กสทช. ช่วยหนุนการคุ้มครองผู้บริโภคโทรคมนาคมและสื่อฯ

เขียนโดย วาลปัทม์ ศรีมงคล วันที่ . จำนวนผู้ชม: 4691

การคุ้มครองผู้บริโภคโทรคมนาคมและสื่อ ภายใต้ กสทช.ช่วยหนุนเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น องค์กรผู้บริโภควอนแก้ปัญหาบัตรเติมเงินหมดอายุ และสานต่อการทำงานของ สบท.

22 ธ.ค. 53 สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม จัดแถลงข่าว การคุ้มครองผู้บริโภคโทรคมนาคมและสื่อฯ ในกำมือของ กสทช. ณ โรงแรม เอเชียแอร์พอร์

                นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวถึงกฏหมาย องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 53 ส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สกทช.) หมดสภาพลงและต้องปรับเปลี่ยนเป็น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ละกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แต่ กทช. ยังคงมีหน้าที่รักษาการแทน กสทช. ไปก่อนจนกว่าจะมีการสรรหา กสทช. ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นั้น สบท. ยังคงอยู่ใต้ระเบียบกฏหมาย กสทช. ผู้บริโภคยังคงร้องเรียนและปรึกษากับ สบท. ได้เช่นเดิม

“ระหว่างที่รอการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา สบท.ยังมีสิทธิในการดำเนินการเรื่องร้องเรียนและส่งเรื่องร้องเรียนไปยังบริษัทผู้ประกอบการ ซึ่งผู้ประกอบการต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคทันที และไม่ควรตีความใดต่อกฏหมายอีก ถึงแม้จะไม่มีกทช.แล้วก็ตาม ห้ามนำมาเป็นข้ออ้าง เพราะได้ดำเนินการตามกฏหมาย กสทช. ” ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าว

พร้อมทั้งกล่าวเสริมถึง บทบาทหน้าที่การคุ้มครองผู้บริโภคของกฏหมายใหม่ว่าให้อำนาจ กสทช. ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาผู้บริโภคได้รวดเร็วขึ้น เช่น การประกาศสั่งระงับการให้บริการ sms รบกวน เป็นต้น แต่ถึงแม้จะมีกฏหมายที่เข้มงวดอย่างไรก็ตาม ก็ต้องมีการบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง รวมถึงต้องมีการสร้างจิตสำนึกที่ดีให้ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่รับเรื่องร้องเรียนต้องจัดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ปัญหาผู้บริโภคจึงจะสามารถแก้ไขได้  นอกจากนี้ยังกล่าวเสริมว่ากฏหมายนี้ยังเอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วมขององค์กรผู้บริโภคมากขึ้น

ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(คบท.)  ให้ความเห็นถึงการทำงานของ สบท. ที่ผ่านมาว่า ถือเป็นหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมที่เป็นอิสระจากหน่วยงานภาคธุรกิจ  ภาคการเมือง และภาครัฐ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันและ รวมถึงสร้างกระแสให้ผู้บริโภคตื่นตัวในการใช้สิทธิ เช่น กรณีเรื่อง 107 บาท ที่สามารถผลักดันและรณรงค์ให้ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียม 107 บาท ได้

“ บทบาทสำคัญอีกอย่างคือการ สร้างความตื่นตัวให้ผู้บริโภค ลุกขึ้นมาร้องเรียน ซึ่งจากเดิมมีผู้บริโภคร้องเรียนเพียง 116 รายต่อปี แต่ปัจจุบันเพิ่งเป็นปีละ 5,000 ราย อีกบทบาทที่สำคัญของ สบท. การพยายามปกป้องสิทธิผู้บริโภค กรณีการกำหนด วันหมดอายุบัตรเติมเงิน  รวมถึงการคงสิทธิเลขหมาย แต่ปัจจุบันก็ยังมรการเอาเปรียบผู้บริโภคที่ให้ย้ายเครือข่ายได้ แต่ยังมีการเก็บค่าบริการ 99 บาท ซึ่งไม่สมควรจะเรียกเก็บจากผู้บริโภค ” ประธานคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(คบท.)  กล่าว

พร้อมทั้งให้ความเห็นเสริมต่อกฏหมายใหม่ว่า กสทช. มีบทบาทชัดเจนเช่นกันในการคุ้มครองผู้บริโภคและน่าจะสานต่อฐานเดิม จาก สบท. ให้มีบทบาทที่กว้างขึ้นในการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งกิจการวิทยุและโทรทัศน์ รวมถึงอยากเห็นศูนย์รวมการร้องเรียนปัญหา โทรคมนาคม

ด้านตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค นำโดย นายสวัสดิ์ คำฟู ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค ได้ยื่นข้อเสนอต่อรักษาการประธาน กสทช. ขอให้ดำเนินการ ในเรื่องการแก้ปัญหา ได้แก่ 1. เร่งให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์อย่างเร่งด่วนและคงบทบาทการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมของสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมต่อไป 2. เร่งออกมาตราการการคุ้มครองสิทธิ ความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพของบุคคลกรณี sms รบกวน และการขายสินค้าผ่านโทรศัพท์ และกำหนดมาตราการโอนย้ายเลขหมายโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 3. เร่งดำเนินการให้ผู้ประกอบการไม่กำหนด วันหมดอายุ บัตรเติมเงิน ตามประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 และให้มีมาตรการบังคับให้ผู้ประกอบการคืนเงินที่ยึดจากผู้บริโภค 4. ขอให้มีการดำเนินการทำแผนแม่บทการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยให้ความสำคัญกับการมีสวนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้ กสทช. ชุดใหม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เร็วยิ่งขึ้น

พิมพ์