วิกฤติ โอกาส อุตฯ โทรคมไทยปี 54 ฤาวิกฤติจะมากกว่าโอกาส

เขียนโดย สุพัตรา ทองทัพ วันที่ . จำนวนผู้ชม: 3423

เปิดมุมมองปี 54 "สุดท้าทาย" โอเปอร์เรเตอร์ไทย สมาร์ทโฟน แก๊กเจ็ทท่วมตลาดรอ 3จี เกิด

ภายหลังจากที่พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ภาพรวมของผู้ประกอบการมือถือที่ผิดหวังกับการประมูลใบอนุญาต 3จี ที่ถูกคำสั่งศาลปกครองสั่งระงับ ก็ดูเหมือนจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ทันที เพราะทุกคนตั้งความหวังว่า กฎหมายใหม่จะเป็นกุญแจสำคัญที่ปลดล็อคปัญหาต่างๆในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

หากแต่ดูเหมือนว่า ทันทีที่รายละเอียดของกฏหมายใหม่ ออกเผยแพร่สู่สาธารณชน กลับกลายเป็นความสับสน ไม่ชัดเจน ในรายละเอียดบางข้อกระทั่งประเมินกันในเบื้องต้นว่า กฏหมายฉบับนี้ อาจนำ "ปัญหา" โทรคมใหม่ๆ เข้ามาแทรก "โอกาส" ของการก้าวไปสู่อุตสาหกรรมโทรคมไทยได้ในอนาคต ความเห็นของโอเปอเรเตอร์ หลังจากที่ได้เห็นกฏหมายฉบับนี้แล้ว ต่างให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า "ปัญหาเก่า ก็ยังไม่แก้ ปัญหาใหม่ กลับเข้ามาเพิ่มอีก"

 

กสทช.ขับเคลื่อนโทรคมไทยได้จริงหรือ?
นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ให้ความเห็นว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในปี 2554 นั้น จะมีตัวแปรสำคัญคือพรบ.กสทช เพราะจะช่วยชี้ทิศทางของการแข่งขันว่าจะสามารถเดินไปทางใด อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่ากังวลคือ รายละเอียดในพรบ.กสทช.ยังมีปัญหาในแง่การตีความของกฎหมาย เนื่องจาก ในส่วนที่ 4 การกำกับกิจการโทรคมนาคม มาตรา 46 ที่ระบุว่า ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้รับใบอนุญาต จะโอนแก่กันมิได้ ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ต้องประกอบกิจการด้วยตนเองจะมอบการบริหารจัดการทั้งหมดหรือบางส่วนหรือยินยอมให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีอำนาจประกอบกิจการแทนมิได้



ดังนั้น จากข้อความนี้แสดงให้เห็นว่า การทำตลาดในรูปแบบขายต่อบริการบนโครงข่ายเสมือน (เอ็มวีเอ็นโอ) จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เพราะการทำตลาดในรูปแบบดังกล่าว ก็เป็นการให้บริการแทนผู้มีคลื่นความถี่ โดยเป็นการแบ่งคาปาซิตี้มาเปิดบริการ ซึ่งกระบวนการพิจารณาทั้งหมด จำเป็นจะต้องนำไปสู่การตีความของศาลทั้งสิ้น

 

หวั่นกม.ใหม่ยังคลุมเคลือไม่ชัดเจน 
“ในแง่ของตัวกฎหมายฉบับนี้ใหม่ก็มีทั้งส่วนดี และบางส่วนก็คลุมเครือไม่เข้าใจ ไม่มีการพูดถึงแนวทางรองรับการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งปีหน้าจะเป็นปีแห่งการฟ้องร้อง ในแง่ประเด็นกฎหมายที่ตีความไม่ตรงกัน ซึ่งการทำเอ็มวีเอ็นโอจะทำได้หรือไม่นั้น ก็ต้องรอดูว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าสุดท้ายแล้วมีการระบุว่าไม่สามารถทำได้ การเปิดให้บริการ 3จีของบมจ.ทีโอที ที่ต้องการมีเอ็มวีเอ็นโอจะหาทางออกอย่างไร”นายวิเชียร กล่าวว่า



