
นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลและก๊าซชีวภาพ ที่ผลิตจากผลผลิตการเกษตรที่เหลือใช้และน้ำเสียจากปาล์มน้ำมัน ขอให้รัฐบาลกำหนดโซนนิ่งโรงไฟฟ้าชีวมวลภายในรัศมี 100 กม.ให้มีเพียง 1 โรง เพื่อป้องกันปัญหาการแย่งชิงวัตถุดิบซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้ราคาวัตถุดิบปรับ ตัวสูงขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่านอกจากแกลบแล้ว ยังมีวัตถุดิบบางชนิดที่มีปัญหาเช่นเดียวกัน คือกะลาปาล์มในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาราคาปรับตัวสูงขึ้นจาก 50 บาทต่อตันเป็น 2,200 บาทต่อตัน และมีปัญหาความไม่แน่นอนของวัตถุดิบ เนื่องจากกะลาปาล์มถูกนำไปเป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมันเตาในโรงงานอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ยังขอให้รัฐเพิ่มอัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (แอดเดอร์) จาก 30 สตางค์ต่อหน่วยเป็น 70 สตางค์ต่อหน่วย และขอให้เจรจากับสถาบันการเงินให้เข้าใจในสถานะภาพการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน เนื่องจากความไม่เข้าใจของสถาบันการเงิน ทำให้การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อล่าช้า "ผมตัวเห็นด้วยกับโซนนิ่งโรงไฟฟ้าชีวมวล ป้องกันการแย่งวัตถุดิบ จนทำให้โรงไฟฟ้าขาดวัตถุดิบ" นพ.วรรณรัตน์ กล่าว
ด้านนายเจย์ ปรากาศ ซาราฟ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซาราฟ เอ็นเนอร์ยี่ กล่าวว่า บริษัทเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้กะลาปาล์มแห่งแรก โดย 6 ปีก่อนกะลาปาล์มอยู่ที่ 50 บาทต่อตัน แต่ปัจจุบันราคาอยู่ที่ตันละ 2,200 บาท จำเป็นต้องหาเชื้อเพลิงเพิ่มเพื่อลดต้นทุนโดยใช้ทะลายปาล์ม และเส้นใยปาล์มมาผลิตไฟฟ้า
นอกจากนี้ ขอสนับสนุนให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพจากการบีบทะลายปาล์มเปล่า เพื่อนำมาผลิตเป็นไฟฟ้า ขนาด 2 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 96 ล้านบาท โดยเฟสแรกจะผลิตก่อน 1.26 เมกะวัตต์แล้วเสร็จเดือนก.พ.นี้ ขณะเดียวกันได้วางแผนที่จะนำของเหลือใช้จาก 2 โรงไฟฟ้า มาผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพภายในปี 2554
ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 26/01/53