ศึกใหญ่วงการสาธารณสุขยกเว้น “ยา-เวชภัณฑ์” ไม่ต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.สินค้าห่วย

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) วันที่ . จำนวนผู้ชม: 4317

     
       ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องร้อนแรงในแวดวงสุขภาพและกำลังกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้าง ขวาง นั่นก็คือ กรณีที่กระทรวงสาธารณสุขออกร่างกฎกระทรวง เพื่อยกเว้นยาและเครื่องมือแพทย์ไม่เป็นสินค้าไม่ปลอดภัย ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) และคาดว่า จะทราบผลในวันที่ 23 ก.พ.นี้
      
       ก่อนอื่น คงต้องเข้าใจร่วมกันว่า วัตถุประสงค์ในการออกกฎหมายฉบับนี้ ก็คือ การให้ความคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าที่อาจก่อให้เกิด อันตรายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพอนามัย จิตใจ หรือทรัพย์สิน โดยที่ผู้ผลิตเป็นผู้พิสูจน์ความปลอดภัยของสินค้าจากเดิมผู้เสียหายจะต้อง พิสูจน์เองว่าสินค้านั้นไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก อีกทั้งเป็นการยกระดับมาตรฐานในการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย
       
       ประเด็นตรงนี้เองที่ทำให้แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล ฯลฯ ต่างมีความกังวลใจในบังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าว และกลายเป็นสาเหตุที่ต้องมีการออกกฎกระทรวงตามมาในภายหลัง

       “ไม่ค่อยสบายใจ เมื่อเห็นคำจัดกัดความในกฎหมายคำว่า ผู้ผลิตหมายรวมถึงผู้ผสม ปรุง ประกอบ ประดิษฐ์ แบ่งบรรจุ ซึ่งเข้าข่ายเกี่ยวข้องกับวิชาชีพแพทย์และส่งผลกระทบอย่างแน่นอน อย่างทันตแพทย์ต้องทำฟันปลอม อุดฟัน ถือเป็นการประดิษฐ์อย่างหนึ่ง หรือแม้แต่การจ่ายยาก็เป็นการแบ่งบรรจุ แถมกฎหมายยังครอบคลุมผลทางจิตใจด้วย เช่น หากทำฟันปลอมแล้วไม่พอใจ ก็สามารถฟ้องร้องได้ หรืออุดฟันแล้วฟันที่อุดไว้แตกหรือชำรุด ทั้งๆ ที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ ก็อาจนำมาฟ้องร้องได้ ทำให้แพทย์ไม่มั่นใจ ไม่เป็นผลดีเกิดเป็นปัญหาระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการและมีโอกาสที่ จะเกิดการฟ้องร้องเพิ่มขึ้น เพราะฟ้องได้ง่าย แพทย์อาจซื้อประกันเพื่อป้องกันตนเอง และส่งผลให้ค่าบริการสูงขึ้น”ทพ.ไพศาล กังวลกิจ เลขาธิการทันตแพทยสภา อธิบายผลกระทบที่เกิดจาก พ.ร.บ.ความรับผิดฯ
       
       ทพ.ไพศาลแสดง ความเห็นอีกว่า ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่น่าจะครอบคลุมบริการทางการแพทย์ ซึ่งไม่ได้เป็นการขายสินค้าหรือขายยาเพื่อค้ากำไร แต่เป็นการให้บริการรักษาหรือจ่ายยาให้เฉพาะรายบุคคล อย่างในยาฉีด คนไข้แต่ละรายก็ฉีดในปริมาณโดสที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น จึงเห็นด้วยที่มีการออกกฎกระทรวงยกเว้น บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ได้ผลิตสินค้าหรือยาเพื่อจำหน่าย ซึ่งหากแพทย์รักษาไม่ได้มาตรฐานยังคงสามารถใช้พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้ บริโภค พ.ศ.2551 ได้ ไม่ใช่ว่า เกิดปัญหาขึ้นผู้ประกอบวิชาชีพถูกฟ้องครั้งเดียวใช้ 3-4 กฎหมาย อย่างไรก็ดี ข้อยกเว้นควรต้องเขียนให้ชัดเจนว่า ไม่ยกเว้นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นผู้ผลิตหรือนำเข้ายาและเครื่องมือ แพทย์
       
       “แทนที่จะไปเอาผิดกับเจ้าของผู้ผลิตอย่างเดียว หมอที่นำยามาใช้กับคนไข้ต้องโดนด้วย แล้วผมเป็นหมอจะให้ผมพิสูจน์ว่ายาที่ใช้มีความปลอดภัยหรือไม่ก็เป็นเรื่อง ยากเช่นกัน หากรักษาตามตามมาตรฐานวิชาชีพสั่งจ่ายยาตำรา ก็ไม่ควรต้องรับผิดในกรณีนี้ แต่ไม่ใช่ว่าฟ้องไม่ได้ หากยาไม่มีคุณภาพ ซึ่งต้องเขียนให้ชัดเจน การที่ผู้บริโภคออกมาคัดค้านอาจเพราะยังไม่เข้าใจว่าไม่ได้รวมถึงยาทุก ประเภทที่หมอสั่งจ่าย”
       
