กฟผ.ชี้ขาด3พื้นที่เหมาะสมตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปี53

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) วันที่ . จำนวนผู้ชม: 3645

กฟผ.คาดสรุปผลสำรวจพื้นที่เหมาะสมก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เหลือ 3 แห่งในเดือน มี.ค.ปีหน้า ก่อนชง ครม.ชี้ขาดอีกครั้ง พร้อมขยายพื้นที่สำรวจ จ.ชลบุรี แต่ตัดพื้นที่ จ.ชุมพรและประจวบฯ ออกไป หลังถูกชาวบ้านต่อต้านหนัก
นายกมล ตรรกบุตร ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการศึกษาความเป็นไปได้โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทย ว่า ปัจจุบันได้ศึกษาเสร็จไปแล้ว 43% โดยในส่วนของสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น บริษัท เบิร์นแอนด์โรว์ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาความเป็นไปได้การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้สำรวจพื้นที่เพิ่มอีก 4 แห่ง รวมพื้นที่สำรวจ 9 แห่ง จากเงื่อนไขในสัญญา หรือทีโออาร์ ที่ทำกับ กฟผ.ระบุให้สำรวจพื้นที่ 14 แห่ง

โดยพื้นที่ที่สำรวจไปแล้วได้แก่ พื้นที่ จ. สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช และ จ.ชัยนาท ส่วนพื้นที่ที่สำรวจเพิ่มเติมคือ จ.ชลบุรี อย่างไรก็ตาม ยังเหลือพื้นที่ต้องสำรวจอีก 5 แห่ง ซึ่งเดิมกำหนดสำรวจพื้นที่ จ.ชุมพร และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่ถูกชาวบ้านคัดค้าน ทำให้ต้องย้ายไปศึกษาในพื้นที่จังหวัดอื่นแทน หากสำรวจครบ 14 แห่งแล้วจะเก็บข้อมูลธรณีวิทยา เลือกตำแหน่งหลุมเจาะ สำรวจสภาพพื้นดินว่าเหมาะสมกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ โดยจะคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดในเดือนมี.ค.2553 ก่อนเสนอ ครม.พิจารณาชี้ขาดอีกครั้ง

ส่วนศึกษาข้อมูลด้านเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น ขณะนี้ได้เจรจากับผู้ประกอบการจากแคนาดา ญี่ปุ่น สหรัฐ และฝรั่งเศส เพื่อศึกษาว่าเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของประเทศใดเหมาะสมกับไทย โดยช่วงนี้อยู่ระหว่างร่างสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูลด้านเทคโนโลยีสู่สาธารณะ หากประเทศใดให้ไทยศึกษาข้อมูลก็จะได้รับสิทธิเข้าร่วมประมูลคัดเลือกเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์หากไทยเดินหน้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ทั้งนี้ นอกจากศึกษาสถานที่และเทคโนโลยีนิวเคลียร์แล้ว บริษัทที่ปรึกษาได้จัดเตรียมบุคลากรด้านปฏิบัติงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขณะนี้อยู่ระหว่างฝึกอบรมเพิ่มอีก 50 คน จากที่อบรมไปแล้ว 50 คน หลังจากนั้นจะสอบคัดเลือกและส่งไปอบรมต่อที่จีนและญี่ปุ่น นอกจากนั้นยังเตรียมปริมาณความต้องการไฟฟ้าของประเทศในอนาคตด้วย

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

พิมพ์