ธ.อิสลาม-กทม.ช่วยหนี้แสนล.

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) วันที่ . จำนวนผู้ชม: 4945

ธนาคารอิสลามจับมือกรุงเทพมหานคร แอ่นอกอุ้มคนกรุงปลดแอกหนี้เน่า บ้านกำลังถูกยึดขายทอดตลาด ระบุสถาบันการเงินทั้งระบบมีแสนล้าน
นายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารเร่งศึกษาโครงการของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มีนโยบายแก้ไขหนี้สินของประชาชน เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ถูกฟ้องร้องโดยถูกบังคับคดีและยึดสินทรัพย์โดย เฉพาะบ้านกำลังถูกขายทอดตลาด

ทั้งนี้ กทม.จะคัดเลือกลูกค้าเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ (รีไฟแนนซ์) ทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัยและหนี้บัตรเครดิต รวมถึงการรับรีไฟแนนซ์ลูกหนี้นอกระบบ แต่ต้องมีสัญญาเงินกู้ชัดเจน เพื่อผ่อนปรนภาระจ่ายดอกเบี้ยที่สูงกว่า 30-40% โดยกทม.จะเป็นเจ้าภาพหลักในการเจรจาขอผ่อนผันลดดอกเบี้ยและเงินต้นกับเจ้า หนี้


ปัจจุบันมีลูกหนี้ในสถาบันการเงินต่างๆ จำนวน 5 หมื่นราย คิดเป็นมูลค่าหนี้เสียประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งกำลังจะถูกฟ้องล้มละลายหรือยึดทรัพย์ไปขายทอดตลาด กทม.จึงเปิดให้ผู้เดือดร้อนมาลงทะเบียนเพื่อคัดแยกประเภทลูกหนี้ที่ต้องการ ขอประนอมหนี้

สำหรับระเบียบของกรมบังคับคดีมี 2 แนวทางที่จะนำสินทรัพย์ถอนอายัดการขายทอดตลาดได้ คือ กรณีแรกลูกหนี้เจรจากับเจ้าหนี้จ่าย 80% ของเงินต้นก็สามารถถอนอายัดได้ และกรณีที่สอง เข้ามาประมูลสินทรัพย์ออกไป ซึ่งก็มีปัญหาว่าจะมีคนอื่นมาแข่งขันประมูลหรือไม่

นายธีรศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารมีโครงการซับน้ำตาลูกหนี้ โดยมีลูกค้ามา ติดต่อเพื่อรีไฟแนนซ์หนี้จำนวนมากวันละไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย ซึ่งธนาคารได้จัดตั้งทีมงานและคอลเซ็นเตอร์เพื่อให้บริการลูกค้าโดยเฉพาะ ขณะที่คณะกรรมการธนาคารอนุมัติเงินให้กู้ 5,000 ล้านบาท ซึ่งหากไม่พอสามารถที่จะขออนุมัติได้อีก

สำหรับโครงการซับน้ำตาลูกหนี้ ประกอบด้วย สินเชื่อเพื่อไถ่ถอนหรือซื้อที่อยู่อาศัยจะปลอดเงินต้น จ่ายแค่อัตรากำไรแบบคงที่พิเศษต่ำสุด ปีที่ 1 คิดอัตรากำไร 4.25% ปีที่ 2 และ 3 อัตรากำไร 6%

ทางด้านโครงการสินเชื่อรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล จะให้เงินกู้ไม่เกิน 100% ของภาระหนี้คงเหลือ และสามารถเลือกปลอดชำระเงินต้นได้สูงสุด 6 เดือน ภายในระยะเวลาการขอสินเชื่อสูงสุด 6 ปี อัตรากำไร SPRR บวก 7.75% (ปัจจุบัน SPRR 7.75%) หรือประมาณ 15% โดยโครงการนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-31 ส.ค. 2552

 

นสพ. โพสต์ทูเดย์ 5/4/52

พิมพ์