เครือข่ายผู้บริโภคโวย กสทช. เลือกปฏิบัติ ลอยแพผู้บริโภคค่ายดีแทค

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค วันที่ . จำนวนผู้ชม: 59270

IMG 7356

เครือข่ายผู้บริโภค แถลงประณาม กสทช. เลือกปฏิบัติ เหตุลอยแพผู้บริโภคค่ายดีแทค พร้อมตั้งคำถาม กสทช. ทำหน้าที่กำกับดูแลสมศักดิ์ศรีหรือไม่

         วันนี้ (13 กันยายน พ.ศ. 2561) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และคณะอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ด้านสื่อและโทรคมนาคม (คอบช.) ประณาม กสทช. กรณีมีมติด้วยเสียงข้างมาก 4 ต่อ 2 เมื่อวานนี้ ไม่ให้ดีแทคเข้าสู่มาตรการเยียวยาลูกค้าที่ใช้บริการบนคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ หลังสัมปทานสิ้นสุด ระบุการตัดสินใจของ กสทช. ในครั้งนี้ เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน และสะท้อนการไม่เห็นค่าผู้บริโภค ตั้งคำถาม กสทช. ทำหน้าที่กำกับดูแลสมศักดิ์ศรีหรือไม่

IMG 7367

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอดีตประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมของ กสทช.

          สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอดีตประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมของ กสทช. กล่าวว่า จากการติดตามกรณีของมาตรการเยียวยามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ซึ่งเกิดเหตุสิ้นสุดสัมปทานบริการโทรศัพท์มือถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย พบว่า ทาง กสทช. ได้ออกประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 มารองรับการสิ้นสัมปทานของบริษัททรู มูฟและบริษัท ดิจิตอล โฟน (DPC –บริษัทในเครือ AIS) ทำให้ทั้งสองบริษัทได้อยู่ในมาตรการเยียวยานานนับปี นั่นคือได้ใช้คลื่นความถี่ต่อโดยไม่ต้องมีการประมูล  ต่อมาในปี 2558 ก็มีการใช้ประกาศดังกล่าวกับกรณี AIS สิ้นสัมปทานอีก ซึ่ง กสทช. อ้างว่า การให้บริการในช่วงเยียวยานั้นเป็นการให้บริการแทนรัฐ รายได้จะไม่ตกเป็นของบริษัท ต้องนำมาคืนรัฐ แต่ปรากฏว่าจนบัดนี้ทั้งสองบริษัทก็ยังไม่ได้นำส่งรายได้ที่จัดเก็บจากการให้บริการช่วงเยียวยาที่ผ่านมาเข้าเป็นงบประมาณของแผ่นดินแต่อย่างใด

ทางเครือข่ายผู้บริโภคเราไม่เห็นด้วยกับการออกประกาศนั้นของ กสทช. เพราะเห็นว่าเป็นสัมปทานจำแลง เอื้อประโยชน์ให้เอกชนให้บริการต่อโดยไม่ต้องจ่ายค่าใช้ทรัพยากรให้รัฐ รวมทั้งนักวิชาการและนักกฎหมายก็คัดค้านกันมาก เนื่องจากเป็นการออกกฎที่มีปัญหาเรื่องฐานอำนาจและความชอบธรรม แต่ กสทช. ก็อ้างประโยชน์ของผู้บริโภคดึงดันออกประกาศมา ซึ่งยอมรับมีส่วนดีต่อผู้บริโภคจริง เนื่องจากทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องเผชิญภาวะซิมดับแบบปัจจุบันทันด่วน ดังนั้นการเยียวยาตามประกาศนี้จึงถือว่าเป็นบรรทัดฐานแบบ กสทช. ในการรับมือกับสถานการณ์การสิ้นสุดสัมปทานมือถือมาโดยตลอด แต่มาคราวนี้ในกรณีของดีแทค ซึ่งเป็นเหตุการณ์สุดท้ายของการสิ้นสุดสัมปทานมือถือ การที่ กสทช. เปลี่ยนบรรทัดฐานจึงเป็นเรื่องต้องตั้งคำถามอย่างหนักว่าเกิดจากสาเหตุใด มีอะไรเป็นแรงจูงใจ” สารีกล่าว

IMG 7382

พวงทอง ว่องไว อนุกรรมการในคณะอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ด้านสื่อและโทรคมนาคม

พวงทอง ว่องไว อนุกรรมการในคณะอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ด้านสื่อและโทรคมนาคม ระบุว่า ข้ออ้างของ กสทช. ที่ว่า ดีแทคมีลูกค้าบนคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ เพียงประมาณ 95,000 เลขหมาย โดยเป็นลูกค้าทั่วไปประมาณ 60,000 ซึ่งเทียบกับยอดรวมของซิมดับจากการสิ้นสัมปทานที่ผ่านมามีกว่า 400,000 เลขนั้น เป็นการเปรียบเทียบแบบพูดความจริงไม่ครบและละเลยรายละเอียด เพราะเรื่องความเดือดร้อนจากซิมดับไม่ได้มีสาระอยู่ที่จำนวนมากน้อยเป็นสำคัญ แต่อยู่ที่ว่าซิมที่ดับนั้นเป็นซิมที่มีการใช้งานมากน้อยเพียงใด และคนที่ต้องพึ่งพาหรือใช้งานซิมนั้นมีทางเลือกอื่นใดหรือไม่ รวมทั้งมีระยะเวลาเพียงพอที่จะจัดการปัญหาหรือไม่ นอกจากนั้น กสทช. ยังจงใจละเลยผู้ใช้บริการของทางบริษัท DTN จำนวน 22 ล้านเลขหมายที่มีการโรมมิ่งร่วมใช้คลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ของทางดีแทคด้วย