นอกจากนี้ พรบ.กสทช. เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ซึ่งมองไว้น่าจะใช้ระยะเวลา 1 ปีครึ่ง เนื่องจากกระบวนการสรรหาการที่จะต้องถูกแทรกแซง มันก็น่าจะมีผลกระทบต่อการจัดตั้ง กสทช.ใช้เวลาออกไป  ซึ่งอุปสรรคที่จะกระทบต่อธุรกิจของบริษัท นั้นมองว่า หากมีความชัดเจนในเรื่องกฏหมาย บริษัท ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคอะไรได้ ส่วนการเปิดประมูลใบอนุญาต (ไลเซ่น) 3จี น่าจะสามารถเปิดประมูลได้ภายในปี 2556

 

ดีแทคระบุยังไร้ทางออกหากสัมปทานหมด
นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC  กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ให้บริการมือถือก็ได้แต่รอความชัดเจน โดยเฉพาะข้อกฎหมายและการฟ้องร้อง และยิ่งอยู่ระหว่างการรอกสทช. นั้น ไม่มีโอเปอเรเตอร์รายใด มั่นใจที่จะลงทุนอย่างเต็มที่ อีกอย่าง ถึงแม้ว่าจะได้ กสทช.ในช่วงกลางปีหน้าจริง แต่จะมี กสทช.เพียง 2 คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งรวม 11 คนนก็ต้องเริ่มต้นทำงานใหม่ มาอธิบายปัญหา กว่าจะเริ่มทำงานเป็นและจริงจังก็ใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี

นอกจากนี้ ในร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ไม่ได้มีการระบุรายละเอียดแม้แต่ข้อเดียวว่า เมื่อหมดอายุสัญญาสัมปทานของโอเปอเรเตอร์แต่ละรายจะเป็นอย่างไร โดยจะมีประเด็นพิจารณา 3 ข้อคือ เมื่อ 1.สถานีฐาน โครงข่าย ชุมสายเป็นของบมจ.ทีโอที และบมจ.กสท โทรคมนาคม 2.คลื่นความถี่ต้องกลับไปอยู่ที่กสทช.และจะต้องมีการประมูลกันใหม่ แต่ 3.ลูกค้าโทรศัพท์มือถืออยู่ในระบบของโอเปอเรเตอร์แต่ละราย



“พอหมดเรื่องของสัมปทานก็หวังให้ กสทช.เข้ามาช่วย แต่เท่าที่เห็น กสทช.มีถึง 11 ท่าน ซึ่งควรเห็นก็ต้องแตกต่างกัน ผลประโยชน์ต่างจาก กทช.มาก ขนาด กทช.มีเพียง 7 ท่านยังมีความคิดเห็นที่ต่างกันและใช้เวลามากกว่าจะอนุมัติอะไรออกไป ถึงแม้ว่า กทช.จะวางร่างแผนการประกอบกิจการไว้ให้แล้ว แต่ด้วยนิสัยคนไทยมักจะไม่ยอมใช้ของเก่า ก็ต้องมานั่งร่างแผนแม่บทโทรคมนาคม แผนจัดสรรคลื่นความถี่ ตารางการบริหารคลื่นงานกันใหม่อีก ซึ่งก็ต้องใช้เวลา ซึ่งช่วงรอกสทช.นั้นยอมรับว่าซึมเศร้า จะลงทุนอะไรก็หวั่นติดข้อกฎหมาย” นายธนา กล่าว

 

ทรูเร่งปรับตัวสู้ศึกรายใหญ่ในตลาด
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการและประธานคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์เปอเรชั่น กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ในเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ๆ ควรจะเกิดขึ้นอย่าง 3จี บนคลื่นใหม่ หรือ 3จีบนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิตรซ์เดิม (เอชเอสพีเอ) ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนอุตฯ โทรคมไทยให้เดินหน้าต่อไปได้นั้น หากในฝั่งไหนที่มีความชัดเจน ทรูก็พร้อมที่จะสนับสนุน ยิ่งการเกิดขึ้นของ กสทช. ก็ยิ่งทำให้เอกชนเอง ควรจะหันหน้าเข้าหากัน แทนที่จะมองว่า ใครจะได้ หรือเสียประโยชน์ เพราะเรื่องนี้กลไกตลาดที่เป็นเสรีจะดูแลกันเอง


