ราคาน้ำมันที่เหมาะสม

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) วันที่ . จำนวนผู้ชม: 3983

เวลาเราพูดถึงราคาน้ำมันที่เหมาะสม จะมีคำถามถามมาตลอดว่าเหมาะสมกับอะไร และเหมาะสมกับใคร

เหมาะสมกับอะไร หมายถึง เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่งแตกต่างกันไปตามนโยบายเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ และตามสภาพของทรัพยากรธรรมชาติทางด้านพลังงานของประเทศนั้นๆ หรือสังคมนั้นๆ

สำหรับประเทศที่ร่ำรวยทรัพยากรพลังงาน อย่างเช่นประเทศผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่อย่างเช่นประเทศในกลุ่มโอเปกหรือนอกโอเปก ก็ตั้งราคาพลังงานให้เหมาะสมกับความร่ำรวยด้านพลังงานของตน เพื่อให้ประชาชนพอใจ ได้ใช้พลังงานในราคาถูกๆ อย่างเช่น เวเนซุเอลาตั้งราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศถูกที่สุดในโลก ในราคาเพียง 1 บาทต่อลิตรเป็นต้น

ส่วนคำถามที่ว่าเหมาะกับใคร ก็หมายความว่าราคาน้ำมันที่เหมาะสมกับผู้ผลิตและผู้บริโภคย่อมต่างกัน ผู้ผลิตต้องการราคาน้ำมันสูงๆ เพราะเป็นรายได้ของตน ยิ่งสูงก็ยิ่งมีรายได้มากขึ้น ส่วนผู้บริโภคต้องการราคาน้ำมันต่ำๆ เพื่อลดรายจ่ายของตน นอกจากนั้นราคาน้ำมันยังมีผลต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ เพราะน้ำมันคือต้นทุนตัวหนึ่งในการผลิตและขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นประเทศที่กำลังพัฒนาหรือประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) จึงพยายามกดราคาน้ำมันให้ต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อบรรเทาภาระของประชาชนและเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวมากๆ

ดังนั้นราคาน้ำมันที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงอย่างถล่มทลายมาอยู่ที่ 40-50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ชาติตะวันตกซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่บอกว่าเหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานในขณะนี้แล้ว โดยให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะถดถอย ความต้องการน้ำมันมีแต่จะลดลง

แต่ประเทศผู้ผลิตก็โต้แย้งว่า ราคาที่ 40-50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลนั้นต่ำเกินไป เพราะไม่คุ้มกับการพัฒนาแหล่งผลิตน้ำมันใหม่ๆ ที่มีต้นทุนการผลิตสูง และจะทำให้โครงการขุดเจาะและสำรวจแหล่งพลังงานใหม่ๆ ต้องสะดุดหยุดลงหรือเลิกล้มโครงการกันไป และในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวก็จะเข้าสู่วังวนหรือวัฏจักรเดิมๆ ที่ราคาน้ำมันจะแพงขึ้น เพราะปริมาณน้ำมันที่มีอยู่จะตึงตัว เนื่องจากความต้องการน้ำมันจะเพิ่มมากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ดังนั้นจึงพอจะวางใจได้ว่าราคาน้ำมันในปีนี้น่าจะไม่สูงกว่า 60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาปีหน้าน่าจะอยู่ที่ 70-75 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ถ้าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจริงในปี 2010 อย่างที่คาดการณ์กัน

ส่วนราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยก็เช่นกัน เริ่มมีเสียงตำหนิติติงกันออกมาแล้วทั้งจากผู้บริโภคและสื่อว่าราคาสูงเกินไป เพราะผู้ค้าน้ำมันเอาเปรียบ ตั้งค่าการตลาดสูงเกินไป ดังนั้นประเด็นที่ควรหยิบยกขึ้นมาถกเถียงหาข้อสรุปกันโดยเร็วที่สุด คือค่าการตลาดที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไร 1.50 บาทต่อลิตร หรือ 1.80 บาทต่อลิตร เพราะราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่เหมาะสมก็ขึ้นอยู่กับค่าการตลาดที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน

ในส่วนของบริษัทน้ำมันนั้นผมใคร่ขอเสนอแนะว่า บริษัทน้ำมันควรเปลี่ยนแนวทางในการปรับราคาขายปลีกน้ำมันให้เป็นแบบ "ขึ้นเร็ว ลงเร็ว" เพื่อตอบสนองราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างทันท่วงที ไม่สร้างความสับสนให้กับผู้บริโภค เพราะข่าวสารเดี๋ยวนี้รวดเร็วและมีข้อมูลด้านน้ำมันเสนอกันทุกวัน เวลาราคาตลาดโลกลดลง ผู้บริโภคก็คาดหวังว่าราคาในประเทศต้องลดตามทันที

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2428 21 พ.ค. - 23 พ.ค. 2552

พิมพ์