เครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสานได้ร่วมแถลงข่าวขอให้รัฐบาลสนับสนุนการออกพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ในเวทีจัดทำแผนยุทธศาสตร์ งานคุ้มครองผู้บริโภคภาคอีสาน เพื่อการขับเคลื่อน พรบ.กองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.. ขึ้น วันที่ 16-17 กันยายน 2554 ณ ห้องแสงตะวัน (ชั้น8) โรงแรมแก่นอินทร์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น
แถลงการณ์เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน
เรื่อง ขอให้รัฐบาลสนับสนุนการออกพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ…
วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๔ ณ ห้องแสงตะวัน โรงแรมแก่นอินท์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น
เครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน เป็นองค์กรภาคประชาชนที่รวมตัวกันดำเนินกิจกรรมเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีการผลักดันให้มีองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค ตั้งแต่การเสนอให้มีในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ ระบุไว้ในมาตรา ๕๗ โดยมีการรณรงค์ รวบรวมรายชื่อเสนอกฎหมาย ประชาสัมพันธ์ เสนอแนะต่อฝ่ายการเมืองเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภค จนเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองต้องเปลี่ยนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ.๒๕๕๐ ระบุในมาตรา ๖๑ ดังนี้
“ สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหายรวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกัน เพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค
ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภครวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย ”
ซึ่งเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน ได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ รวบรวมรายชื่อจำนวน ๑๑,๒๓๐ รายชื่อ เพื่อเสนอ ร่าง พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ…..
ต่อประธานรัฐสภาและกฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรทั้ง ๓ วาระในการประชุมเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๔ โดยมีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง ๓๐๑ ต่อ ๒ เสียง รวมทั้งผ่านความเห็นชอบเบื้องต้นของวุฒิสภาและได้พิจารณาในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาพระราชบัญญัติฉบับนี้ จำนวน ๓ ครั้ง แต่เนื่องจากมีการยุบสภาเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ทำให้มีการพิจารณาร่างกฎหมายของวุฒิสภาต้องหยุดชะงักไป จึงมีความจำเป็นที่คณะรัฐมนตรีจะต้องให้ความเห็นชอบกฎหมายฉบับนี้ภายใน ๖๐วัน หลังจากมีการประชุมรัฐสภาครั้งแรก เมื่อวันที่
๑ สิงหาคม ๒๕๕๔ ดังนั้นครบจำนวน ๖๐ วัน ในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๔ จึงจะสามารถพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับจากวันนี้ไปเหลือเวลา ๑๕ วัน
ในช่วงที่ผ่านมา เครือข่ายผู้บริโภคในจังหวัดต่าง ๆ ของภาคอีสานได้ไปยื่นหนังสือ ทำความเข้าใจกับ สส.ในจังหวัดของตนเพื่อให้สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ เช่น
- จังหวัดหนองคาย ได้ยื่นหนังสือ ต่อว่าที่ รต.ดร.พงษ์พันธ์ สุนทรชัย สส.พรรคเพื่อไทย เขต ๑ หนองคาย
- จังหวัดอุดรธานี ได้ยื่นหนังสือต่อนายขจิตร ชัยนิคม สส.เขต ๔ พรรคเพื่อไทย จ.อุดรธานี
- จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ยื่นหนังสือถึงท่านบุญชื่น ศรีธเรศ รมต.ช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายนิพนธ์ ศรีธเรศ
- จังหวัดหนองบัวลำภู ได้ยื่นหนังสือต่อนายไชยา พรหมา สส.เขต ๓ พรรคเพื่อไทย
- จังหวัดชัยภูมิ ได้ยื่นหนังสือต่อนายสุรวิช คนสมบูรณ์ สส.เขต ๗ พรรคเพื่อไทย และนายเจริญ จรรโกมล สส.เขต ๕ พรรคเพื่อไทย
- จังหวัดนครพนม ได้ยื่นหนังสือต่อนายไพจิต ศรีวรขาน สส.เขต ๓ พรรคเพื่อไทย
- จังหวัดมหาสารคามได้ยื่นหนังสือต่อนางกุสุมาลวตี ศิริโกมุข สส.เขต ๕ พรรคเพื่อไทย และมีการขึ้นป้ายคัตเอ้าขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ เพื่อรณรงค์ในจังหวัดของตนเองให้ สส. และ สว.สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้
ดังนั้น เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน เครือข่ายเด็กและเยาวชน เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายผู้พิการ เครือข่ายผู้ติดเชื้อภาคอีสาน เครือข่ายแรงงานนอกระบบและศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน ๑๙ จังหวัดภาคอีสาน จึงเรียกร้องไปยังคณะรัฐบาลและ สว. เพื่อขอให้สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายในทุกขั้นตอนของกระบวนการตรากฎหมายที่เหลืออยู่ เพื่อเป็นประโยชน์กับการคุ้มครองผู้บริโภคสมดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
สาระสำคัญของ (ร่าง) พรบ.องค์การอิสระ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ...
(ร่าง)พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.....ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐มาตรา ๖๑ ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรทั้ง ๓ วาระในการประชุมเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๔ โดยมีมติเห็นชอบให้ส่งต่อไปยังวุฒิสภา แต่เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔ จึงทำให้การพิจารณากฎหมายของวุฒิสภาต้องหยุดชะงักไป และเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ร่างกฎหมายฉบับนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลอีกครั้งหนึ่งภายใน ๖๐ วันหลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาล วุฒิสภาจึงจะสามารถพิจารณาร่างกฎหมายนี้ต่อไปได้
ทั้งนี้ องค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระตามร่างกฎหมายฉบับนี้ มีบทบาทสำคัญ ดังนี้
๑. ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
๒. ตรวจสอบการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและรายงานไปยังหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ และอาจรายงานเรื่องดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา รวมทั้งเผยแพร่เรื่องดังกล่าวต่อสาธารณชน ทั้งนี้ ให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบดังกล่าวรายงานผลการพิจารณาและการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการภายในระยะเวลาอันสมควร
๓. ดำเนินการและสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริง หรือแจ้งหรือโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียแก่สิทธิของผู้บริโภค ในการนี้จะระบุชื่อสินค้าหรือบริการ หรือชื่อของผู้ประกอบการด้วยก็ได้
๔. สนับสนุนการใช้สิทธิร้องเรียนของผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ประกอบการ และดำเนินการให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการ
๕. ดำเนินคดีต่อศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคซึ่งคณะ
กรรมการเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม โดยคณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งเลขาธิการหรือพนักงานขององค์การเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดี รวมทั้งมีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคที่ร้องขอได้ด้วย ทั้งนี้ การฟ้องและดำเนินคดีดังกล่าว ให้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ไม่รวมถึงความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นที่สุด
๖. สนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่องค์กรผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรผู้บริโภคดังกล่าว ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
๗. ส่งเสริมการศึกษาและการวิจัย รวมทั้งจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรผู้บริโภคหรือประชาชนเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
๘. จัดให้มีการประชุมสมัชชาองค์กรผู้บริโภคอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งเพื่อประเมินการดำเนินงานขององค์การ และติดตามตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเสนอแนะแนวทางในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภค