มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยวิจัยการกำหนดราคา “ขนส่งสาธารณะ” ของรัฐ สภาผู้ชม ไทยพีบีเอสชี้ปัญหา 3 อันดับแรก ความปลอดภัย-รถไม่ได้มาตรฐาน-รถไม่เพียงพอ

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค วันที่ . จำนวนผู้ชม: 5667

S 14139438

          วันที่ 5 เมษายน 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ไทยพีบีเอส จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น “การเดินทางสาธารณะในกรุงเทพฯ” ชวนให้ผู้เข้าร่วมเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการเดินทางสาธารณะ ทั้งรถโดยสารสาธารณะประจำทาง รถไฟฟ้า และเรือเมล์ประจำทาง เชื่อมโยงกับประเด็นเมืองน่าอยู่ ความปลอดภัย เมืองทันสมัย เมืองเป็นธรรม เมืองสร้างสรรค์ เมืองมีส่วนร่วม เสนองานวิจัยเกี่ยวกับการกำหนดราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรมและเข้าถึงได้ พร้อมข้อเสนอต่อภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสภาผู้ชม ไทยพีบีเอส จะนำความคิดเห็นสะท้อนไปสู่เชิงนโยบายที่ผู้ว่ากรุงเทพฯ ในอนาคต ในแคมเปญ “ปลุกกรุงเทพฯ เปลี่ยนเมืองใหญ่ เลือกตั้งผู้ว่าฯ 65”

          นางฐาณิษา สุขเกษม นักวิจัยอิสระ มพบ. กล่าวถึงงานวิจัยเกี่ยวกับการกำหนดราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรมและเข้าถึงได้ว่า ในมุมของคนทั่วไปเมื่อผู้บริโภคออกไปเคลื่อนไหวจะมองว่ามองแต่ในมุมของเรา ไม่ได้มองมุมของผู้ประกอบการหรือภาครัฐเลย ฉะนั้นจึงจะทำงานวิจัยใน 2 มิติ เพื่อให้เห็นถึงหลักการกำหนดค่าโดยสารมากขึ้นและเห็นภาพรวมของราคาโดยสารสาธารณะทั้งไทยและต่างประเทศเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ เนื้อหาวิจัยเริ่มต้นจากฐานคิดของภาครัฐในการจัดการขนส่งสาธารณะ ได้แก่ เป้าหมายรายได้ ความเท่าเทียมทางสังคม เป็นมิตรกับผู้โดยสาร กลุ่มผู้ใช้เป็นประจำ และจุดคุ้มทุน ส่วนฐานคิดของผู้โดยสารขนส่งสาธารณะ ได้แก่ ความคุ้มค่า ราคาที่เป็นธรรม ความสะดวก ความยืดหยุ่น ความคุ้มครองและความปลอดภัย

          ในเรื่องขอวิธีการกำหนดราคาค่าโดยสารจากทั่วโลก แบ่งออกเป็น 5 แบบ ได้แก่ 1.ราคาเดียว เหมาะกับเมืองที่มีขนาดเล็ก 2.ราคาตามระยะทาง เช่น รถเมล์ปรับอากาศที่จะคิดราคาตามระยะทาง 3.ราคาตามโซน/เขต ในประเทศไทยยังไม่ค่อยเห็นแต่ต่างประเทศจะเห็นการกำหนดแบบนี้ค่อนข้างมาก ใช้ในเมืองที่มีการจัดโซนที่ชัดเจน เช่น อังกฤษ 4.ราคาตามช่วงเวลา เช่น กำหนดราคารถสาธารณะต่ำลงในช่วงเวลาที่คนเข้าออกเมืองจำนวนมาก เพื่อลดการใช้รถส่วนตัวและสนับสนุนให้ใช้รถสาธารณะ 5.วิธีผสมผสาน

