หาดใหญ่โพลเผยสำรวจการติดตามข่าวการประมูล3Gและภัยที่มากับ3G ร้อยละ38.7 คิดว่าน่าจะเกิดปัญหาเด็กติดเกมส์
สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สำรวจการติดตามข่าวการประมูล 3 G โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 14 จังหวัดภาคใต้ เกี่ยวกับแนวทางและทางออกของเทคโนโลยี 3G โดยเก็บรวบรวมข้อมูลประชาชน จำนวน 1,192 ตัวอย่าง และใช้แบบสำรวจเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 22-25 กันยายน 2553
โดยการสำรวจครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 54.5) มีอายุระหว่าง 20-30 ปี (ร้อยละ 37.3) รองลงมา อายุ 31-40 ปี (ร้อยละ 27.9 ) และอายุต่ำกว่า 20 ปี (ร้อยละ 17.3) ตามลำดับ นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นนักเรียน/นักศึกษา (ร้อยละ 25.7) รองลงมา อาชีพพนักงานบริษัท/รับจ้าง และประกอบกิจการส่วนตัว/ค้าขาย คิดเป็นร้อยละ 25.4 และ 19.4 ตามลำดับ
รศ. ทัศนีย์ ประธาน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจหาดใหญ่โพล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 62.7 มีการติดตามข่าวการเปิดประมูลเทคโนโลยี 3G เป็นบางครั้ง มากที่สุด รองลงมา มีการติดตามข่าวบ่อยครั้งและไม่ได้ติดตามข่าวการเปิดประมูลเทคโนโลยี 3G เลย คิดเป็นร้อยละ 20.6 และ 8.5 ตามลำดับ มีเพียงร้อยละ 8.2 ที่ติดตามข่าวเป็นประจำเกี่ยวกับการเปิดประมูลเทคโนโลยี 3G นอกจากนี้ประชาชนร้อยละ 58.7 เห็นว่ามีความโปร่งใสในการเปิดประมูลเทคโนโลยี 3G ของ กทช. มีเพียงร้อยละ 41.3 ที่เห็นว่าไม่มีความโปร่งใสในการเปิดประมูลเทคโนโลยี 3G
ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 69.0 คาดว่าจะเกิดปัญหาในการสรรหา กสทช. ทำให้เกิดความล่าช้าในการประมูลเทคโนโลยี 3G มีเพียงร้อยละ 31.0 ที่เห็นว่าการสรรหา กสทช. จะไม่เกิดปัญหาทำให้เกิดความล่าช้าในการประมูลเทคโนโลยี 3G ทั้งนี้ประชาชนร้อยละ 57.4 เห็นว่าการเปิดประมูล 3G ล่าช้า ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ และร้อยละ 42.6 ไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ หากมีการประมูลเกิดขึ้นในปีนี้ ประชาชนร้อยละ 58.2 ต้องการเห็นการเปิดประมูลเทคโนโลยี 3G แต่มีประชาชนร้อยละ 41.8 ที่เห็นว่าควรมีการเปิดประมูลเทคโนโลยี 3.9G ประชาชนร้อยละ 55.8 ไม่เห็นด้วยหากรัฐบาลจะจะมีการขยายเวลาสัมปทานระบบ 2G ให้ผู้ประกอบการรายเดิม มีเพียงร้อยละ 44.2 เห็นด้วยให้มีการขยายสัมปทานระบบ 2G ให้ผู้ประกอบการรายเดิม ส่วนความคิดเห็นของบทบาทของ TOT และการสื่อสารแห่งประเทศ พบว่า ประชาชนร้อยละ 36.4 ต้องการให้เป็นรัฐวิสาหกิจ (เป็นผู้ให้สัมปทานเหมือนเดิม) และร้อยละ 32.5 เห็นว่าควรแปรสภาพเป็นบริษัทเอกชน (แข่งขันกับผู้ประกอบการรายเดิม) มีเพียงร้อยละ 31.1 ที่เห็นว่าควรเป็นรัฐวิสาหกิจ (ในส่วนการตรวจสอบมาตรฐานการให้บริการ)
ประชาชนร้อยละ 39.9 เห็นว่าปัญหาสินค้าเทคโนโลยีราคาแพง ส่งผลต่อการเข้าถึงเทคโนโลยี 3G ในระดับมากถึงมากที่สุด และร้อยละ 39.0 ปัญหาสินค้าเทคโนโลยีราคาแพง ส่งผลต่อการเข้าถึงเทคโนโลยี 3G ในระดับปานกลาง มีเพียงร้อยละ 21.1 ส่งผลต่อการเข้าถึงเทคโนโลยี 3G ในระดับน้อยถึงน้อยที่สุด ทั้งนี้ประชาชนร้อยละ 52.5 เห็นว่าการที่ผู้ประกอบการรายเดิม ยังไม่สามารถเปิดให้ย้ายเครือข่าย ถือเป็นความไม่เป็นธรรมในการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับภัยที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยี 3G พบว่า ประชาชนร้อยละ 38.7 คาดว่าจะเกิดปัญหาเด็กติดเกมส์ มากที่สุด รองลงมา การใช้เงินเกินตัว คลิปวีดีโอโป๊และอาชญากรรมต่อวัยรุ่น คิดเป็นร้อยละ 30.6 , 23.2 และ 22.6 ตามลำดับ
ที่มา : สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่