" กทช." มึนคำสั่งศาล ไม่มั่นใจอำนาจ ตัวเอง ส่งหนังสือหารือประธานศาลปกครองสูงสุด ถามหากรอบการทำงาน ขณะที่ศาลปกครองยกฟ้องให้ "ทีโอที" ชำระค่าเลขหมาย 747 ล้านบาท ขณะที่ มีคดีความฟ้องร้องกับเอกชนอีกเพียบ โดยเฉพาะปัญหาค่าไอซี-คำสั่งห้ามเก็บค่าเปิดเลขหมาย 107 บาท
นาย ฐากร ตัณฑสิทธิ์ รักษาการเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กทช.เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา มีมติให้ระงับการออกใบอนุญาตที่เกี่ยวกับคลื่นความถี่ทั้งหมดไปก่อน หลังจากเมื่อวันที่ 29 ก.ย.ได้ทำหนังสือถึงประธานศาลปกครองสูงสุด เพื่อหารือแนวทางปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ที่ให้ทุเลาการบังคับตามประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการ โทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz ลงวันที่ 23 ก.ค. 2553 โดยให้ กทช.ระงับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อน ที่ IMT ย่าน 2.1 GHz และการดำเนินการต่อไปตามประกาศ ดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
เนื่องจาก เป็นคำสั่งที่มีความคาบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหลายประเด็น ดังนั้นเพื่อให้การปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเป็นไปด้วยความถูกต้อง และไม่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคในการบริหารงานราชการ หรือการจัดทำบริการสาธารณะตามกฎหมายของ กทช. จึงขอหารือใน 3 ประเด็น ได้แก่ คำสั่งทุเลาฯนี้เป็นคำสั่งให้ระงับการอนุญาตเฉพาะคลื่นความถี่เพื่อการ ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ย่าน 2.1 GHz หรือรวมถึงคลื่นความถี่เพื่อกิจการวิทยุโทรคมนาคมอื่น ๆ ด้วย
กรณี ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ขณะนี้ยังไม่มีคณะกรรมการร่วมที่จะทำแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม แผนความถี่วิทยุฯ รวมถึงยังไม่มีการจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และตารางกำหนดคลื่น ความถี่แห่งชาติ การที่ กทช.มีการพิจารณาอนุญาตหรือจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อกิจการวิทยุโทรคมนาคม อื่น หรือการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และจะดำเนินการต่อไปในอนาคตให้เอกชน หน่วยงานราชการจะต้องดำเนิน การอย่างไร เพื่อไม่ให้ขัดคำสั่งศาลปกครองสูงสุด
นอกจากนี้ระหว่าง ที่ศาลต้องส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า มาตรา 46 มาตรา 51 และ 63 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในมาตรา 47 วรรค 2 ประกอบมาตรา 305 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 หรือไม่นั้น การปฏิบัติหน้าที่ของ กทช.ในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม การออกใบอนุญาต หรือจัดสรรคลื่น โดยอาศัยอำนาจของ กม.ดังกล่าวยังทำได้หรือไม่ และ ขัดต่อคำสั่งศาลปกครองหรือไม่
"ช่วงนี้ กทช.จะยังไม่พิจารณาการให้ใบอนุญาตเกี่ยวกับคลื่นความถี่ เพื่อรอความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติ ทั้งใบอนุญาตโทรคมนาคมที่เกี่ยวกับคลื่น รวมถึงใบอนุญาตวิทยุชุมชน เคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม ซึ่งขณะนี้มีวาระพิจารณาให้ใบอนุญาตวิทยุคมนาคมขององค์การบริหารส่วนท้อง ถิ่น ค้างกว่า 100 ใบ"
สำหรับการแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาต่อรองเพื่อ บรรเทาความเสียหายจากการประมูล 3G กทช. มีนายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม รักษาการเลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา เป็นประธาน, นายเฉลิมชัย ก๊กเกียรติกุล เป็นกรรมการและเลขานุการ, นายฉันทพัทธ์ ขำโคกกรวด เป็นผู้ช่วยเลขานุการ, นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา, นายพิทยาพล จันทนะสาโร, นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์, นางศรีนิดา พรหมหิตาธร เป็นกรรมการ
แหล่ง ข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่ บมจ.ทีโอที ยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. และเลขาธิการ กทช.เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 ตามลำดับ เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยทีโอทีอ้างว่า กทช.ไม่มีอำนาจในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคม และขอยุติการชำระค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บ 1.00 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน ตามที่ กทช.ทำหนังสือเรียกให้ชำระเมื่อ 19 ม.ค. 2549 เนื่องจากเห็นว่าเป็นเลขหมายเดิมที่ได้มาก่อนตั้ง กทช.