1001

          เมื่อเทียบค่าโดยสารสาธารณะปัจจุบันของไทย (แบบไป-กลับ) กับรายได้เฉลี่ยต่อวัน 300 บาท ข้อมูล ณ วันที่ 6 มี.ค. 65 รถเมล์ประจำทาง ราคาต่ำสุดคิดเป็น 5.33% ต่อรายได้ขั้นต่ำ ราคาสูงสุดคิดเป็น 18% ต่อรายได้ขั้นต่ำ BTS ราคาต่ำสุดคิดเป็น 10.67% ราคาสูงสุดคิดเป็น 39.34% MRT ราคาต่ำสุดคิดเป็น 9.34% ราคาสูงสุดคิดเป็น 28% ARL ราคาต่ำสุดคิดเป็น 10% ราคาสูงสุดคิดเป็น 30% เรือเมล์ประจำทาง เรือด่วนแสนแสบ ราคาต่ำสุดคิดเป็น 6% ราคาสูงสุดคิดเป็น 12.67% เรือด่วนเจ้าพระยา ราคาต่ำสุดคิดเป็น 10% ราคาสูงสุดคิดเป็น 33.34%

          ส่วนค่าโดยสารสาธารณะของต่างประเทศ เทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อวัน แบ่งเป็นรถเมล์ประจำทาง 1.สิงคโปร์ รายได้เฉลี่ยต่อวัน 4,163 บาท ราคาต่ำสุดคิดเป็น 1.06% ต่อรายได้ขั้นต่ำ ราคาสูงสุดคิดเป็น 2.5% ต่อรายได้ขั้นต่ำ กำหนดราคาตามระยะทาง 2.มาเลเซีย รายได้เฉลี่ยต่อวัน 395 บาท ราคาต่ำสุดคิดเป็น 3.94% ราคาสูงสุดคิดเป็น 19.72% กำหนดราคาตามโซน/เขต 3.อินโดนีเซีย รายได้เฉลี่ยต่อวัน 168-420 บาท ราคาต่ำสุดคิดเป็น 9.46-3.78% ราคาสูงสุดคิดเป็น 9.46-3.78% กำหนดราคาเดียว รถไฟฟ้า 1.สิงคโปร์ รายได้เฉลี่ยต่อวัน 4,163 บาท ราคาต่ำสุดคิดเป็น 0.22% ต่อรายได้ขั้นต่ำ ราคาสูงสุดคิดเป็น 1.42% ต่อรายได้ขั้นต่ำ กำหนดราคาตามระยะทาง โดยสิงคโปร์กำหนดราคารถไฟฟ้าถูกกว่ารถเมล์ เพราะอยากให้คนใช้รถไฟฟ้า 2.ญี่ปุ่น รายได้เฉลี่ยต่อวัน 2,307 บาท ราคาต่ำสุดคิดเป็น 4.00% ราคาสูงสุดคิดเป็น 7.75% กำหนดราคาตามระยะทาง 3.อังกฤษ รายได้เฉลี่ยต่อวัน 3,175 บาท ราคาต่ำสุดคิดเป็น 6.53% ราคาสูงสุดคิดเป็น 14.43% กำหนดราคาวิธีผสมผสาน ตามโซน ประเภทบัตร และช่วงเวลา

1003

          นางหทัยรัชฌ์ เปี่ยมวิทย์ สมาชิกสภาผู้ชม กรุงเทพฯ และปริมณฑล ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ปัญหาที่พบของรถสาธารณะ คือ 1.ความปลอดภัย 2.สภาพรถไม่ได้มาตรฐาน 3.ปริมาณรถไม่เพียงพอ 4.ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ 5.คุณภาพและมารยาทของพนักงาน สิ่งที่ต้องการในวันนี้คือจะเสนออะไรกับภาครัฐ จึงอยากฟังว่าการบริการที่เป็นมิตรเป็นอย่างไร ให้รัฐทำอย่างไรบ้าง โครงสร้างราคาที่เป็นธรรมและทุกคนเข้าถึงได้คืออย่างไร มาตรฐานความปลอดภัยเป็นอย่างไร โดยการแสดงความคิดเห็นจะอยู่ในประเด็น กทม.เดินทางทั่วถึง คล่องตัว เชื่อมโยงเมืองด้วยระบบบริการสาธารณะแบบบูรณาการ ต้องการให้รถสาธารณะเพียงพอ คล่องตัว และปลอดภัย รองรับเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เสมอภาคและเท่าเทียม และมีอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ ความคิดเห็นและข้อเสนอในเวทีนี้จะสะท้อนไปสู่เชิงนโยบาย และเอาประเด็นไปกำหนดเป็นวาระเพื่อไปขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม

996

1006

1007

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ขนส่งมวลชน, สภาผู้ชม, ไทยพีบีเอส, ขนส่งสาธารณะ, การเดินทางสาธารณะ, ปลุกกรุงเทพ, ราคาค่าโดยสารสาธารณะ

พิมพ์