ลุ้นค่าไฟฟ้ารอบก.ย.จ่อขึ้น10สตางค์

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) วันที่ . จำนวนผู้ชม: 3099

ค่าเอฟทีงวดหน้า จ่อขยับหน่วยละ 10 สตางค์ ตามน้ำมันพุ่ง คาดรัฐยังตรึงราคาต่อ หวั่นกระทบค่าครองชีพประชาชน

แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า แนวโน้มอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) งวดใหม่รอบเดือนก.ย.-ธ.ค. มีโอกาสปรับ สูงขึ้น 10 สต./หน่วย เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า มีราคาสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่ในทางปฏิบัติจะปรับขึ้นค่าเอฟทีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ จะพิจารณา

ทั้งนี้ ทางรัฐบาลได้มอบหมายให้กฟผ. ไปพิจารณาฐานะทางการเงินว่า จะแบกรับภาระเพิ่มได้อีกหรือไม่จนถึงปลายปีนี้ เนื่องจากเห็นว่า เป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว หากค่าไฟปรับขึ้นจะมีผลกระทบ ต่อค่าครองชีพประชาชน แต่ขณะเดียวกันถ้ากฟผ. มีปัญหาภาระทางการเงิน จะมีมาตรการอื่นๆ มารองรับความเดือดร้อนของประชาชนอย่างไร

นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในโครงการร่วมสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนา เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับกิจการไฟฟ้าว่า ขณะนี้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกมีการปรับตัวค่อนข้างสูง โดยล่าสุดอยู่ในระดับ 71 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งสูงกว่าที่เคยประมาณการไว้ที่คาดว่าปีนี้จะเฉลี่ยที่ 55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

สำหรับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น มีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันโดยตรง และ ยังสะท้อนไปยังราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ากว่า 70% ให้สูงตามไปด้วย หากราคาน้ำมันยังคงปรับเพิ่มขึ้น ต่อเนื่อง ก็จะยิ่งกระทบกับค่าเอฟทีให้สูงตาม

“กฟผ.จะติดตามแนวโน้มราคาน้ำมันต่อไป และยืนยันว่ายังไม่ต้องการปรับค่าไฟฟ้าในขณะนี้ เนื่องจากจะเป็นภาระของประชาชน แต่หากในอนาคตน้ำมันตลาดโลกปรับสูงขึ้น ก็คงต้องพิจารณาฐานะการเงินโดยรวมด้วย” นายสมบัติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากฟผ. ยังคงแบกรับภาระค่าเอฟทีให้กับประชาชนอยู่ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน จะทยอยจ่ายคืนให้ในรูปแบบของการหักจากค่าไฟฟ้าในช่วงที่สามารถปรับลดได้ โดยยอมรับว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้กฟผ. จะได้รับเงินคืนจากการชดเชยค่าเอฟทีช้ากว่าเป้าเดิมกำหนดภายในปี 2553 เป็นกลางปี 2554

นายสมบัติ กล่าวว่า สำหรับการใช้ไฟฟ้าของประเทศช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ปรับตัวลดลง 3.74% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ประมาณการว่าตลอดปีนี้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าจะลดลง 2.5% หรือ 3,000-4,000 ล้านหน่วย

นายดิเรก ลาวัลย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า ปลายเดือนส.ค.นี้ จะมี การประชุมเพื่อพิจารณาค่าเอฟทีงวดใหม่

ข้อมูลจาก นสพ.โพสต์ทูเดย์ 07/08/09

พิมพ์