เปิดตัวเครือข่ายผู้บริโภคสื่อ หวังเกิดองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคด้านสื่อ

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) วันที่ . จำนวนผู้ชม: 4695

เครือข่ายนักวิชาการ เครือข่ายผู้บริโภค เปิดตัวเครือข่ายผู้บริโภคสื่อ หวังผลักดันให้เป็นองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสื่อ


Consumerthai – 10 ก.พ. แผนงานสื่อสร้างสร้างสุขภาวะเยาชน จัดเวทีเสวนา “สิทธิผู้บริโภคสื่อ กับแนวทางแก้ไขและการเรียกร้อง” ณ ห้องประชุม สภาคิสตจักรในประเทศไทย

การจัดเวทีครั้งนี้ นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสร้างสุขภาวะเยาชน (สสย.) หวังว่าผู้บริโภคได้รับรู้ถึงผลกระทบของสื่อและการรักษาสิทธิเบื้องต้นของตนเอง รวมถึงรู้จักแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ และเพื่อผลักดันให้เกิดองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคด้านสื่อ

“สื่อปัจจุบันโดยเฉพาะบริการ SMS ที่ส่งตรงเข้าถึงเยาวชนโดยตรงและรวดเร็ว อีกทั้งเปิดให้ดาวโหลดรูปภาพที่ไม่เหมาะสมทั้งภาพผู้หญิงนุ่งน้อยห่มน้อยหรือคลิปวิดีโอ ที่ส่อไปในเรื่องเพศมากขึ้น  แม้แต่สื่อโฆษณาแฝงทางทีวีก็มากขึ้น  โดยการกระทำเหล่านี้ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคสื่อ การจัดเวทีครั้งน่าจะเป็นจุดเริ่มของตั้งเครือข่ายผู้บริโภคสื่อขึ้นมาเป็นกระบอกเสียงผู้บริโภค รวมถึงถ่วงดุลและต่อรองถึงสิทธิ์ของผู้บริโภคด้านสื่อ” ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสร้างสุขภาวะเยาชนกล่าว

อนึ่งเครือข่ายผู้บริโภคสื่อ ประกอบด้วยนักวิชาการด้านสื่อ เครือข่ายครอบครัว เครือข่ายพ่อแม่ ผู้ปกครอง เครือข่ายเยาวชน เครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก เครือข่ายผู้บริโภค

นางสาวทิชา คงสุทธิ์ ตัวแทนเยาวชน นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา  กล่าวว่าโทรศัพท์ถือว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ในชีวิตประจำวันไปเสียแล้ว เพราะต้องใช้กันอยู่เกือบตลอดเวลา แต่สิ่งที่ไม่ได้ต้องการก็คือ บริการ SMS กวนใจ ที่เข้ามาทางมือถือตลอดเวลา

“มีทั้งข้อความให้ดาวโหลดคลิปยั่วยวนใจ ดาวโหลดเพลง หรือขึ้นว่าให้ทดลอง แต่พอกดสมัครเข้าไปแล้ว ก็หาทางยกเลิกไม่ได้  น่าจะบอกวิธีการยกเลิกมาให้ด้วย  ไม่ใช่มาหลอกกินเงินเราแบบนี้ ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ การส่ง SMS ของผู้ให้บริการนั้นส่งแบบกวาดไปหมด ซึ่งก็จะมีข้อความที่ไม่เหมาะสมส่งถึงน้องๆ เยาวชนด้วย น่าจะมีารจัดเรตติ้ง SMS เหมือนกันจัดเรตติ้งโฆษณา แล้วก็น่าจะมีหน่วยงานขึ้นมาดูแลเรื่องนี้ด้วยค่ะ” ตัวแทนเยาวชนกล่าว

ด้านนายแบ๊งค์  งามอรุณโชติ นักศึกษาปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงมุมมองผู้บริโภคในด้านเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคด้านสื่อว่าตนก็เคยได้รับ SMS กวนใจเช่นกัน ซึ่งในต่างประเทศนั้นมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น ที่บ้านเราก็น่าจะมีเช่นกัน เพียงต่ว่าจะมีกำหนดว่าควรจะมีการชดเชยอย่างไร

