สบท.จูงมือกสทช.คุยปัญหาเคลีย์ริ่งเฮ้าท์

เขียนโดย สุพัตรา จันทร์เรือง วันที่ . จำนวนผู้ชม: 2822

สบท.จัดงานเสวนา “1 เดือน คงสิทธิเลขหมาย...ชาตินี้ได้ใช้เมื่อไหร่จะเป็นธรรมและทั่วถึง” โดยมีรักษาการ กสทช. พร้อมประธานกรรมการ เคลียริ่งเฮ้าท์ ชี้แจงปัญหาหลังใช้ระบบ

วันที่19 ม.ค.53 นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) จัดเสวนาเรื่อง “1 เดือน คงสิทธิเลขหมาย...ชาตินี้ได้ใช้เมื่อไหร่จะเป็นธรรมและทั่วถึง” โดยมี นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร ปฏิบัติหน้าที่แทน กสทช. และ นายปรีย์มน ปิ่นสกุล ประธานกรรมการ บริษัทศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์ จำกัด ร่วมกันเสนาแลกเปลี่ยนพร้อมชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากมีการเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมาย (MNP : Mobile Number Portability) อย่างเต็มรูปแบบ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. ที่ผ่านมา

 

ผอ.สบท. สะท้อนถึงปัญหาหลังจากมีการเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายเต็มรูปแบบ ประมาณเดือนกว่า พบว่า  ในช่วงแรกเป็นเรื่องการของไม่เปิดให้บริการ เปิดบริการแล้วใช้ไม่ได้ เช่น นิติบุคคลย้ายไม่ได้ เปลี่ยนชื่อเป็นบุคคลธรรมดาแล้วต้องรออีก 90 วัน อยู่ต่างจังหวัด เปลี่ยนเป็นชื่อลูก ต้องรออีก 90 วัน ใช้บริการไม่ได้โดยไม่มีการแจ้งเหตุผล พื้นที่การให้บริการน้อยมีเพียงไม่กี่จังหวัด ไม่กี่จุด ลูกค้าบางคืนอาจถูกปฏิเสธด้วยเหตุต่างๆ

 

ปัญหาที่พบมากสุด คือ ปัญหาการไม่ได้จดทะเบียน ปัญหาเรื่องคำนำหน้าชื่อ การเว้นวรรค การสะกดหรือสระไม่เหมือนกัน ซึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องใช้เวลาถึง 7 วัน หรือแม้แต่การเปลี่ยนระบบจากรายเดือนมาเป็นระบบเติมเงิน หรือจากระบบเติมงานมาเป็นรายเดือน หรือการจดทะเบียนเพื่อยืนยันสิทธิในเลขหมายังต้องรอ 90 วัน จึงมีการตั้งคำถามว่า 90 วันนี้ใครคือผู้กำหนด

 

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องของย้ายแล้วโดนริบในที่เหลือในระบบเติมเงิน, ไม่จ่ายหนี้ก่อนจะไม่ให้ย้าย, การหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ย้าย รวมถึงเมื่อย้ายแล้วแต่โทรออก-รับสายไม่ได้ หรือเล่นอินเตอร์เน็ตไม่ได้ ฯลฯ

 

ด้านนายปรีย์มน ปิ่นสกุล ประธานกรรมการ บริษัทศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์ จำกัด ชี้แจงถึงปัญหาว่า หลังจากที่เปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายพบปัญหารีเจ็ทประมาณ 50% ปัจจุบันปัญหาดังกล่าวลดลงมาเหลือ 30% ซึ่งปัญหาดังกล่าวมาจากคำนำหน้าชื่อ หรือการเว้นวรรคผิดในระบบที่เป็นระบบออโต้จะทำการรีเจ็ทออกมา

 

ในส่วนของลูกค้าที่จ่ายเงินค่าบริการโทรศัพท์ผ่านการตัดบัญชีธนาคารนั้น ไม่ได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า หลังจากพบปัญหาจึงมีการปรึกษากันระหว่างโอเปอเรเตอร์ในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นด้วยการแจ้งข้อมูลกับลูกค้า

 

สำหรับนิติบุคคลที่ต้องการใช้บริการโอนย้าย เป็นหน้าที่ของบริษัทที่จะต้องไปคุยกับทางโอเปอเรเตอร์เนื่องจากเป็นปัญหาเรื่องการทำสัญญากับบริษัทรายเดิม

 

ขณะที่ปัญหาเรื่องต้องรอ 90 วันนั้น นายสุรนันท์ได้ชี้แจงว่าเป็นเพียงความเห็นของ กสท. เพื่อเป็นการป้องตัวแทนผู้จำหน่ายซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือนำเบอร์ที่ยังไม่ได้เปิดให้บริการมาขอโอนย้าย หรือผู้ที่ต้องการปั่นระบบเคลียริ่งเฮ้าท์มาแอบอ้างเท่านั้น หากผู้ใช้บริการต้องการโอนย้ายเลขหมายจริงก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องรอ 90 วัน

 

ส่วนปัญหาการโอนริบเงินในโทรศัพท์มือถือระบบเติมเงินนั้น ขณะนี้ กสทช. ได้ให้ผู้ประกอบการคืนเงินให้กับผู้ร้องแล้วจำนวน 3 ราย

 

ด้านความพร้อมของการให้บริการคงสิทธิเลขหมายอย่างทั่วถึงนั้น นายปรีย์มน เผยว่า ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ บริษัทพร้อมเปิดให้บริการอีก 5 พื้นที่ในต่างจังหวัด คือ พิษณุโลก ภูเก็ต ระยอง อยุธยา และ อุดรธานี  และคาดว่าจะทำได้ทั่วประเทศภายในเดือนมีนาคมนี้.

พิมพ์