"สำหรับสัดส่วนกรรมการ กสทช.  ส่วนตัวอยากให้กทช.พยายามไปสมัครกัน จะได้มีความต่อเนื่องบ้าง ไม่ใช่มาใหม่หมดและศึกษาใหม่หมด และกทช.ที่ผ่านมาหลายคนมีประสบการณ์ความรู้ด้านเทคโนโลยี  และจะช่วยประสานให้เกิดความต่อเนื่อง" นายศุภชัย กล่าว


ขณะที่ นายอธึก อัศวนันท์ รองประธานกรรมการ และหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกฎหมาย บริษัทเดียวกัน ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่า  ทรูยินดีที่จะสนับสนุนการเกิดขึ้นของ 3จี ในไทย หากแต่ต้องมีความชัดเจน เช่นเดียวกับโครงการ เค2 ของทางภาครัฐ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี ทรูเองก็ศึกษาแนวทางที่จะเดินไปในหลายๆ ด้าน


"การผลักดันในเรื่องของ กสทช. หรือ 3จี ควรจะร่วมกันผลักดันกันจากทุกโอเปอเรเตอร์ ขณะที่ในส่วนของทรูก็ต้องมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นรายเล็กของตลาด เพื่อให้สามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้ ซึ่งดีลการซื้อฮัทช์ก็เป็นส่วนหนึ่ง ของแนวทางที่ทรูจะต้องมีการปรับตัวให้บริษัทมีความเข้มแข็งมากขึ้น" นายอธึก กล่าว

 

เอชเอสพีเอของเล่นใหม่
หลังจากที่คณะกรรมการ (บอร์ด) กสท ออกมาประกาศว่า มีมติอนุมัติให้ดีแทคและทรู สามารถอัพเกรดคลื่นความถี่เดิม 850 เมกะเฮิรตซ์เป็นบริการ 3จี(เอชเอสพีเอ)แบบทดสอบ (นอน คอมเมอร์เชียล) ได้ทันทีและให้สิทธิติดตั้งอุปกรณ์เพื่อให้บริการได้เต็มจำนวนสถานีฐานที่แต่ละรายขอมา นายทอเร่ จอห์นเซ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค กล่าวว่า การอนุมัติครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ดีแทคได้ให้บริการ 3จี แก่ผู้ใช้บริการได้ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ซึ่งบริษัทจะเสริมติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มทันทีเต็มจำนวน 1,220 สถานีฐาน จากที่ปัจจุบันเปิดให้บริการ 3จีแบบทดสอบอยู่เพียง 36 สถานีฐาน


อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักของดีแทคคือการให้บริการ 3จี แบบเชิงพาณิชย์ และบริษัทมั่นใจว่ารัฐบาลจะดำเนินการให้การให้บริการเชิงพาณิชย์เป็นจริงได้ในไม่ช้านี้ รวมทั้งเชื่อมั่นว่า กสทช. จะได้กำหนดระเบียบหรือกฎเกณฑ์ที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนการให้บริการดังกล่าวต่อไป


เช่นเดียวกับในฝั่งของทรู ที่ได้ทำเอชเอสพีเอเต็มจำนวนสถานีฐานที่ขอมาทั้ง 1,400 สถานี โดยปัจจุบันได้เปิดบริการไปแล้ว 656 สถานี แต่ในฝั่งของค่ายมือถือเบอร์ 3 รายนี้ ดูเหมือนว่า ไฟเขียวเอชเอสพีเอจาก กสท จะเป็นเพียงแค่ออเดริ์ฟเรียกน้ำย่อยเท่านั้น เพราะแผนการเข้าซื้อกิจการฮัทช์ ที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือระบบซีดีเอ็มเอ จะเป็นการกรุยทางไปสู่การปูพรมเปิด 3จีเอชเอสพีเอร่วมกับ กสท แบบเบ็ดเสร็ด ซึ่งจากปากของ "จิรายุทธ รุ่งศรีทอง"เล่าเป็นช่องเป็นฉากว่า หากทรูเข้าซื้อฮัทช์ได้เรียบร้อย จะมีการร่างสัญญาเน็ตเวิร์ก โพรวายเดอร์ และ สัญญาขายส่งขายต่อบริการ โดยให้ทรูมีสิทธิเข้ามาใช้โครงข่าย และทำตลาดทั่วประเทศร่วมกันในอนาคต ซึ่งสัญญาฉบับนี้มีอายุยาวนานถึง 14.5 ปี

 

3จี ขับเคลื่อนโอกาสตลาดโทรคม
แม้ว่ายอดขายของสมาร์ทโฟนจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่เป็นตัวขัดขวางการเติบโตของยอดขายดังกล่าว กล่าวคือ 80 เปอร์เซ็นต์ของตลาดผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในภูมิภาคเอเชียเป็นแบบพรีเพด (เติมเงิน) และในบางประเทศจำนวนผู้ใช้แบบพรีเพดมีสูงถึง 97% ดังนั้นการใช้งานบางอย่างที่รองรับเฉพาะระบบโพสต์เพดจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆอีกเช่น การขาดแคลนของระบบ Wi-Fi สาธารณะ อีกด้วย นอกจากนี้ สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้ยอดขายของสมาร์ทโฟนมีความสำคัญต่อผู้จำหน่ายโทรศัพท์มือถือเนื่องมาจากยอดขายที่ซบเซาลงของตลาดทั้งหมด

 

ทั้งนี้ มีเพียงตลาดที่กำลังพัฒนาแล้วเท่านั้นที่เราจะได้เห็นยอดขายที่เพิ่มขึ้นแบบเลขสองหลัก และจากการเติบโตที่ไม่มากนักของตลาดอื่นๆ การเติบโตของสมาร์ทโฟนจึงสำคัญมากเนื่องจากสามารถช่วยปิดช่องว่างและเพิ่มปริมาณยอดขายของทั้งตลาดโดยรวมได้ สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันราคาสมาร์ทโฟนถือว่าไม่แพงมากนักคือประมาณ 10,000 บาท หรือต่ำกว่านั้น ทำให้ผู้ใช้สมาร์ทโฟนมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้ออปะเรเตอร์สามารถเพิ่มการให้บริการด้านข้อมูลต่างๆเพื่อผู้ใช้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะแบล็กเบอรรี่ อย่างไรก็ตาม ประเด็นของ 3จี ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตาดูอยู่อย่างมากสำหรับตลาดในประเทศไทย


นอกจากนี้ ฟรอสต์ฯ ยังคาดการณ์ว่าภายในปี 2558 ตัวเลขของสมาร์ทโฟนที่ขายในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกจะสูงถึง 477 ล้านเครื่อง โดยสำหรับประเทศไทยยอดสมาร์ทโฟนจะเพิ่มสูงถึง 52% ภายในปี 2558 จากยอดเพียง 6.9% ในปี 2552

 

ดีมานด์ผู้บริโภคพุ่งตามแก๊ดเจ็ทใหม่ๆ
แม้ในฟากของการกำกับดูแลของอุตสาหกรรมโทรคม จะยังดูมีทิศทางที่สับสน และไม่ชัดเจน หากแต่ในฟากของผู้บริโภค และบรรดาแก๊ดเจ็ทใหม่ๆ ทั้งสมาร์ทโฟน แทบเล็ต ไอแพด ดูเหมือนจะออกตัว "ฮิต" อย่างแรงแซงหน้าไปอย่างไม่เห็นฝุ่น ไม่สนแล้วว่าเทคโนโลยี 3จี ที่จะเกิด หรือไม่เกิดก็ตาม เห็นได้จากจำนวนยอดขายของสมาร์ทโฟนในไทยที่พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ความกระตือรืนร้นของกลุ่มผู้บริโภคที่มีความต้องการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ  อย่างต่อเนื่อง


ภาพของการรอคอยยืนซื้อไอแพด และไอโฟน 4 ที่มีทั้งยอดจองมากมาย กระทั่งสินค้าขาดตลาด ดูจะเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า ความต้องการของผู้บริโภคเต็มเอียดแล้ว หากแต่รอเพียงเทคโนโลยีใหม่ ที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มความต้องการของเขาได้ดีขึ้น

ภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนไทยในปัจจุบัน "จีเอฟเค" เคยประเมินไว้ว่า จะมียอดขายประมาณ 8 แสนเครื่อง คิดเป็นสัดส่วน 9-10% ของตลาดรวมมือถือทั้งหมด เพิ่มจากปี 2552 ที่มีสัดส่วน 6% มูลค่าการเติบโตจะเพิ่มขึ้น 100% ทุกๆ ปี อีก 12 เดือนตลาดสมาร์ทโฟนจะเติบโตได้ 100% ในเชิงมูลค่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า หรือมีมูลค่าถึง 50% ของตลาดรวมจากปัจจุบันที่สมาร์ทโฟนทุกโอเอสมียอดขายประมาณ 8 หมื่นเครื่องต่อเดือน


ข้อมูลของจีเอฟเคระบุด้วยว่า เฉพาะแอนดรอยด์มีส่วนแบ่งในตลาด 12% มียอดขาย 1 หมื่นเครื่องต่อเดือน ไตรมาส 4 คาดว่าการเติบโตจะเพิ่มขึ้นเป็น 18% มียอดขายประมาณ 1.5 หมื่นเครื่องต่อเดือน


ขณะที่ ผลการศึกษาวิเคราะห์ของบริษัท ฟรอสต์แอนด์ ซุลลิแวน เรื่อง 2010 Asia-Pacific Mobile Device & Smartphone Outlook พบว่า การใช้งานข้อมูลบนมือถือสมาร์ทโฟนมีมูลค่าสูงถึง 38 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2558 สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก (รวมทั้งญี่ปุ่น) จากเดิม1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2009

 

โอเปอเรเตอร์ระบุโมบายเน็ตโตกระฉูด
ขณะที่ในฝั่งของโอเปอเรเตอร์เอง ดูจะสามารถรับประกันในเรื่องนี้ได้ว่า ดีมานด์การใช้เทคโนโลยีของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ เห็นได้จากยอดการใช้อินเทอร์เน็ตบนอุปกรณ์พกพาที่เป็นกราฟขึ้นอยู่ตลอด และเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นๆ 


นายปรัธนา ลีลพนัง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานบริการเสริม บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) บอกว่า แนวโน้มตลาดรวมของแอพลิเคชั่น และคอนเท้นท์ปี 54 ยังมีอัตราการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะบริการเสริมของผู้ใช้บริการผ่านโทรศัพท์มือถือ (โมบาย อินเทอร์เน็ต) โดยปัจจัยสำคัญมาจากสมาร์ทโฟนอย่างแบล็คเบอรี่ ไอโฟน และโทรศัพท์ระบบปฎิบัติการแอนด์ดรอยด์ ที่น่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ


ทั้งนี้ อัตราการใช้งานโมบาย อินเทอร์เน็ตของเอไอเอสมียอดเพิ่มขึ้นมากเกิน 150% คิดเป็น 75-78 ชั่วโมงต่อเดือน จากที่เคยใช้งาน 30 กว่าชั่วโมงต่อเดือน ซึ่งส่วนสำคัญที่ทำให้สถิติการใช้งานเพิ่มขึ้น เนื่องจากฟีเจอร์ของสมาร์ทโฟนพัฒนาขึ้นมาสอดคล้องกับการใช้งานมากขึ้น

ซึ่งกลยุทธ์หลักในการแข่งขันในตลาดนับจากนี้  คือ การพยายามเปิดรับพันธมิตร ผู้ผลิตแอพพลิเชั่น และคอนเท้นต์บนโทรศัพท์มือถือให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความหลากหลายสำหรับให้บริการแก่ลูกค้าในระบบที่มีอยู่กว่า 30 ล้านราย คิดเป็นผู้ใช้บริการเสริมดังกล่าวนี้มีอยู่จำนวน 7 ล้านราย ซึ่งยอดผู้ใช้บริการคอนเท้นท์เติบโตถึง 40%


ผู้บริหารเอไอเอส บอกว่า รายได้ที่เติบโตกว่า 27-30% รายได้หลักๆ มาจากอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ต จีพีอาร์เอส และเอดจ์ กว่า 40% ซึ่งบริการดังกล่าวนี้ ขยายตัวถึง 89% เมื่อเทียบกับปีก่อน รองลงมาคือ บริการส่งข้อความสั้น (เอสเอ็นเอส) และคอนเท้นต์ ราว 25% ที่เหลือเป็นบริการเสียงเพลงรอสาย 10%

 

