มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่าย #NoCPTPP เป็นตัวแทน 400,000 เสียง แสดงพลังย้ำชัดให้ยุติการเข้าร่วม CPTPP “ถ้าไม่คืนความสุข ก็อย่าส่งความทุกข์ด้วยการเข้าร่วม CPTPP”

ภาพข่าวงานคัดค้าน cptpp 01

          วันที่ 2 ธันวาคม 2564 มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) มูลนิธิบูรณะนิเวศ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ กลุ่มศึกษาปัญหายา และเครือข่ายงดเหล้า จัดงาน “ความฉิบหายจะมาเยือน Say No to CPTPP บอกแล้วไม่เอา CPTPP” ณ สวนชีววิถี-สวนผักคนเมือง ไทรม้า นนทบุรี เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุติการเดินหน้าพิจารณาการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) รับฟังเสียงของประชาชนที่คัดค้านมานานร่วมสองปี ริดรอนสิทธิและตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในประเทศ

          ภายในงานจัดนิทรรศการ 4 ฐานความรู้ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความตกลง CPTPP คือ 1.เมล็ดพันธุ์รากฐานสังคม 2.ขยะนำเข้าทำลายคุณภาพชีวิต 3.ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตาข่ายสังคม 4. นโยบายสาธารณะ คุ้มครองผู้บริโภค คุ้มครองประชาชน และปิดท้ายด้วยการร่วมแถลงการณ์จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี  เรื่อง ถ้าไม่คืนความสุขให้ประชาชน ก็อย่าส่งความทุกข์ด้วยการเข้าร่วม CPTPP

          ฐานที่ 1 เมล็ดพันธุ์รากฐานสังคม โดยไบโอไทย กล่าวถึงผลกระทบเมื่อไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP ซึ่งมีเงื่อนไขต้องแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช 2542 ให้เป็นไปตาม UPOV1991 จะส่งผลกระทบต่อสิทธิเกษตรกรและการจัดการทรัพยากรชีวภาพเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ เกษตรกรจะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อ หรือผลิตเมล็ดพันธุ์ เพราะถือว่าเป็นความผิดทางอาชญากรรม ต้องพึ่งพาของบริษัทเท่านั้น ทำให้ไม่มีความหลากหลายทางพืชพรรณและอาหาร

cptpp1.1

cptpp1.2

cptpp1.3

            ฐานที่ 2 ขยะนำเข้าทำลายคุณภาพชีวิต โดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงปัญหาการนำเข้าขยะพลาสติก ที่ประเทศไทยเคยนำเข้าขยะพลาสติกจำนวนมากจากญี่ปุ่น จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งการเข้าร่วม CPTPP จะเป็นการซ้ำรอยเหตุการณ์ดังกล่าว จะมีการนำเข้าขยะมากขึ้นและพยายามทำให้อาเซียนเป็นแหล่งรีไซเคิลขยะขนาดใหญ่ มีการส่งออกนำเข้าขยะทุกประเภท โดยที่ไม่มีกฎหมายควบคุม ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ประเทศไทยมีแต่มลพิษ จึงต้องเรียกร้องการรีไซเคิลที่สะอาดและเป็นธรรม ต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบและความไม่เป็นธรรมในสิ่งแวดล้อม

cptpp2.1

cptpp2.2

            ฐานที่ 3 ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตาข่ายสังคม โดยเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์และกลุ่มศึกษาปัญหายา กล่าวถึงผลกระทบกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อเข้าร่วม CPTPP จะทำให้ยามีราคาแพง เพราะยาติดสิทธิบัตรและขอขึ้นทะเบียนยาไม่ได้ กลายเป็นการผูกขาดตลาดยา จนทำให้ระบบประกันสุขภาพต่างๆ ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ ไม่สามารถจ่ายค่ายาได้เพียงพอ จึงต้องให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ายาด้วย หรือถ้ารัฐบาลจะประกาศบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา (CL) ระงับการคุ้มครองสิทธิบัตร เพื่อนำเข้ายาหรือผลิตยาเองนั้น ในการเข้าร่วม CPTPP จะใช้มาตรการนี้ไม่ได้ เพราะถ้านโยบายทำให้ผลประกอบการของบริษัทยาลดลง บริษัทเอกชนต่างชาติจะสามารถฟ้องร้องรัฐบาลได้ แม้จะทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

cptpp3

          ฐานที่ 4 นโยบายสาธารณะ คุ้มครองผู้บริโภค คุ้มครองประชาชน โดยสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) และเครือข่ายงดเหล้า มีนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ. ร่วมบรรยายถึงผลกระทบกับผู้บริโภคเมื่อเข้าร่วม CPTPP คือ ยาจะมีราคาแพง ถูกบังคับให้นำเข้าเครื่องมือแพทย์มือสอง มีความเสี่ยงในการซื้อสินค้าออนไลน์ มีความเสี่ยงจากภัยของเครื่องสำอางด้อยคุณภาพ และได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่มีหรือปนเปื้อนสารตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) และการปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมูและเครื่องในหมู รวมทั้งเครือข่ายงดเหล้าได้กล่าวถึง ผลกระทบของการเข้าร่วม CPTPP กับสินค้าทำลายสุขภาพ ที่ทำให้ดึงดูดนักลงทุนกับสินค้าเหล่านี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ แอลกอฮอล์ กติกาที่มีอยู่แล้วอาจจะบังคับไม่ได้ เพราะจะมีบทคุ้มครองและให้อำนาจกลุ่มทุน ทำให้รัฐบาลไม่กล้าออกมาตรการคุ้มครองประโยชน์ของสาธารณะ โดยที่ปีที่แล้วสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องจ่ายไป 1,300 ล้านบาท ประกันสังคมจ่ายไป 455 ล้านบาท เพื่อรักษาผู้ป่วยจากแอลกอฮอล์ แสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นการสูญเสียผลประโยชน์มหาศาล เพราะมาตรการคุ้มครองสินค้าที่ทำลายสุขภาพจะลดลง

