ข้อมูลเพื่อผู้บริโภค

ซื้อของเข้าบ้าน

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 9347

สารเคมีทำความสะอาดสุขภัณฑ์ในบ้านเรือนและพลาสติกห่อของเป็นสาเหตุทำให้จำนวนสเปิร์มของผู้ชายลดลง ข้อน่าชื่นชมอยู่ที่รายการข่าวประจำวันซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนดูโทรทัศน์กันสูงสุดให้ความสนใจต่อข่าวคราวที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ข่าวนี้จึงน่าจะเป็นประโยชน์มาก ทว่าน่าเสียดายที่ผู้ประกาศออกจะเน้นและเป็นห่วงต่อการลดลงของสเปิร์มมากกว่าจะกล่าวถึงรายละเอียดว่าผงซักฟอกและน้ำยาทำความสะอาดประเภทไหนและสารเคมีตัวใด



พลาสติกประเภทไหนที่ก่อผลดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามยังอยากเชียร์ให้หยิบข่าวประเภทนี้มาเสนออีกในช่วงเวลาอย่างนี้ อย่างน้อยก็จะกระตุ้นให้ผู้ชมในฐานะที่เป็นผู้บริโภคสนใจเรื่องราวของอันตรายที่อยู่ใกล้ตัวที่สุด ในบ้านซึ่งเป็นสถานที่ที่เราคิดว่าปลอดภัยที่สุดนี้

    สารเคมีที่มนุษย์ทำขึ้นเข้ามาอยู่ในบ้านเรือนและถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองมาแล้ว และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ผ่านการทดสอบมากพอในเรื่องของความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในบ้านเราบางตัวจึงอาจมีสารเคมีที่เป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ และทำให้ทารกในครรภ์มารดาที่ได้รับสารเคมีเกิดมาพิการก็ได้ นี่เป็นกรณีที่ร่างกายได้รับเข้าไปมากๆนะคะ ส่วนผลที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับปริมาณน้อยๆก็อาจจะมีอาการแพ้ ซึ่งแสดงออกมาในรูปของการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ เศร้าซึม ร่างกายอ่อนเพลียเรื้อรัง มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง จนถึงโรคหืดหอบ โดยที่เด็ก หญิงมีครรภ์ และทารกในครรภ์จะอ่อนแอต่อสารพิษในสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนทั่วไป

    อาการแพ้ที่เกิดขึ้นก็เช่น จากการแพ้ผงชูรส สี คลอรีนในน้ำยาฟอกขาว ผงซักฟอก กลิ่นและสีย้อมในกระดาษชำระ เป็นต้น ยิ่งถ้าคุณกำลังตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาทำความสะอาดสุขภัณฑ์ สเปรย์ปรับอากาศ น้ำยาย้อมผมและสเปรย์แต่งผมเสียนะคะ

    ความจริงแล้วร่างกายของเรานั้นสามารถต่อกรกับสารพิษในสิ่งแวดล้อมได้ระดับหนึ่งซึ่งแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป บางคนอาจแพ้สิ่งหนึ่งแต่ไม่แพ้อีกสิ่งหนึ่ง บางคนอาจตรงกันข้าม ฉะนั้นการแพ้หรือไม่แพ้อะไรนอกจากจะขึ้นอยู่กับสารเคมีชนิดนั้นๆแล้ว ยังขึ้นอยู่กับร่างกายของเราเองด้วย

    เดบรา ลินน์ แดดเป็นตัวอย่างหนึ่ง ระบบภูมิคุ้มกันของเธอล้มเหลว ทีแรกแพทย์เองก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเธอได้พยายามค้นหาสาเหตุ จนในที่สุดก็พบสาเหตุร่วมกันสองประการที่ทำให้เธอเป็นเช่นนี้ นั่นคือ ความเครียดสูงและการได้รับพิษจากสารเคมีอย่างรุนแรง

    ท่านผู้อ่านอาจเดาว่าเธอทำงานในโรงงานสารเคมีหรืออยู่ในสถานที่ที่ปนเปื้อนสารเคมีอย่างหนัก แต่เปล่าเลย เธอเป็นนักดนตรีคลาสสิค

    เดบรา ลินน์ แดด ได้เขียนไว้ใน The non-toxic home ว่า สารเคมีที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเธอมีปัญหานั้นอยู่ในบ้านของเธอเอง ทั้งยังเตือนว่า ในทุกหลังคาเรือนที่ขยันซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบเข้าบ้านก็อาจเป็นอย่างเธอได้เช่นกัน

