
ทั้งนี้ คดีความดังกล่าวต่อเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา ดีแทคได้ฟ้องร้องคณะกรรมการ กสทฯ และ กสทฯ โดยขอให้ศาลมีคำสั่งใน 5 เรื่องหลัก คือ 1.เพิกถอนสัญญาโครงการ 3 จี เอชเอสพีเอระหว่าง กสทฯ และกลุ่มทรู 2.ห้าม กสทฯ ปฏิบัติตามสัญญาโครงการ 3 จี เอชเอสพีเอกับกลุ่มทรู 3.ให้ยกเลิกสัญญาโครงการ 3 จี เอชเอสพีเอ 4.ให้ กสทฯ ประกอบกิจการและบริหารกิจการระบบเอชเอสพีเอ บนคลื่นความถี่ที่ได้รับการจัดสรรด้วยตนเอง และจะต้องไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นบริหารจัดการหรือประกอบกิจการดังกล่าวแทน ตามมาตรา 46 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และ 5.ให้ กสทฯ ดำเนินการตามกฎหมายในการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการ 3 จี เอชเอสพีเอ
อย่าง ไรก็ตาม ถึงแม้การฟ้องร้องดังกล่าวจะไม่ได้พุ่งเป้าในการฟ้องร้องกลุ่มทรูโดยตรง แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าเรื่องนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบนอกเหนือจาก กสทฯ แล้วก็ยังมีกลุ่มทรูที่เป็นคู่สัญญาฉบับดังกล่าว จนทำให้คล้อยหลังการฟ้องร้องไม่นาน ทั้งผู้บริหารของ กสทฯ และกลุ่มทรูฯ ต่างสลับออกมาแถลงข่าวหักลำดีแทค ชนิดวันเว้นวันเลยทีดียว
ซึ่งคดี ฟ้องร้องในครั้งนี้ ลุกลามบานปลายไปถึงการทำธุรกิจร่วมกันระหว่าง กสทฯ และดีแทค โดยนายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสทฯ ได้ออกมาระบุว่า การเจรจาที่จะให้ดีแทคเปิดบริการ 3 จี ระบบเอชเอสพีเอในรูปแบบเชิงพาณิชย์นั้น เมื่อดีแทคข้องใจเกี่ยวกับอำนาจให้บริการโทรศัพท์มือถือ กสทฯ ก็จะส่งเอกสารเพื่อยื่นสอบถามสำนักงานอัยการสูงสุดให้แน่ใจว่า กสทฯ มีอำนาจให้ดีแทคทำเอชเอสพีเอเชิงพาณิชย์หรือไม่ และต้องให้ดีแทคเข้า พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมการงานหรือดำเนินในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุน) หรือไม่ เพราะหากต่อไป กสทฯ ให้ดีแทคทำเอชเอสพีเอ ก็อาจจะมีผู้ให้บริการรายอื่นฟ้องร้องตามมาอีกด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้คำตอบของคณะกรรมการมาตรา 22 พ.ร.บ.ร่วมทุน อนุมัติให้ดีแทคดำเนินการได้
ถัดมาในวันเดียวกัน ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการและประธานคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหารทรู ยังได้กล่าวถึงในกรณีดังกล่าวว่า ทรูพร้อมต่อสู้ทางชั้นศาลเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับ กสทฯ พร้อมทั้งบอกว่าการฟ้องร้องของดีแทคครั้งนี้ถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ยับยั้ง ความเจริญของประเทศ ซึ่งดีแทคไม่ยอมลงแข่งขันอย่างถูกกติกา ทั้งนี้ หากศาลรับคำร้อง หรือมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน ทรูก็จะเตรียมสำนวนฟ้องกลับในกรณีเดียวกัน เพราะเห็นว่าทุกวันนี้ดีแทคให้บริการโทรศัพท์มือถือก็ผิดกฎหมาย เพราะตามมาตรา 22 พ.ร.บ.ร่วมทุน ก็สรุปแล้วว่าการขยายอายุสัมปทานผิดกฎหมาย
เมื่อ ขิงก็ราข่าก็แรง ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลที่แตกต่างกันทำให้ต่อมาได้เกิดวิวาทะโต้กันไปมา ซึ่งหลังจากนั้นในวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา โดยนายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค ได้กล่าวว่าสัปดาห์หน้าดีแทคจะขอเข้าพบผู้บริหาร กสทฯ เพื่อหารือในเรื่องของการเปิดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จี บนคลื่นย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ ภายใต้เทคโนโลยีเอชเอสพีเอ
อย่างไรก็ ตาม ยืนยันว่าดีแทคยังพร้อมที่อยากจะร่วมงานกับ กสทฯ แม้ว่าจะถูกลดระดับความสัมพันธ์ลงที่จะไม่ให้ดีแทคเปิดให้บริการโทรศัพท์ เคลื่อนที่ระบบ 3 จี ภายใต้เทคโนโลยีเอชเอสพีเอในเชิงพาณิชย์ก็ตาม แต่หากยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกิดขึ้น ก็อาจจะพิจารณาทางเลือกสุดท้าย คือ การฟ้องกลับ กสทฯ เนื่องจากที่ผ่านมาดีแทคยอมเงื่อนไขของ กสทฯ มาโดยตลอด ไม่ว่าจะต้องแบ่งคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ให้กับทรูมูฟ รวมทั้งการไม่ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หาก ครม.มีมติให้ยกเลิกสัมปทาน