cptpp4.2

cptpp4.4

cptpp4.3

          นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ทำจดหมายไปถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลดีและผลเสียของการเข้าร่วม CPTPP ถ้าผลเสียมากกว่าขอให้ยุติการทำข้อตกลงนี้ ซึ่งถ้าฟังนิทรรศการในวันนี้จะเห็นว่าประเทศได้รับแต่ผลเสียทั้งนั้น มีแค่บางกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์ เรื่องการซื้อสินค้าออนไลน์ จากเรื่องร้องเรียนของสภาองค์กรของผู้บริโภคในปีนี้ ร้อยละ 50 เป็นเรื่องซื้อของออนไลน์แล้วไม่ได้ของ ฉะนั้นหากเข้าร่วม CPTPP จะเกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการซื้อสินค้าออนไลน์ เพราะร้านค้าออนไลน์ไม่ต้องจดทะเบียน ความไม่มีตัวตนจะยิ่งมากขึ้น กระทบกับคนจำนวนมากที่ซื้อของออนไลน์แน่นอน ส่วนเรื่องผลิตภัณฑ์ที่มี GMO นั้นมีหลายรายการ แต่ฉลากภายในประเทศยังไม่ชัดเจน ไม่ระบุผลิตภัณฑ์ที่เป็น GMO ปัจจุบันยังกำหนดให้ระบุแค่เฉพาะถั่วเหลืองและข้าวโพดเท่านั้น เครื่องสำอางก็จะไม่บังคับให้ระบุหมายเลขจดแจ้ง ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดความเสี่ยงกับผู้บริโภคมากขึ้นในหลายด้าน

cptpp4.1

          ส่งท้ายด้วยภาคีเครือข่ายร่วมแถลงการณ์จดหมายเปิดผนึก ถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง ถ้าไม่คืนความสุขให้ประชาชน ก็อย่าส่งความทุกข์ด้วยการเข้าร่วม CPTPP โดยมีข้อกังวลหลักหากประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง ดังต่อไปนี้

          ประการแรก – การเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP คือการยอมรับข้อตกลงที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นรวมถึงต้องแก้พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เกษตรกรไม่มีสิทธิในการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อในฤดูกาลถัดไป เกิดการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพรรณธัญญาหาร และเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทยอาจมีราคาสูงขึ้น 2-6 เท่า ซึ่งจะส่งผลให้อาหารแพงขึ้น

          ประการที่สอง – CPTPP จะทำให้ประเทศไทยต้องยอมรับการนำเข้าสินค้าที่ปรับสภาพเป็นของใหม่ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ และขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิคส์ โดยที่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการพิกัดศุลกากรที่แยกประเภทสินค้าเหล่านี้ได้อย่างแม่นยำชัดเจน ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเป็นช่องทางให้เป็นการนำเข้าขยะทางการแพทย์ ขยะพลาสติก และขยะอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ

          ประการที่สาม – CPTPP ยังมีบทว่าด้วยการลงทุน ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชนฟ้องร้องรัฐบาล ถ้ารัฐบาลออกหรือบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของนักลงทุนต่างชาติ โดยฟ้องร้องกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) จะส่งผลให้รัฐบาลต้องระงับการออกหรือบังคับใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน และชดเชยค่าเสียหายจำนวนมหาศาลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชน โดยใช้เงินภาษีของประชาชนจ่าย ยิ่งไปกว่านั้น ยังจะทำให้รัฐบาลไม่กล้าที่จะออกหรือบังคับใช้กฎหมายใด ๆ เพราะกลัวจะถูกฟ้องโดยนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชน

          ประการสุดท้าย – ข้อบทใน CPTPP ที่เกี่ยวข้องกับระบบทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค จะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อระบบสุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศไทย เนื่องจากจะทำให้ยารักษาโรคแพงขึ้นอย่างมหาศาล ส่งผลต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งสามระบบ CPTPP ยังจะก่อให้เกิดปัญหาที่รัฐบาลจะไม่สามารถกำหนดและบังคับใช้กฎหมายเพื่อส่งเสริมการเข้ายา รวมไปถึงการจำกัดสิทธิของผู้บริโภคในเรื่องความปลอดภัยของสินค้า เช่น เครื่องสำอาง สินค้าที่ซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ สินค้าที่มีส่วนผสมหรือปนเปื้อนสิ่งที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมหรือ GMO ฯลฯ

          ข้อเสียในแต่ละประการนั้น ไม่ใช่ความสุขของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทย เครือข่าย #NoCPTPP ในฐานะตัวแทนกว่า 400,000 เสียงจากประชาชน ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียุติการพิจารณานำ CPTPP เข้ามติคณะรัฐมนตรี และยุติการเข้าร่วมความตกลง CPTPP อย่างถาวรในทันทีเพื่อเป็นของขวัญส่งท้ายปีให้กับประชาชน

cptpp6 01

cptpp5.2

Tags: CPTPP, NoCPTPP, คัดค้านCPTPP

พิมพ์ อีเมล