    จากวารสาร The East West Journal คาโรลีน รูเบ็น ได้อ้างถึงกรณีศึกษาที่ใช้เวลานาน 15 ปีในการศึกษากลุ่มหญิงแม่บ้านอายุ 16-64 ปี พบว่า หญิงแม่บ้านมีอัตราตายด้วยโรคมะเร็งสูงเป็น 2 เท่าของผู้หญิงที่ออกไปทำงานนอกบ้าน โดยผู้วิจัยได้กล่าวถึงสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ว่า เนื่องมาจากสารก่อมะเร็งที่มีอยู่ในน้ำยาทำความสะอาด เช่น ปิโตรเลียม ดิสทิลเลต,เบนซีน,แนพทา,สารไฮโดรคาร์บอนและแอมโมเนีย

    งานศึกษาอีกชิ้นหนึ่งของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา หรือ EPA พบว่ามีสารเคมี 11 ชนิดที่เป็นอันตรายและเราจะได้รับจากในบ้านมากกว่าจะพบข้างนอก ได้แก่ ควันบุหรี่ สเปรย์ปรับอากาศ ลูกเหม็น สีทาบ้าน และตัวทำละลายทั้งหลาย

เดบรา ลินน์ แดด ได้เขียนไว้ใน The non-toxic home ว่า สารเคมีที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเธอมีปัญหานั้นอยู่ในบ้านของเธอเอง ทั้งยังเตือนว่า ในทุกหลังคาเรือนที่ขยันซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบเข้าบ้านก็อาจเป็นอย่างเธอได้เช่นกัน


    เดบรา ลินน์ แดดเองก็ได้พยายามทำบัญชีรายชื่อผลิตภัณฑ์ในบ้านที่เป็นหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของสมาชิกในครอบครัวขึ้นมาชุดหนึ่ง ปรากฏว่าบัญชีรายชื่อผลิตภัณฑ์ที่เธอทำขึ้นมีเกือบ 100 ชนิด ซึ่งในที่นี้จะได้เลือกมานำเสนอเพื่อเป็นคู่มือที่คุณๆซึ่งมีภาระหน้าที่ที่ต้องซื้อของเขาบ้านจะได้นำไปประกอบการพิจารณาก่อนซื้อนะคะ

    เราจะเริ่มจากห้องนั่งเล่น ผลิตภัณฑ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเราได้แก่ พรมสังเคราะห์ วอลล์เปเปอร์ เครื่องเรือนที่ทำจากไม้อัด ม่านที่ทำจากโพลีเอสเตอร์และอะคริลิค รวมทั้งต้นไม้ประดิษฐ์

    ส่วนในครัว สถานที่ที่เราใช้ประกอบอาหารรับประทานเองก็มีอันตรายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เช่น น้ำยาล้างจาน สารกำจัดแมลง เตาไมโครเวฟ เครื่องครัวเคลือบเทฟลอน น้ำยาทำความสะอาดเตาอบ น้ำยาทำความสะอาดคราบอาหารที่ติดตามเตาแก๊ส ตู้ไม้อัด พลาสติกห่ออาหาร และอาหารกระป๋อง และแม้แต่น้ำประปาก็อาจมีอันตรายได้เช่นกัน

    เข้าห้องน้ำ เราก็จะเจอสเปร์ยจัดแต่งทรงผม วัสดุดับกลิ่นและปรับอากาศ เครื่องสำอาง สบู่ขจัดกลิ่นตัว ยาสีฟันฟลูออไรด์ น้ำยาล้างเล็บและเคลือบเงาเล็บ แป้งฝุ่น ผ้าอนามัยแบบสอด ม่านไวนิลกั้นส่วนอาบน้ำ

    ส่วนซักล้าง ผลิตภัณฑ์อันตรายได้แก่ น้ำยาฟอกผ้าขาว ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม และน้ำยาฉีดผ้าเรียบ
สำหรับอุปกรณ์ทำงานในบ้าน ก็ได้แก่ คอมพิวเตอร์ ปากกาเขียนไว้ท์บอร์ดแบบลบไม่ออก น้ำยาลบคำผิด
นี่เป็นตัวอย่างเบาะๆนะคะ แต่คุณเดบรา ลินน์ แดด เธอสรุปให้ดูน่ากลัวขึ้นว่า ปัจจุบันนี้ ในบ้านเรือนเราโดยเฉลี่ยมีสารเคมีมากกว่าในห้องทดลองเมื่อศตวรรษก่อนเสียอีก