โดยคำ พิพากษาศาลระบุว่า ทีโอทีเป็น ผู้ประกอบกิจการที่ได้รับใบอนุญาตจึงต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กทช. เช่นเดียวกันผู้ประกอบการรายอื่น เมื่อมีการนำเลขหมายโทรคมนาคมให้บริการประชาชนจึงต้องชำระค่าธรรมเนียม และไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นการเพิ่มภาระให้บริษัท ตรงกันข้ามหาก กทช.ยกเว้นค่าธรรมเนียมอาจทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ฟ้อง คดีกับผู้ประกอบการรายอื่น
ขณะเดียวกันมาตรา 66 พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ยังให้อำนาจ กทช.ในการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม หลักเกณฑ์ และวิธีชำระค่าธรรมเนียมเลขหมาย ระบุว่ากรณีผู้ได้รับการจัดสรรเลขหมายไม่ชำระค่าธรรมเนียมครบถ้วนในเวลาที่ กำหนด ต้องชำระค่าธรรมเนียมเลขหมายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเท่ากับผลคูณของจำนวนเงินค่า ธรรมเนียมที่ค้างชำระกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR+2 คูณกับสัดส่วนของจำนวนวันที่ค้างชำระต่อจำนวนวันใน 1 ปี ยิ่งค่าธรรมเนียมเลขหมายถือเป็นหนี้เงินลักษณะหนึ่ง เมื่อครบกำหนดชำระแล้วผู้ได้รับใบอนุญาตไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ย่อมตกเป็นลูกหนี้ผิดนัดที่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยผิดนัดดังกล่าว ฉะนั้นการออกมาตรการดังกล่าวจึงไม่เป็นการออกประกาศที่เกินอำนาจ กทช.แต่อย่างใด
คำสั่ง กทช.ที่ให้ทีโอทีชำระค่าธรรมเนียมเลขหมายทั้งหมดที่ค้างชำระตั้งแต่รอบเดือน ส.ค. 2549-ก.ค. 2550 รวมเป็นเงิน 747 ล้านบาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าธรรมเนียมเลขหมายที่เพิ่มขึ้น ต้องชำระพร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR+2 จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุต้องเพิกถอน
แหล่ง ข่าวกล่าวว่า ทีโอทีได้จ่ายเงิน ค่าเลขหมายให้ กทช.แล้ว แต่ขอสงวนสิทธิฟ้องร้องเพื่อเรียกคืน เนื่องจากกลัวว่าหากไม่ยอมจ่ายก่อนกระบวนการศาลสิ้นสุด จะต้องเสียค่าปรับเงินเพิ่มหลายเท่า สำหรับค่าเลขหมายค้างชำระมีทั้งโทรศัพท์บ้านและโทรศัพท์เคลื่อนที่รวม 48 ล้านเลขหมาย ส่วนกรณีพิพาทระหว่าง กทช.กับเอกชนมีอีกหลายคดี ส่วนใหญ่เกี่ยวกับค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (ไอซี) ซึ่งเอกชนฟ้องทั้งประเด็นอำนาจในการออกประกาศ และให้ศาลชี้ขาดว่าค่าไอซีจะเริ่มเก็บตั้งแต่ กทช.ออกประกาศ หรือวันที่มีมติ เนื่องจากมีผลต่อการคำนวณค่าไอซีที่เอกชนต้องจ่าย
นอก จากนี้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายยังฟ้องเรื่องการห้ามเก็บค่า เปิดเลขหมาย 107 บาท กรณีที่ผู้บริโภคค้างชำระค่าบริการจนเลขหมายถูกตัด
" คดีที่เหลือ กทช.ไม่กังวลมากนัก ก่อนหน้านี้ศาลปกครองมีคำพิพากษาเกี่ยวกับอำนาจของ กทช.ในการออกประกาศ ค่าไอซีไปแล้วว่า กทช.มีอำนาจตาม กม."
ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง ในข้อพิพาทที่ทีโอทียื่นฟ้อง กทช.ไปแล้ว 2 คดี ประกอบด้วย 1.คดีดำ 1653/2550 กรณี กทช.ออกประกาศว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (ไอซี) พ.ศ. 2549 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลพิจารณาแล้วว่าเป็นกฎที่ชอบด้วยแล้ว ไม่มีเหตุต้องเพิกถอน พิพากษายกฟ้อง อีกคดีคือ คดีดำที่ 1523/2550 ทีโอทีฟ้อง กทช.กับพวกรวม 3 ราย กรณีมีคำสั่งชี้ขาดให้ทีโอทีเจรจาและทำสัญญาไอซีกับดีแทค เมื่อทีโอทีไม่ปฏิบัติตามจึงสั่งให้จ่ายค่าปรับวันละ 60,000 บาท โดยทีโอทีฟ้องดีแทคเป็นผู้ถูกฟ้องร่วมด้วย แต่ศาลเห็นว่าเป็น คำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4252 ประชาชาติธุรกิจ