โอกาสตลาดคอนเท้นท์บนโมบายมีสูง
ด้านนายปกรณ์ พรรณเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายผลิตภัณฑ์ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า ภาพรวมตลาดบริการเสริม (นอนวอยซ์) ของดีแทคเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง 9 เดือนที่ผ่านมามีรายได้แล้ว 6,000 ล้านบาท หรือโตขึ้น 20% โดยเป็นผลจากการเติบโตของสมาร์ทโฟน และการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านแอร์การ์ด ซึ่งนิยมใช้ในพื้นที่ที่สายอินเทอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึง โดยส่วนใหญ่นิยมใช้คอนเทนท์ประเภท "มัลติมีเดีย, กราฟฟิก และวีดิโอ" ซึ่งมียอดเติบโตถึง 40% และครองสัดส่วนรายได้เป็นอันดับหนึ่งที่ 27%


ส่วนคอนเทนท์แนวไลฟ์สไตล์ เช่น ดูดวง โตขึ้น 35% เกม 25% ข่าว 16% และเพลง 5% ซึ่งสำหรับเพลงยังคงเป็นคอนเทนท์สร้างรายได้อันดับ 2 ที่ 19% โดยมีรายได้คอนเทนท์ราว 110 ล้านบาทต่อเดือน


"พฤติกรรมผู้ใช้ส่วนใหญ่เริ่มหันมาใช้มัลติมีเดีย และคอนเทนท์อื่นๆ บนมือถือมากกว่าใช้เอสเอ็มเอสแล้ว และยังมีผลให้การใช้ดาต้าโดยรวมบนมือถือเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ย 6-7 ชั่วโมงต่อเดือน จากเดิมไม่ถึง 3 ชั่วโมงต่อเดือน โดยเรามีลูกค้าดาต้าในระบบเติมเงิน 4 ล้านคน และรายเดือน 8-9 แสนคน" นายปกรณ์ กล่าว


อย่างไรก็ตาม ดีแทคมองโอกาสของตลาดสมาร์ทโฟน ถึงขั้นทุ่มงบกว่าพันล้านเพื่อรองรับทราฟฟิกของดาต้าที่เพิ่มขึ้น ตามกระแสความต้องการแก๊ดเจ็ท สมาร์ทโฟนใหม่ๆ เพิ่มสูงขึ้น

 

ทรูลงทุนโครงข่ายดาต้าต่อเนื่อง
นายสุภกิจ วรรธนะดิษฐ์ หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านการพาณิชยฺ์ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด ในเครือ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น) บอกว่า บริษัทจะมีรายได้จากนอน-วอยซ์เพิ่มขึ้นกว่า 20% เป็นผลจากการเติบโตของเครื่องสมาร์ทโฟน ซึ่งมีการใช้ข้อมูลดาต้ามากขึ้นรวมถึงการใช้แอพพลิเคชั่นมากขึ้นด้วย

ขณะเดียวกัน บริษัทประเมินว่ายอดขายสมาร์ทโฟนจะสร้างรายได้ให้ 12% ของรายได้รวม และช่วยเพิ่มลูกค้ารายเดือน (โพสต์เพด)อีก 5-6% โดยในส่วนสมาร์ทโฟน ส่วนใหญ่เป็นยอดขายของไอโฟน ซึ่งมียอดขายประมาณ 1 แสนเครื่อง จากตลาดรวมที่มียอดขายมากกว่า 3 แสนเครื่อง


ทั้งนี้ ยอดดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นของทรูเมื่อปี53 ทั้งปีมีสูงถึงประมาณ 1.5-2.0 ล้านครั้ง คิดเป็นเป็นมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท ทั้งนี้ในส่วนการพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนมือถือจะอยู่ภายใต้บริษัท ทรู ดิจิตอล คอนเทนท์ แอนด์ มีเดีย จำกัด(True App Center)

นายสุภกิจ กล่าวว่า เพราะเห็นโอกาสของตลาดบริการดาต้าที่ยังมีสูงอย่างต่อเนื่อง จึงวางแผนที่จะพัฒนาแอพพลิชั่นใหม่ๆ เพื่อเป็นตัวเสริมยอดขายไอโฟน และการใช้ดาต้าบางตัว ซึ่งเมื่อปี 53 ก็ลงทุนโครงข่ายในส่วนดาต้าเพิ่มแล้ว หากแต่นับจากนี้ก็จะลงทุนเพิ่มต่อเนื่องด้วย

พิมพ์