เมื่อ มาถึงวันที่ผู้บริหารดีแทคได้เข้ามาพบบอร์ด กสทฯ และผู้บริหาร กสทฯ แต่ดูเหมือนกลับว่าความสัมพันธ์ยังไม่ดีขึ้นตาม ทั้งนี้ เนื่องจากได้ใช้เวลาในการหารือประมาณ 15 นาที ดีแทคก็จำต้องม้วนเสื่อออกจากห้องประชุมของ กสทฯ ไป
จนกระทั่งถึงวันที่ ศาลปกครองได้นัดไต่สวน ซึ่งได้ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงในการไต่สวนเรื่องดังกล่าว โดยได้มีข้อสรุปเบื้องต้นออกมาว่า กสทฯ-ดีแทคทำเอกสารเพิ่มกลับมาชี้แจงใน 12 พ.ค.นี้ ก่อนจะพิจารณาสัญญา กสทฯ-ทรูเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน และจะคุ้มครองฉุกเฉินหรือไม่ ในวันที่ 19 พ.ค.นี้
ต่อมาในวันที่ 19 พ.ค. ศาลปกครองก็ได้มีคำสั่งไม่รับคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครอง เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว แต่ได้มีการพิจารณาในประเด็นที่ดีแทคได้ขอให้ศาลยกเลิกการอนุมัติของบอร์ด กสทฯ ที่มีมติให้ กสทฯ เซ็นสัญญากับกลุ่มทรู เนื่องจากไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้ง นี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสทฯ ได้กล่าวว่า โดยสรุปศาลปกครองได้รับฟ้องมติบอร์ดไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนข้อหา กสทฯ ละเลยหน้าที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย โดยดีแทคได้ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ กสทฯ และทรูห้ามปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว สิ่งที่ กสทฯ ต้องดำเนินการต่อไปคือเตรียมตัวชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมต่อศาล และต้องรายงานต่อ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีทีต่อไป
ส่วน สัญญาการดำเนินโครงการ 3 จี เอชเอสพีเอ ยังยึดตามแผนเดิม คือเปิดให้บริการ 3 จี ภายในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ ขณะเดียวกันความคืบหน้าการให้บริการโทรศัพท์มือถือด้วยเทคโนโลยีเอชเอสพีเอ เชิงพาณิชย์ บนคลื่นความถี่เดิม 850 เมกะเฮิรตซ์นั้น คงต้องขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อป้องกันการฟ้องร้องในภายหลัง ซึ่งต้องมีความรอบคอบและระมัดระวังมากขึ้น
จากเรื่องดังกล่าวทำให้ดี แทคตกเป็นไม้รองไปโดยปริยาย เพราะนอกจากศาลจะมีคำสั่งไม่รับคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครอง เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวแล้ว ก็ยังส่อแววว่าการให้บริการ 3 จี เอชเอสพีเอน่าจะส่อเค้าถึงความล่าช้าไปอีก
กรณีดังกล่าว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทคได้เปิดเผยในวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า รู้สึกผิดหวังและเสียดายที่ศาลไม่รับคุ้มครองชั่วคราวคดีดังกล่าว ขณะที่วัตถุประสงค์ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการดำเนินการตามสัญญาดังกล่าว นั้น เนื่องจากมองว่าสัญญาอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย การระงับจึงเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมในวงกว้าง แต่การที่ศาลรับฟ้องข้อหาหลักเพื่อนำไปสู่การไต่สวน กรณีมติบอร์ด กสทฯ อนุมัติให้ กสทฯ เข้าทำการตามสัญญาดังกล่าวนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แสดงให้เห็นว่าจะนำไป สู่การหาข้อเท็จจริงต่อไป และหากที่สุดศาลมีคำสั่งว่ามติบอร์ด กสทฯ นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็จะกระทบต่อตัวสัญญาทันที
ข้อพิพาทที่เกิดขึ้น นี้ ถือเป็นคนละส่วนกับที่ กสทฯ จะอนุมัติให้ดีแทคเปิดให้บริการ 3 จี บนคลื่นความถี่เดิม 850 เมกะเฮิรตซ์ เชิงพาณิชย์ ที่ระหว่างนี้อยู่รอให้อัยการสูงสุดตีความว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ขณะเดียวกัน ดีแทคก็อยู่ระหว่างเจรจากับทาง กสทฯ มาโดยตลอด โดยคาดหวังว่าการดำเนินการเรื่องนี้จะลุล่วงและประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี
หลัง จากศาลปกครองมีคำสั่งออกมาก็ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะสงบลง แต่ก็กลับกลายเป็นว่านอกเหนือจากเรื่องดังกล่าวจะได้กลายเป็นข้อพิพาท ระหว่างคู่สัมปทาน แล้วยังได้ลุกลามไปถึงเอกชนด้วยกันเอง เพราะเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา บริษัท ทรูมูฟ จำกัด ได้มอบหมายให้ นางศุภสรณ์ โหรชัยยะ เป็นตัวแทนเข้าแจ้งความตำรวจกองปราบปรามให้ดำเนินคดีกับดีแทค ซึ่งมีเทเลเนอร์รัฐวิสาหกิจต่างประเทศเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และกลุ่มบุคคลและกลุ่มบริษัทที่มีพฤติกรรมสนับสนุนดีแทคที่เป็นนิติบุคคลให้ สามารถทำธุรกิจโทรคมนาคมที่เป็นธุรกิจต้องห้ามของต่างด้าวได้ โดยหลีกเลี่ยงพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 4
ทั้ง นี้ ทรูมูฟได้ระบุว่าได้มีการรวบรวมหลักฐานเรื่องดังกล่าวมาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ซึ่งประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ได้มีการรายงานเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา พบว่าดีแทคมีผู้ถือหุ้นเป็นคนต่างด้าว 71.35% คนไทยถือหุ้น 28.65% กระจายการถือหุ้นให้กลุ่มบุคคลและบริษัทต่างๆ ถือหุ้นเป็นจำนวนมากแทน ซึ่งพฤติกรรมของดีแทคถือว่าหลีกเลี่ยง พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 4 ที่ระบุว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริการสาธารณูปโภคและการให้บริการ สาธารณะทั่วประเทศ รวมทั้งเกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นทรัพยากรและความมั่นคงของประเทศ
ขณะที่ดีแทคแจ้งสัดส่วนการถือ หุ้นของคนต่างด้าวกับกระทรวงพาณิชย์ไว้เพียง 49% แต่ปรากฏว่าในความเป็นจริง บริษัทเทเลนอร์ได้แจ้งข้อมูลการถือหุ้นต่อตลาดหลักทรัพย์ที่ประเทศนอร์เวย์ และประเทศ สิงคโปร์ว่าถือหุ้นในดีแทคเป็นสัดส่วนประมาณ 66.50% ซึ่งเป็นการกระทำผิด ฝ่าฝืนกฎหมายไทยอย่างชัดแจ้ง เพราะเป็นการประกอบธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ พร้อมทั้งได้ยืนยันว่าการแจ้งความ ครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับ 3 จี ต้องแยกปัญหาออกจากกัน ซึ่งเชื่อมั่นว่าการแจ้งความคดีนี้ได้เพื่อต้องการให้กฎหมายชี้ชัดเรื่อง สัญชาติ ถ้าไม่เช่นนั้นการแข่งขันที่เท่าเทียมทันคงเกิดขึ้นไม่ได้
ใน วันเดียวกันของช่วงเย็น ดีแทคได้ออกแถลงการณ์ในกรณีดังกล่าวว่า ดีแทคได้ดำเนินธุรกิจภายใต้กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องของไทยทุกประการ ในฐานะที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย โดยได้มีการเปิดเผยข้อมูลโครงสร้างผู้ถือหุ้นต่อสาธารณชน และกระทรวงพาณิชย์อย่างชัดเจน และหากมีการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบข้อบังคับใดๆ พร้อมยินดีที่จะปฏิบัติตาม
ทั้งนี้ ต่อมาในวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า จากผลการตรวจสอบการถือหุ้นของต่างชาติในดีแทค พบว่า ตามหลักฐานการจดทะเบียนที่ได้รับแจ้งดีแทคมีทุนจดทะเบียน 4,735 ล้านบาท จำนวนผู้ถือหุ้น 33,000 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นนิติบุคคลไทย 56 ราย ซึ่งการตรวจสอบเพียงชั้นเดียว พบว่า ดีแทคมีผู้ถือหุ้นคนไทยร้อยละ 51 และผู้ถือหุ้นต่างด้าวร้อยละ 49 ซึ่งสรุปได้ว่าดีแทคเป็นบริษัทคนไทย แต่ทั้งนี้พบว่าการถือหุ้นนิติบุคคลไทยของดีแทคมีความสลับซับซ้อน และยอมรับว่าอำนาจในการตรวจสอบของกรมมีข้อจำกัด
ด้าน นายสุรนันท์ วงศ์วิยกำจร รักษาการปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า กสทช.ได้สั่งให้สำนักงาน กสทช.ไปตรวจสอบรายละเอียดการถือครองหุ้นดีแทค ซึ่งเป็นผู้ให้บริการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก กสทช. แต่หากพบว่าสัดส่วนการถือหุ้นไม่เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด เบื้องต้นจะต้องให้ผู้ให้บริการดีแทคไปดำเนินลดสัดส่วนการถือครองหุ้นให้ เป็นไปตามกฎหมายกำหนด แต่หากไม่ปฏิบัติตาม ก็จะมีมาตรการตามประกาศของ กทช.ในเรื่องของการปรับ แต่ยังไม่มีบทลงโทษกรณีการเป็นบริษัทต่างด้าว
ดูแล้วเรื่องนี้คงจะกลายเป็นอีกหนึ่งมหากาพย์ของวงการโทรคมนาคมที่มีทีท่าจะจบลงได้ยาก.
ภาพประกอบจาก internet