิน

ขณะนี้หลักวิชาทางการแพทย์ถือว่าน้ำหนักตัวคนเรา ไม่ควรเกินมาตรฐาน 15 เปอร์เซ็นต์ นี่เป็นข้อมูลล่าสุดจากสหรัฐอเมริกา วิธีคิดน้ำหนักมาตรฐานก็คือ ให้เอา 100 ลบส่วนสูงที่วัดได้เป็นเซนติเมตร เหลือเศษเท่าไรก็คือน้ำหนักที่ควรจะเป็น เช่นผู้ที่มีความสูง 170 เซ็นติเมตร ก็ควรมีน้ำหนักราว 70 กิโลกรัม ถ้าเกินก็ต้องไม่มากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ชีวิตจึงจะหลอดภัย

แพทย์หญิงสาคร ธนมิตต์ ที่ปรึกษาสถาบันวิจับโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “เด็กญี่ปุ่นในขณะนี้นิยมฟาสต์ฟู้ดกันมาก ทำให้เด็กจำนวนถึง 70 เปอร์เซ็นต์ มีประมาณโคเลสเตอรอลในเลือดสูงเกินไป อาจเป็นเหตุให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจแข็ง รัฐบาลญี่ปุ่นจึงต้องรณรงค์ให้เด็กออกกำลังการกันมากขึ้น สำหรับในประเทศไทยเรานั้นพบว่า อัตราการเป็นโรคอ้วนในเด็กชั้นประถมและมัธยมมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ”

ผลงานวิจัยของเดวิด เบนตัน และกวิลีม โรเบิร์ตส์ มีเป้าหมายหลักเพื่อศึกษาว่า การเพิ่มสารอาหารจำพวกวิตามินและแร่ธาตุจะมีผลต่อระดับสติปัญญาหรือไอคิวของเด็กหรือไม่ จากผลการวิจัยได้ข้อสรุปว่า สารอาหารจำพวกวิตามินและแร่ธาตุ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเพิ่มระดับสติปัญญาหรือความฉลาดของคนเรา

สำหรับเด็กๆที่กำลังเจริญเติบโต อาหารเพื่อสุขภาพคือ อาหารที่มีสารอาหารครบทุกหมวดหมู่ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาของร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญา ควรรับประทานพืชผักผลไม่ที่ให้เส้นใยอาหารที่เป็นประโชน์ต่อร่างกายทุกวัน อย่างน้อยวันละ 20 –30 กรัม/วัน จะเป็นปริมาณที่เหมาะสม


ข้อควรปฏิบัติในการเลือกกินฟาสต์ฟู้ด
1.อย่ารับประทานเป็นของว่างหรือขนม เพราะอาหารฟาสต์ฟู้ดมีแครอรี่สูงเทียบเท่ากับอาหารเต็มมื้อ
2.เลือกขนาดเสิร์ฟก่อนรับประทานและรับประทานให้น้อยลง เช่นพิซซ่า 1 ที่ ควรรับประทานไม่เกินครึ่งที่ หรือรับประทานแฮมเบอร์เกอร์ โดยไม่มีมันฝรั่งทอด ก็จะลดปริมาณไขมันลงได้
3.ระวังการสั่ง ถ้ากำลังระวังเรื่องเกลือก็อาจสั่งไม่ใส่เกลือ หรือไม่ควรสั่งเนยโรยหน้าพิซซ่ามากเป็นพิเศษ เพราะอาจทำให้ได้ไขมันมาไปด้วยเช่นกัน
4.ควรเลือกชนิดของอาหารอย่างถ้วนถี่ เพราะหารบางชนิดมีปริมาณไขมันมากกว่าชนิดอื่น
5.ไม่ควรรับประทานซ้ำชนิด จำเจ
6.อย่ารับประทานเกินสัปดาห์ละ 1.2 ครั้ง

ข้อมูลจาก หนังสือ ทำไมต้องกิน ฟาสต์ฟู้ดให้น้อยลง
วนิดา อยู่ประพัฒน์ เรียบเรียง
สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการ
จัดพิมพ์โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

{mxc}

 

 

พิมพ์