    ผลิตภัณฑ์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้บางชนิดเราได้พูดถึงอันตรายของมันไว้แล้วในฉลาดซื้อฉบับที่ผ่านๆมา อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่ทำจากไวนิลคลอไรด์ หรือ พีวีซี ไม่ว่าจะเป็นพรม วอลล์เปเปอร์ ม่านกั้นส่วนอาบน้ำ พลาสติกห่ออาหาร ผงซักฟอก สารกำจัดแมลง คอมพิวเตอร์ ฉบับนี้เราจะพูดถึงอันตรายที่เกิดขึ้นโดยรวมและอาการเมื่อได้รับพิษหรือเกิดการแพ้ของผลิตภัณฑ์บางชนิดที่เรามักซื้อเข้าบ้านโดยไม่ได้เฉลียวใจว่ามันอาจจะมีสารเคมีบางอย่างที่เป็นอันตรายต่อเราและสมาชิกในครอบครัว ได้แก่

ยูเรีย ฟอร์มาลดีไฮด์ เรซิน(urea formaldehyde resin)ในไม้อัด
    เป็นเรซินสังเคราะห์ที่ใช้ในการเชื่อมเศษกระดาษ เศษไม้ ขี้เลื่อยเข้าด้วยกัน เป็นไม้อัดหรือกระดาษอัด เมื่อนำไม้อัดหรือกระดาษอัดมาทำเครื่องเรือน ฟอร์มาลดีไฮด์จะถูกปล่อยออกมาจากเรซินเป็นเวลานาน ผู้ที่แพ้ฟอร์มาลดีไฮด์จะมีอาการระคายเคืองที่ตา จมูก คอ ปอด ปวดศีรษะ เศร้าซึม สูญเสียความจำและเวียนศีรษะ ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาได้ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ไม้อัดที่ทำจากยูเรีย ฟอร์มาลดีไฮด์เรซินแล้ว

พรม
    พรมปูพื้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลายเสียงเห็นพ้องต้องกันว่ามีอันตรายมากที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่นิยมปูพรมเต็มห้องและติดเครื่องปรับอากาศ พรมสังเคราะห์ที่ผลิตจากโพลียูริเทนโฟมจะปลดปล่อยสารพิษบางตัวที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองออกมา คือ ไดบูทิล ไฮดรอกซีโทลูอีน แม้แต่ในพรมขนสัตว์ก็ยังอาจมีสารกำจัดแมลงตกค้างอยู่ สารพิษที่ถูกปล่อยออกมาจากพรมนี้จะมากในช่วง 1-2 เดือนแรก จากนั้นปริมาณก็จะลดลง ซึ่งหากร่างกายเราสัมผัสสารพิษนี้ในปริมาณสูงๆตั้งแต่แรก ระยะหลังแม้สารพิษจะน้อยลงเราก็อาจจะเกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน

    นอกจากนั้น พรมยังเป็นเครื่องดักฝุ่นชั้นเยี่ยม หนังสือพิมพ์มติชนได้พูดถึงอันตรายจากพรมในแง่นี้ไว้ในคอลัมน์คลีนิคมติชนว่า ฝุ่นเล็กๆที่ล่องลอยอยู่ในอากาศนั้นมีเชื้อโรคแฝงอยู่มากมาย เมื่อพรมอมฝุ่นก็จะอมเชื้อโรคที่ว่านี้ไว้ด้วย หากฝุ่นและเชื้อโรคเพิ่มจำนวนขึ้นก็อาจทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจได้ เช่น หลอดลมอักเสบ เยื่อบุจมูกอักเสบ โรคภูมิแพ้ โรคผิวหนัง

เครื่องใช้พลาสติก
    พลาสติกใช้ในบ้านที่อันตรายที่สุด คือ พีวีซี เพราะมันจะปลดปล่อยสารพิษไวนิลคลอไรด์ออกมา สารพิษตัวนี้เป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้ทารกพิการตั้งแต่เกิด เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคผิวหนัง แผลพุพอง หูหนวก ตาพร่า การทำงานของตับผิดปกติ ในบ้านเราจะพบพีวีซีได้จากวอลล์เปเปอร์ ต้นไม้ประดิษฐ์ กระเบื้องยางปูพื้น ภาชนะบรรจุอาหาร ของเล่นเด็ก เทปคาสเซ็ท ม่านกั้นส่วนอาบน้ำ ร่ม ท่อน้ำ เป็นต้น

    นอกจากนี้ก็ยังมีเครื่องครัวที่เคลือบด้วยเทฟลอนซึ่งช่วยให้อาหารไม่ติดภาชนะนั้น เราอาจคิดไม่ถึงว่าเทฟลอนก็เป็นพลาสติก และอาจทำให้ผู้ใช้มีปัญหาในการหายใจ เกิดอาการระคายเคืองตา จมูก คอ เป็นต้น