“การถูกละเมิดสิทธินั้นส่งผลทำให้เกิดต้นทางทางชีวิต ทำให้เกิดการรบกวนทางด้านจิตใจ และต้องเสียเวลาในการลบข้อความทำให้เสียโอกาสที่จะทำเรื่องอื่นอีกเช่นกัน และการส่งข้อความมานั้นก็มีความจงใจที่จะหลอกลวงผู้บริโภค เช่นการให้โหลดนั่นโหลดนี่ ให้กดไปเรื่อยๆ หรือแม้กระทั้งการขอยกเลิกบริการ ที่ทำยาก ตรงนี้ก็น่าจะมีมาตรการในการชดเชย คิดเป็นดอกเบี้ยย้อนหลังตามจำนวนเงินที่ต้องจ่ายไปตอนยักเลิกบริการไม่ได้ด้วย” นายแบ๊งค์ กล่าว

นายอิทธิพล   ปรีติประสงค์ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล กล่าวว่าปัจจุบันนั้นผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิในการได้รับข้อมูลเพียงพอ เป็นจริง และไม่ก่อให้เกิดความรำคาญ รวมถึงถูกละเมิดสิทธิที่จะได้รับเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์ แต่กลับได้รับสื่อที่ไม่เหมาะสมแทน รวมถึงถูกละเมิดสิทธิในการเป็นส่วนตัว สิทธิในด้านราคาที่เป็นธรรม และยังไม่มีการได้รับการเยียวยา หรือชดเชย ปัญหาที่สำคัญก็คือตัวเรานั้นไม่รู้ถึงสิทธิของตัวเองว่ามีสิทธิอะไรบ้าง รวมถึงกฎหมายยังไม่เพียงพอในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคสื่อ

ด้านนายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(สบท.) กล่าวถึงการดำเนินงานเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคว่า ปัจจุบันนั้นเรามีกฎหมายมากกว่าจิตสำนึกที่ดี การมีกฎหมายต่างๆนั้นก็คือเป็นเรื่องดีที่จะเป็นบรรทัดฐานในการชดเชยกรณีมีการฟ้องกันเกิดขึ้น แต่กฏหมาย อย่างกฎหมายโทรคมนาคมที่กำหนดออกมาแล้ว แต่ไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง การคุ้มครองผู้บริโภคก็ยังไม่เกิด

“ยกตัวอย่างก็คือ กฎหมายกำหนดออกมาแล้วว่าไม่ให้กำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงิน แต่ก็ยังร้องเรียนเข้ามาอยู่ บางคนเติมเงิน 30 บาท อยู่ได้ 3 วัน  บริการ SMS หรือข้อความสั้น ก็เปิดเผยข้อมูลไม่หมดเช่นบริการ SMS ทางอินเทอร์เน็ตที่ให้ทดสอบ ไอคิว ที่หลอกล่อให้ผู้บริโภคสมัครใช้บริการโดยไม่รู้ตัว  และไม่ยอมบอกวิธีการยกเลิกให้ ทั้งที่ในต่างประเทศนั้นจะมีบอกถึงวิธีการยกเลิกมาพร้อมกัน แต่เมืองไทยไม่เป็นอย่างนั้น” ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม

นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าเห็นด้วยหากผู้บริโภคจะลุกขึ้นมาฟ้องร้องผู้ประกอบการเพื่อเป็นตัวอย่าง เพราะปัจจุบันมี พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ที่รองรับผู้บริโภคอยู่แล้ว และใครอยากร้องเรียนบริการด้านโทรคมนาคม ให้ร้องเรียนกับ สบท.ได้ที่ 1200

ด้านนายวัลลภ  ตังคณานุรักษ์  กรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์และกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ กล่าวถึงภาพรวมเชิงนโยบาย การแก้ปัญหาด้านสื่อของไทยว่าคล้ายๆกับการแก้ปัญหาขอทาน ที่ออกมาไล่จับคนขอทาน พอจับเสร็จ กลุ่มที่เป็นเอเย่นก็ไปหาขอทานมาขอทานอีกเช่นเดิม น่าจะมีการจัดการที่ต้นตอปัญหามากกว่า

“นอกจากตัวผู้บริโภคอย่างเราจะรู้ว่าผู้ประกอบการจะหลอกเราอย่างไรแล้ว เราต้องรู้ด้วยกว่าผู้ประกอบการได้กำไรไปเท่าไร แล้วใครเป็นผู้ได้กำไรอีกบ้าง มีหน่วยงานไหนที่ดูแลเรื่องนี้อยู่ จะได้จัดการได้ตรงปัญหา”

นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าขอสนับสนุนให้ผู้บริโภครวมตัวกัน เพื่อเป็นกระบอกเสียง และรวมกันตะโกนออกมาจากกลุ่มคน เพียงหนึ่งหรือสองคน แต่จะเกิดเสียงที่ช่วยผลักดันให้เกิดระบบการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสื่อในที่สุด

 

 




 

พิมพ์