พลังงานสั่งเพิ่มสำรองแอลพีจี

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) วันที่ . จำนวนผู้ชม: 2888

กรมธุรกิจพลังงาน บีบผู้ค้าเพิ่มสำรองแอลพีจีจาก 2 วัน เป็น 4 วัน ป้องกันปัญหาขาดแคลน

 

นายศิริศักดิ์ วิทยอุดม รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เพิ่มสัดส่วนปริมาณสำรองก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) จากปัจจุบันสำรองในอัตรา 0.5% เพิ่มเป็น 1% หรือจาก 2 วัน เป็น 4 วัน เพื่อเป็นการรักษาความสมดุลระหว่างความต้องการให้เกิดความเหมาะสม ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลน

ทั้งนี้ การเพิ่มสำรองแอลพีจี ทางภาครัฐจะให้เวลากับผู้ประกอบการเตรียมตัวอย่างน้อย 2 ปี เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสร้างคลังเก็บสำรองแอลพีจี รวมทั้งการจัดวางระบบสาธารณูปโภค
 

ปัจจุบันคลังแอลพีจีของปตท.มีความจุในปริมาณ 6-8 หมื่นตันเท่านั้น ซึ่งบางครั้งไม่เพียงพอในการให้บริการ โดยเฉพาะในช่วง ที่มีการนำเข้าแอลพีจีเดือนละ 4-6 หมื่นตัน จนต้องมีการบรรทุกบนเรือลอยลำอยู่ในทะเล เพื่อ รอให้มีการระบายแอลพีจีในคลังออกไปก่อน
 

“การเพิ่มสำรองแอลพีจีมีจุดประสงค์หลักเพื่อป้องกันไม่ให้ เกิดปัญหาขาดแคลน เพราะปัจจุบันปริมาณการใช้ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงที่น้ำมันราคาแพง สังเกตได้จากไทยยังต้องนำเข้าแอลพีจีมาใช้ ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้รับการเห็นชอบในหลักการจากกระทรวงแล้ว” นายศิริศักดิ์ กล่าว
 

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2550 กำหนดไว้ว่าเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ จึงกำหนดให้ผู้ค้ามาตรา 7 ต้องสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงไว้เพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมีการกำหนดให้มีการสำรองน้ำมันดิบ 5% น้ำมันสำเร็จรูป 5% และแอลพีจี 0.5%
 

สำหรับปริมาณการนำเข้า แอลพีจีจากต่างประเทศในเดือนก.ค. คาดว่าจะอยู่ที่ 6 หมื่นตัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย. อยู่ที่ 4 หมื่นตัน เนื่องจากความต้องการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมมีการขยายตัว โดยก่อนหน้านี้ปตท. ในฐานะเป็นผู้นำเข้าแอลพีจี คาดว่าสัดส่วนการนำเข้าแอลพีจีช่วงครึ่งปีหลังจะอยู่ที่เดือนละ 6 หมื่นตัน
 

นายศิริศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ทางกรมธุรกิจพลังงานเตรียมเสนอให้มีการผ่อนผันประกาศปรับปรุงระบบควบคุมไอระเหยน้ำมันในสถานีบริการน้ำมัน รถขนส่งน้ำมัน และคลังน้ำมันในพื้นที่ 23 เขตทั่วกรุงเทพฯ เนื่องจากระเบียบดังกล่าวสร้างภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายให้กับเจ้าของกิจการค่อนข้างมาก โดยเฉพาะ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ

 

พิมพ์