ภาคประชาชนไม่รับร่าง พ.ร.บ.กสทช ชี้นำมาสู่การแย่งชิงทรัพยากร

เขียนโดย เบญจมาศ ลาวงค์ วันที่ . จำนวนผู้ชม: 23453

590804 news
เครือข่ายสื่อภาคประชาชนและองค์กร แสดงจุดยืนไม่ยอมรับร่าง พ.ร.บ.กสทช. ชี้เป็นร่างที่นำมาสู่การแย่งชิงทรัพยากรของชาติ และทำลายหลักการความเป็นองค์กรอิสระเพื่อกการปฏิรูปสื่อ เสนอให้มีตัวแทนผู้บริโภค สิทธิเสรีภาพ ในกรรมการ ลดบทบาทคณะกรรมการดิจิทัลฯ

วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2559 เครือข่ายสื่อภาคประชาชนและองค์กรผู้บริโภค จัดแถลงข่าวข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.กสทช. ซึ่งทางเครือข่ายฯ มองว่าเป็นการมอบอำนาจให้คณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อำนาจควบคุมกำกับดูแล กสทช. ตั้งแต่กระบวนการสรรหาไปจนถึงการวินิจฉัยชี้ขาดกรณีมีปัญหากับการดำเนินการระหว่าง กสทช. กับ แผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถือว่าเป็นการครอบงำองค์กรอิสระและเป็นการแทรกแซง กสทช.

นางสาวสุวรรณา จิตประภัสสร์ ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.กสทชว่า ฉบับนี้มีการกำหนดให้ใช้อำนาจควบคุมไปกับคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล เป็นการให้อำนาจที่เปิดทางให้ครอบงำองค์การอิสระและเป็นการแทรกแซงกิจการของรัฐ

“ อะไรก็ตามแต่ถ้ากลับเข้าไปสู่ศูนย์รวม ถ้าไม่มีการกระจายอำนาจประชาชนและนักธุรกิจขนาดกลาง ที่กำลังจะเข้าสู่กระบวนการ จะติดขัดเมื่อคลื่นความถี่กลับเข้าไปในระบบรัฐเพียงอย่างเดียว ร่างฉบับนี้อยู่ในคณะกรรมาธิการพิจารณาวิสามัญ แต่ในประชามติที่กำลังเกิดขึ้นถ้าผ่านจะมีการเขียนร่างใหม่ทั้งหมด จะผ่านหรือไม่ผ่านคลื่นความถี่ก็เป็นของรัฐอยู่ดี” นางสาวสุวรรณากล่าว

นายวิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.กสทช. ตัวใหม่คิดว่าเป็นปัญหาใหญ่สำหรับวิทยุชุมชน ตั้งแต่กระบวนการสรรหา เมื่อก่อนมีสัดส่วนของตัวแทนชุมชนแต่ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็โดนตัดไปซึ่งร่างตัวใหม่ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ชุมชนโดยแท้จริง

“ปัจจุบันมีคลื่นวิทยุ 4,000 สถานี มีวิทยุชุมชนมีเพียง 200-300 สถานี การคืนคลื่นเมื่อกลับมาจัดสรรใหม่ ตอนนี้ชุมชนใช้คลื่นชั่วคราวมากว่า 10 ปี ซึ่งมีการทับซ้อนการใช้คลื่นและมีสัญญาณว่าภายใน พ.ร.บ.กสทช. จะจัดสรรให้ ถ้าร่าง พ.ร.บ. ตัวใหม่เกิดขึ้น ถ้าคลื่นเก่ามีความจำเป็นต้องใช้ก็จะสามารถให้ใช้ต่อไปได้” นายวิชาญกล่าว

ในประการสำคัญ การลดอำนาจคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับการปฏิบัติงานของ กสทช. ให้เป็นเพียงคณะกรรมการกำกับการประเมินการปฏิบัติงาน กสทช. เท่ากับเป็นการปิดช่องทางการตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของคณะกรรมการ กสทช. และตกอยู่ในสถานะเป็นเพียงกลไกตรวจสอบภายในเท่านั้น อาจทำให้องค์กรนี้ยิ่งเป็นองค์กรที่ขาดความโปร่งใส และขาดธรรมาภิบาลมากขึ้น

อนึ่งทางเครือข่ายภาคประชาชนมีข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้คือ

1. ให้นำกระบวนการสรรหาที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. กสทช.ปี 2553 กลับมาใช้เพื่อเป็นหลักประกัน การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่เป็นเจ้าของคลื่นความถี่

2. ให้กำหนดตัวแทนด้านคุ้มครองผู้บริโภคให้ชัดเจนว่าเป็นหนึ่งในกรรมการชุดนี้ และกำหนดคุณสมบัติกรรมการด้านผู้บริโภคต้องมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ กำหนดจำนวนปีของประสบการณ์การทำงาน ให้เท่าๆ กับผู้สมัครกรรมการด้านอื่น

3. ให้กำหนดตัวแทนกรรมการด้านสิทธิเสรีภาพ เป็นหนึ่งในกรรมการชุดนี้ เพื่อรับประกันสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรคลื่นของประชาชนอย่างทั่วถึง

4. ให้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับการประเมินเป็นคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ของ กสทช. ตามเดิม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในความโปร่งใสขององค์กร และให้คงข้อกำหนดเรื่องเปิดเผยรายงานตรวจสอบของ กตป. ไว้อย่างเดิมด้วย

5. ให้เพิ่มกรรมการ กตป. ที่เชี่ยวชาญด้านคุ้มครองผู้บริโภคและด้านสิทธิเสรีภาพในคณะกรรมการตรวจสอบฯ เพื่อถ่วงดุลการบริหารงานของ กสทช.

6. ให้ลดบทบาทคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในการกำกับดูแล กสทช. ให้มีความเท่าเทียมกันและมีความร่วมมือในการทำงานในระดับเดียวกันเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

7. ให้ประเด็นเรื่องการจ่ายค่าชดเชยในการเรียกคืนคลื่นความถี่ฯ ออกไป และให้ดำเนินการตามเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายปี ๒๕๕๓ กล่าวคือ เรียกคืนคลื่นความถี่ทั้งหมดเพื่อนำมาจัดสรรใหม่อย่างเป็นธรรม

8. ให้ตัดประเด็นการนำเงินกองทุนไปลงทุน เพราะกองทุนมีวัตถุประสงค์ต่างๆ ชัดเจนอยู่แล้วในเรื่องการทำบริการอย่างทั่วถึงทั้งด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ในการคุ้มครองผู้บริโภค การเสริมความเข้มแข็งประชาชน เรื่องการเท่าทันสื่อและเทคโนโลยีสื่อสาร ร่าง พ.ร.บ. นี้ต้องพึงเคารพจุดประสงค์หลักของกองทุนที่กำหนดให้นำไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะและช่วยเหลือคนด้อยโอกาสทั่วไป

9. ให้กำหนดว่าอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ได้มาตามมาตรา 31 ของ พ.ร.บ.กสทช.ปี 2553

ให้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องร้องเรียน มิใช่มีเพียงแค่พิจารณากลั่นกรองเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเท่านั้น เพื่อประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคอย่างแท้จริง

ภาพและข่าวโดย เบญจมาศ ลาวงค์

พิมพ์