ยื่น กมธ. คุ้มครองผู้บริโภค ตรวจสอบ ‘การทางฯ’ เหตุต่อ ‘สัมปทานทางด่วน’ ให้ BEM

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค วันที่ . จำนวนผู้ชม: 12669

news pic 15012020 BEMnParliement 1

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สหภาพฯ และทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือให้ตรวจสอบ กทพ. ต่อ กมธ. คุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร พร้อมระบุ การต่อสัมปทานระยะที่ 2 อาจทำให้รัฐเกิดความเสียหายมากกว่า 200,000 ล้านบาท รวมถึงผู้บริโภคจะต้องจ่ายค่าผ่านทางแพงขึ้น

         จากการที่เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2563 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และภาคประชาชน จัดแถลงถึงเหตุผลในการคัดค้านการต่ออายุสัญญาสัมปทานให้ BEM ไปอีก 15 ปี 8 เดือน โดยให้เหตุผลว่า รัฐจะเสียประโยชน์มากกว่า 2 แสนล้าน และผู้บริโภคจะต้องจ่ายเงินค่าผ่านทาง ‘ทางด่วน’ แพงขึ้น 10 บาท ทุก 10 ปี ทั้งที่ไม่มีต้นทุนในการลงทุน มีเพียงการบริหารจัดการเก็บเงินค่าผ่านทางเท่านั้น (อ่านข่าวเพิ่มเติมมพบ. ชี้ การต่อสัมปทานให้ BEM อีก รัฐจะเสียประโยชน์มากกว่า 2 แสนล้าน และสร้างภาระให้กับผู้บริโภค)

          วันนี้ (15 มกราคม 2563) ที่รัฐสภา ตัวแทนจาก มพบ. ตัวแทน สร.กทพ. และ ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อ นายมานะ โลหะวณิชย์ ประธานคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบการต่ออายุสัญญาสัมปทานระยะที่ 2 ของคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยให้เหตุผลว่า การต่ออายุสัญญาสัมปทานระยะที่ 2 ของ กทพ. ให้กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) อาจทำให้เกิดความเสียหายมากกว่า 200,000 ล้านบาท ขณะที่ต้องจ่ายค่าแพ้คดีเพียง 4,318 ล้านบาท ประกอบกับการต่ออายุสัญญาสัมปทานดังกล่าวจะส่งกระทบกับผู้บริโภค คือ ผู้บริโภคจะเสียประโยชน์จากการที่ต้องจ่ายค่าผ่านทางแพงขึ้นจนถึงปี 2578

          อีกทั้งกระบวนการต่ออายุสัญญาสัมปทานที่กล่าวไปข้างต้น พบว่า มีการใช้ข้อมูลมูลค่าความเสียหายจากคดีที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้รัฐเสียประโยชน์อย่างมาก เพราะหากคิดมูลค่าจากคดีที่ยังไม่มีการฟ้องร้องโดยนำเรื่องในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้นมาเป็นมูลค่าความเสียหาย รวมถึงการพิจารณาคดีที่อาจแพ้ทุกคดีมาเป็นข้อมูลหลักประกอบการตัดสินใจนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

          จากเหตุผลข้างต้น คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สสอบ.) มพบ. และ สร.กทพ. จึงขอให้ กมธ. คุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการตรวจสอบการต่ออายุสัญญาสัมปทานระยะที่ 2 ของ กพท. ผู้ว่า กทพ. และผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคผู้ใช้ทางด่วนพิเศษระยะที่ 1 และระยะที่ 2 และประโยชน์สาธารณะnews pic 15012020 BEMnParliement 2

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, ทนายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค, องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค, ทางด่วน, BEM, การทางพิเศษ, สัมปทาน, สัญญา, ข้อพิพาท, สหภาพฯ, กมธ

พิมพ์