       ขณะที่ น.อ.(พิเศษ) นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา ยืนยันว่า เห็น ด้วยกับองค์กรผู้บริโภคและไม่ได้คัดค้านหากจะฟ้องร้องบริษัทผู้ผลิตยาหรือ เครื่องมือแพทย์ โดยกฎหมายจะต้องไม่มีช่องโหว่ให้ไม่สามารถเอาผิดบริษัทยาได้ หรือแม้แต่โรงพยาบาลหรือคลินิกที่มีการปรุงยาเพื่อจำหน่าย ก็ไม่ควรได้รับการยกเว้น แต่ยอมรับว่า ความเห็นส่วนหนึ่งอาจจะไม่ตรงกัน เนื่องจากกรอบการผลิตที่มิใช่เชิงพาณิชย์ ไม่มีการค้ากำไรได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วย ซึ่งการแบ่งบรรจุยา การจ่ายยาลักษณะนี้ถือเป็นการบริการจัดการไม่ใช่เรื่องของการผลิต เพราะยาทุกตัว เครื่องมือแพทย์ทุกชนิด จะต้องมีที่มาและมีผู้รับผิดชอบ
       
       “ส่วนการที่มีการระบุว่า หากเป็นการดำเนินการตามมาตรฐานวิชาชีพก็ไม่ต้องกังวลอะไรนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ตามกระบวนการขั้นตอนของศาล เมื่อบุคลากรทางการแพทย์ถูกฟ้องร้องแล้ว แม้จะไม่ได้ทำผิดมาตรฐานวิชาชีพ แต่ต้องชี้แจงพิสูจน์ว่าได้ทำตามมาตรฐาน ซึ่งทุกครั้งต้องเดินทางมาที่ศาลและในกระบวนการมีผู้ที่รับผิดชอบหลายคนก็จะ ต้องมาศาลกันทั้งหมดและไม่ใช่เพียงครั้งเดียว ส่งผลให้ระบบการบริการเกิดความเสียหายได้”
      
       อย่างไรก็ตาม องค์กรผู้บริโภคไม่เห็นด้วยกับความคิดข้างต้น
       น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยืน ยันว่า ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎกระทรวงเพื่อยกเว้นยาและเวชภัณฑ์ เพราะไม่มีประเทศใดในโลกที่มีกฎหมายนี้แล้วมีการออกข้อยกเว้นสำหรับยาและ เครื่องมือแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี ญี่ปุ่น มาเลเซีย ที่สำคัญคือ จะเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการคุ้มครองผู้บริโภคจากผลิตภัณฑ์ ที่ไม่ปลอดภัยหรือไม่
       

       “แพทยสภากลัวเกินเหตุเกินไป เพราะทุกอย่างก็เป็นการบริการตามปกติไม่มีคนไข้คนที่ไหนไปหาหมอเพื่อจับผิด ถ้าไม่เกิดปัญหาขึ้น เพราะทุกคนเมื่อมารับบริการก็ต้องการความปลอดภัย อย่างในกรณีที่มีปรุงยาเอง เช่น หากผสมน้ำเกลือผิดสัดส่วน ผู้ป่วยเกิดหัวใจวายไม่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายฉบับนี้หรืออย่างไร หรือคลินิกเสริมสวยผลิตยาให้แก่คนไข้ของตนเอง แล้วเป็นอย่างกรณีของ คุณรวิวรรณ เสตะรัตน์ ที่ต้องค้นหาพิสูจน์ข้อเท็จจริงจนเสียชีวิต แล้วไม่มีผู้รับผิดชอบหรืออย่างไร”
       
       เช่นเดียวกับ ภญ.รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ อุปนายกสภาเภสัชกรรม (คนที่ 1 ) สภาเภสัชกรรม มองว่า ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากร่างกฎกระทรวงคือ ผู้ผลิตยาและผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งผู้นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะพ้นจากความผิดตามพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวทันที ด้วยเหตุที่เครื่องมือแพทย์ของผู้ประกอบการ ก็เพื่อให้ผู้ประกอบการวิชาชีพแพทย์ใช้กับคนไข้จึงไม่ต้องใส่ใจในการผลิตยา และเครื่องมือแพทย์ ไม่ให้ชำรุด บกพร่องรวมถึงการนำเข้าและการขายสินค้าชำรุด บกพร่องอีกต่อไป
       
       “หากผู้ประกอบวิชาชีพจัดหายาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาหรือจัดหา เครื่องมือแพทย์ที่สามารถระบุตัวผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าได้ ก็พ้นจากความรับผิดตามกฎหมายอยู่แล้ว ดังนั้น ร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม” ภญ.รศ.ดร.จิราพร กล่าว
       
       อย่างไรก็ดี สุดท้ายคงต้องจับตาว่า ในวันที่ 23 ก.พ.นี้ สคก.จะมีคำวินิจฉัยออกมาเช่นไร และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะมีท่าทีอย่างไรในการนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในคณะรัฐมนตรีในวันที่ 24 ก.พ.

รายงานพิเศษ โดย....วรรณภา บูชา  23/2/52 นสพ.ผู้จัดการ

พิมพ์