‘วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม’ วิทยาลัยแสงอาทิตย์แห่งที่ 2 เดินหน้าปฏิวัติพลังงานบนหลังคา

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค วันที่ . จำนวนผู้ชม: 1795

8A76215A EFD5 41DB 8243 D89A342F7E27กองทุนแสงอาทิตย์ (Thailand Solar Fund) เปิดตัว “Solar Generation วิทยาลัยแสงอาทิตย์” แห่งที่ 2 ที่วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม จ.ลำปาง 

วันนี้ (24 มีนาคม 2564) กองทุนแสงอาทิตย์ (Thailand Solar Fund) เปิดตัว “Solar Generation วิทยาลัยแสงอาทิตย์” โดยติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปขนาด 10.8 กิโลวัตต์ ที่วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง โดยเป็นวิทยาลัยแสงอาทิตย์จากเงินบริจาคของประชาชนแห่งแรกในภาคเหนือ [1] และเป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของจังหวัดลำปางเพื่อขยายผลให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับนักเรียนนักศึกษาในอนาคต

“Solar Generation วิทยาลัยแสงอาทิตย์” ที่วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม จังหวัดลำปางนี้ เป็นโครงการแห่งที่ 2 ของกองทุนแสงอาทิตย์[2] เพื่อติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปให้กับวิทยาลัยสายอาชีพ 7 แห่งทั่วประเทศ โดยเริ่มจากวิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรีเป็นแห่งแรกในเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา

รศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการกองทุนแสงอาทิตย์ กล่าวว่า ระบบโซลาร์รูฟท็อปที่วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม จังหวัดลำปางซึ่งมีขนาด 10.8 กิโลวัตต์นี้ใช้แผงโซลาร์เซลล์แบบโมโนขนาด 450 วัตต์จำนวน 24 แผง มีต้นทุน 400,000 บาท คาดว่าจะช่วยลดค่าไฟฟ้าให้วิทยาลัยไม่น้อยกว่า 5,000-7,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับปริมาณแสงอาทิตย์ในแต่ละช่วงฤดูกาล และให้ผลยาวนานต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 25 ปี หรือตามอายุการใช้งานของเซลล์แสงอาทิตย์และอินเวอร์เตอร์

ด้านนายอำนวย เรือนสุข ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม กล่าวว่า การที่วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่มสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาได้รับคัดเลือกให้ติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปจากกองทุนแสงอาทิตย์ นอกจากจะช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับวิทยาลัยแล้ว ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้วิทยาลัยของเราในอำเภอเล็กๆ ของจังหวัดลำปาง เป็นศูนย์เรียนรู้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 

“การติดตั้งโซลาร์เซลล์ช่วยยกระดับการเรียนการสอนของเราและนำไปสู่การสร้างงานสร้างอาชีพ และผลิตกำลังคนในท้องถิ่นออกมาเพื่อรองรับธุรกิจของโซลาร์เซลล์ รวมถึงการสร้างงานใหม่ โดยที่วิทยาลัยยังสามารถดึงคนที่ไม่ได้อยู่สายอาชีพนี้โดยตรงเข้ามาเรียนรู้การทำงานซึ่งจะช่วยให้ประเทศเกิดการแข่งขันและมีตลาดแรงงานที่มีคุณภาพซึ่งตอบโจทย์ในช่วงที่ประเทศพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด” ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม กล่าว

นายอำนวย กล่าวอีกว่า อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปางเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีแหล่งสำรองถ่านหิน (coal reserve)ในภาคเหนือและอาจเป็นพื้นที่เป้าหมายของสัมปทานโครงการเหมืองถ่านหินในอนาคต ตามรายงานของคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ[3] ชี้ให้เห็นถึงแหล่งสำรองถ่านหินที่ยังมีอยู่ในพื้นที่จังหวัดลำปาง ทั้งในพื้นที่อำเภอ งาว แม่ทะ แม่เมาะ ห้างฉัตร เสริมงาม เมืองปาน และแจ้ห่ม นอกจากนี้ลำปางยังเป็นจุดศูนย์กลางของวิกฤตมลพิษทางอากาศของไทย โรงไฟฟ้าลิกไนต์ที่แม่เมาะเป็นแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่น PM2.5 [4] นอกจากเหนือจากการเผาในที่โล่งและไฟป่า

ขณะที่นางสาวจริยา เสนพงศ์ หัวหน้างานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะต้องยุติโครงการเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินในทันที และมุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากด้วยระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด หนึ่งในข้อเสนอของกรีนพีซว่าด้วยปฏิวัติพลังงาน 1 ล้านหลังคาเรือน คือ การดำเนินงานติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงเรียนและสถาบันการศึกษาด้วยงบประมาณ 7,600 ล้านบาทต่อปี [5] ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ซึ่งเป็นคู่หูตัวร้ายของ PM2.5

ร่วมลงชื่อเพื่อผลักดันมาตรการ Net Metering ได้ที่ https://act.gp/2PizTpx


หมายเหตุ :

[1] กองทุนแสงอาทิตย์เปิดรับบริจาคเงินจากประชาชนทั่วประเทศผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) สาขาเซ็นเตอร์วัน ช้อปปิ้งพลาซ่า ชื่อบัญชี “กองทุนแสงอาทิตย์โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เลขที่บัญชี 429-017697-4 โดยมีช่องทางการรับบริจาคและรับหลักฐานการบริจาคเงินทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.thailandsolarfund.org ทั้งนี้การบริจาคเงิน สามารถใช้ในการลดหย่อนภาษีประจำปีได้ ด้วยมูลนิธิฯเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ลำดับที่ 576 ตามประกาศกระทรวงการคลัง

[2] กองทุนแสงอาทิตย์เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาสังคมที่หลากหลายทั้งด้านผู้บริโภค การพัฒนาเด็ก สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อระดมทรัพยากรติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ทำงานรณรงค์ผลักดันให้เกิดขยายตัวของระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาในระดับครัวเรือน หน่วยงานและสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชน และภาคธุรกิจ บนพื้นฐานของการมี ส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปพลังงานโดยการลงมือทำจริงในพื้นที่เป้าหมายและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานหมุนเวียน เครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน(คอบช), สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ), เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค, สมาคมประชาสังคมชุมพร, มูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต, บริษัทศูนย์บ่มเพาะวิศวกร จำกัด, Solarder, โรงเรียนศรีแสงธรรม, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด), เครือข่ายสลัม4ภาค, มูลนิธิภาคใต้สีเขียว, เครือข่ายลันตาโกกรีน Lanta Goes Green, มูลนิธิสุขภาพไทย และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thailandsolarfund.org

[3] รายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง ทิศทางการใช้พลังงานฟอสซิลของไทยในอนาคต กรณีถ่านหิน โดยคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี 2562 https://www.senate.go.th/document/mSubject/Ext85/85011_0001.PDF

[4] https://www.greenpeace.org/thailand/press/1706/greenpeace-push-thai-government-upgrade-aqi/

[5] https://www.greenpeace.org/thailand/story/17230/climate-netmetering-one-million-solar-revolutions-on-school-and-university-rooftop/ 

พิมพ์