    บางครั้งเรายังอาจสวมใส่เสื้อผ้าพลาสติก(โพลีเอสเตอร์ ไนล่อน อะคริลิค) นอนบนพลาสติก(ที่นอนโพลียูริเทนโฟม)ที่ปูด้วยพลาสติก(ฝ้ายผสมโพลีเอสเตอร์) ห่อผ้าห่มอะคริลิค

    โพลีเอสเตอร์นั้นอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองที่ตา ทางเดินหายใจ ส่วนไนล่อนก็อาจทำให้ผิวหนังเป็นผื่นคันได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ใช่ว่าพลาสติกทุกชนิดจะอันตรายไปเสียทั้งหมดนะคะ ที่ปลอดภัยก็มีเช่นกัน เช่น เซลลูโลสพลาสติกที่ใช้ทำด้ามปากกา ดินสอ ด้ามแปรงสีฟัน หรือเมลามีนที่ทำถ้วยจาน เบคไล้ท์ที่ใช้ทำด้ามหม้อ ฟอร์ไมก้า ใช้ปูพื้นผิวโต๊ะ ตู้

น้ำยาทำความสะอาดเครื่องครัว

    บางชนิดมีโซดาไฟ (caustic soda หรือ Sodium Hydroxide)มีฤทธิ์กัด ทำให้เกิดอาการระคายเคืองตาและผิวหนัง

สารฟอกขาว
    ทำจากคลอรีน ซึ่งผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตและการแตกตัวของสารฟอกขาวนี้จะได้สารออร์กาโนคลอรีนซึ่งมีความเป็นพิษสูง ถ้าต้องการใช้สารฟอกขาวให้ใช้สารที่ทำจากไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์แทน และข้อควรระวังคือไม่ควรใช้กับผ้าอ้อมและเสื้อผ้าเด็ก ถ้าจำเป็นให้ใช้น้ำมะนาวผสมเกลือและน้ำซักตากแดด

น้ำยาฆ่าเชื้อโรค
    ปัจจุบันนี้มีการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในบ้านกันมากขึ้นและอย่างไม่จำเป็น ก่อนซื้อให้ดูฉลาก เพราะน้ำยาฆ่าเชื้อที่มี cresol เป็นส่วนประกอบจะมีความเป็นพิษสูง

ผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นในห้องน้ำ
    น้ำยาทำความสะอาดโถส้วมจะฆ่าแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในการย่อยสลายของโสโครก ซึ่งแทนที่จะเป็นผลดีกลับเป็นผลเสียมากกว่า นอกจากนั้นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ดับกลิ่นบางชนิดไม่ว่าจะเป็นแบบก้อนหรือน้ำที่มี พาราไดคลอโรเบนซีนเป็นส่วนประกอบยังเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าอีกด้วย

สเปรย์และผลิตภัณฑ์ปรับอากาศ
    ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สร้างความหอมให้บรรยากาศในบ้านคุณไม่ว่าจะเป็นอย่างฉีดพ่น หรืออย่างกระป๋องก็ตาม แทนที่จะทำให้อากาศบริสุทธ์(เพราะหอม)อย่างที่คุณคิด กลับเป็นแหล่งมลพิษทางอากาศในบ้านเลยทีเดียว แถมยังอาจมีสารเคมีที่เป็นอันตรายได้ กลิ่นระเหยของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ได้ทำให้อากาศในบ้านหอมขึ้น แต่จะไปกลบกลิ่นอื่นและทำให้อวัยวะรับกลิ่นของเราหมดความรู้สึกไป สารให้กลิ่นบางตัว อย่างเช่น กลิ่นมะนาวสังเคราะห์(limonene) และ imidazoline ทำให้สัตว์ทดลองเป็นมะเร็ง

น้ำยาซักแห้ง
    ในน้ำยาซักแห้งที่ผลิตเป็นการค้ามีสารเคมีสองตัวคือ เปอร์คลอโรเอทิลีน(perchloroethylene ;PER) ซึ่งพบปนเปื้อนในน้ำดื่มโดยอาจจะเกิดจากการกำจัดที่ไม่ถูกวิธี สัญลักษณ์ของสารตัวนี้เป็นตัวPมีวงกลมล้อมรอบ ปรากฏให้เห็นบนฉลากเสื้อผ้าที่ต้องการการซักแห้ง การสัมผัสสารชนิดนี้นานๆโดยเฉพาะคนงานร้านซักแห้งจะทำให้ระบบประสาทมีปัญหา ปอดเสีย ไตเสียได้

    สารเคมีอีกตัวหนึ่งที่ใช้ในน้ำยาซักแห้งคือ R113 หรือ CFC113และArklone ซึ่งเป็นอันตรายต่อชั้นโอโซน สัญญลักษณ์ของสารตัวนี้คือตัวอักษรFในวงกลม

    ฉะนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารพิษจากน้ำยาซักแห้งให้หลีกเลี่ยงการใช้เสื้อผ้าที่ปรากฏสัญญลักษณ์ดังกล่าวนี้ ความจริงเราอาจจะใช้วิธีส่งซักมากกว่าที่จะซักแห้งเอง แต่นั่นก็แปลว่าทำให้ร้านซักแห้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนงานในร้าน รับเคราะห์แทนเราไป

    ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เรามักพบในบ้านเรือนของเราบ่อยๆ ซึ่งในความเป็นจริงอาจมีผลิตภัณฑ์อีกหลายชนิดที่มีสารเคมีซึ่งอาจก่อพิษเป็นส่วนประกอบอยู่ เพราะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเกิดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราต้องใช้วิจารณญาณในการพิจารณาให้มาก

ข้อควรระวังในการซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นพิษ
    บางครั้งเราอาจรู้สึกถึงความจำเป็นต้องซื้อหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นพิษเข้าบ้าน เช่น สารเคมีกำจัดแมลงในบ้าน โดยเฉพาะยุง แมลงวัน หนู แต่ทว่าบางครั้งเราซื้อเพราะผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นบอกเราว่ามันจะมาช่วยทุ่นเวลาและทุ่นแรงเรา เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเครื่องใช้ในครัวเรือนบางชนิด ที่โฆษณาว่า แค่ฉีดแล้วเช็ด ทำให้เราอยากทดลองใช้ เพราะเราจะได้เหนื่อยน้อยลง แต่การเหนื่อยน้อยลงของเราอาจแลกด้วยการรับสารพิษเข้าไปสะสมในร่างกายทีละน้อย และในที่สุดเราอาจประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับคุณเดบรา ลินน์ แดด ก็ได้

    ด้วยเหตุนี้ ในบางกรณีที่คุณสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นพิษได้ก็จงใช้เถอะค่ะ แม้ว่าจะเหนื่อยมากขึ้น หรือหากคุณจำเป็นต้องใช้สารพิษจริงๆให้อ่านคำแนะนำในการใช้และกำจัดทำลายให้ละเอียดถี่ถ้วน เมื่อซื้อมาใช้แล้วสิ่งที่ไม่ควรทำก็คือ อย่าเปลี่ยนถ่ายภาชนะบรรจุ ยกเว้นในกรณีที่ภาชนะบรรจุเดิมรั่วหรือเสียหาย เมื่อเปลี่ยนภาชนะแล้วควรเขียนป้ายกำกับให้ชัดเจน และใส่ไว้ในตู้ที่ล็อคกุญแจเรียบร้อย

    นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์สารพิษที่คุณไม่ใช้แล้วนั้น ไม่ควรทิ้งลงส้วมเด็ดขาด เพราะนอกจากจะทำลายแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ในการย่อยสลายของโสโครกแล้วยังอาจเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย รวมทั้งไม่ควรเทลงไปในท่อระบายน้ำด้วย เพราะอาจซึมเข้าสู่ระบบน้ำกินน้ำใช้ในท้องถิ่นคุณ ส่วนการเผาทำลายก็ไม่ใช่ทางออกที่ดี แม้จะเผาในเตาเผาขยะก็ตาม เพราะจะทำให้เกิดควันพิษกระจายไปได้มากขึ้นและรุนแรงขึ้น แม้ว่าเราจะนำไปฝังก็ยังอาจทำให้เกิดการซึมไหลลงดินและน้ำได้

    จะเห็นได้ว่า เมื่อเราซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารเคมีมีพิษมาใช้ในบ้านเรือนแล้ว การกำจัดทำลายภาชนะบรรจุหรือสารพิษที่เหลือใช้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆและดูจะไม่มีทางเป็นไปได้เลย ทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ พยายามลด เพื่อจะได้เลิกได้ในที่สุด ฉบับหน้าเราจะเสนอทางเลือกใหม่ที่ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ที่อาจเป็นพิษต่อเราและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในบ้านเรือน ทดแทนสารพิษที่เราบอกคุณว่าไม่ควรใช้ ซึ่งแม้ว่าผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเหล่านี้อาจทำให้เราต้องลงแรงและใช้เวลามาก แต่นี่จะเป็นพื้นฐานให้บ้านของเราเป็นบ้านปลอดสารพิษได้ในอนาคต

วารสารฉลาดซื้อฉบับที่ 13
ประจำเดือนธันวาคม 2539 - มกราคม 2540

พิมพ์