เท่าที่ทราบ ในกรณี DPC เมื่อตอนสิ้นสัมปทานปี 2556 ก็มีลูกค้าเรือนหมื่นเช่นเดียวกัน ดูเหมือนจะน้อยกว่าดีแทคด้วยซ้ำ แต่ กสทช. ก็อ้างลูกค้าส่วนโรมมิ่งของ AIS ที่มีกว่า 20 ล้านเบอร์ แต่มาคราวนี้กลับบอกว่าไม่เกี่ยว ดังนั้นประเด็นสำคัญในที่นี้คือ ทำไมกรณีทรูกับ DPC กสทช. ให้เวลาลูกค้าของ 2 บริษัทได้นานกว่า 2 ปี แต่กรณีดีแทคไม่ให้เวลาแม้แต่วันเดียว ทั้งที่คลื่นความถี่ก็ยังว่างอยู่ ไม่ได้มีการใช้งาน นี่จึงเป็นการเลือกปฏิบัติแบบสุดโต่งชนิดที่ไม่อาจยอมรับได้ และไม่ใช่การเลือกปฏิบัติต่อดีแทคเท่านั้น แต่เลือกปฏิบัติกับผู้บริโภคกลุ่มที่เป็นลูกค้าของดีแทคด้วย” พวงทองกล่าว

IMG 7398

จุฑา สังขชาติ อนุกรรมการในคณะอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ด้านสื่อและโทรคมนาคม

ด้านจุฑา สังขชาติ อนุกรรมการในคณะอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ด้านสื่อและโทรคมนาคม ชี้ว่า กรณีที่เกิดขึ้นในขณะนี้ถือว่าไม่ปกติและน่าจับตาว่าเป็นเกมส์อะไรของใคร เนื่องจากเมื่อไม่มีช่วงเยียวยาให้ทางดีแทคจัดการปัญหาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผู้ใช้บริการของดีแทคก็ต้องเป็นฝ่ายจัดการปัญหาเอง ซึ่งมีทางเลือกคือการย้ายค่ายหรือทิ้งซิม-ทิ้งเบอร์เท่านั้น โดยที่ขณะนี้เวลาก็กระชั้นมากแล้ว เหลือเพียง 2 วัน ประกอบกับ กสทช. มีท่าชัดเจนมาแต่ต้น คือมีการออกมาประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าเป็นเดือนเรื่องซิมดีแทคจะดับ ซึ่งเป็นท่าทีที่ชี้นำให้ลูกค้าหนีออกจากค่ายดีแทค และอาจส่งผลลดฐานลูกค้าของค่ายนี้ โดยที่ท่าทีดังกล่าวไม่เคยทำมาก่อน  จึงน่าสงสัยในเจตนาและความสำนึกรู้ของ กสทช. ว่าได้ทำบทบาทที่เหมาะสมในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลหรือไม่ ทั้งนี้ ในระยะยาว มองว่า หากเหตุการณ์นี้บานปลาย ก็จะส่งผลลดการแข่งขันในตลาดบริการมือถือของไทย และอาจกระทบต่อคุณภาพบริการด้วย เพราะหากลูกค้าจากค่ายดีแทคเทไปบางค่ายมากเกินกว่าความสามารถของโครงข่ายนั้นที่จะรองรับ ผลกระทบก็จะเกิดทั้งต่อลูกค้าใหม่และลูกค้าเก่า

สำหรับทางแก้นั้น สารี ระบุว่า กสทช. ควรเร่งนำคลื่นความถี่ออกประมูลอีกครั้ง โดยปรับกติกาให้สมเหตุสมผล โดยเฉพาะเรื่องราคาตั้งต้นประมูล ควรมีการศึกษาหาราคาที่เหมาะสม แล้วออกแบบการประมูลให้เป็นเรื่องของการแข่งขันจริงจัง เพื่อให้เกิดการกำหนดราคาโดยตลาดอย่างแท้จริง ไม่ดันทุรังตีกรอบในสิ่งที่ไม่ควรตี นอกจากนั้นก็ควรให้ดีแทคเข้าสู่มาตรการเยียวยาจนกว่าที่จะมีการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อที่บริการจะได้มีความต่อเนื่องและมีคุณภาพดีเพียงพอ

          “กสทช. ควรทำหน้าที่ให้สมศักดิ์ศรี เป้าหมายการกำกับดูแลควรคำนึงถึงผู้บริโภค ทำอย่างไรให้มีบริการที่ดีและเพียงพอรองรับผู้บริโภคไทยทั้งประเทศ โดยเป็นบริการที่มีความต่อเนื่อง ทั้งนี้ เราไม่ได้สนใจว่าบริการที่ต่อเนื่องนั้นเกิดจากการให้บริการของรายเก่าหรือรายใหม่ แต่สำคัญคือผู้บริโภคต้องไม่เดือดร้อนและมีบริการที่ดีให้ใช้” สารีกล่าว

ติดตาม Facebook LIVE เรื่อง ‘กสทช. เลือกปฏิบัติ ลอยแพผู้บริโภคค่ายดีแทค’ ได้ที่ เฟซบุ๊กมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

Tags: กสทช. , ดีแทค

พิมพ์