เตือนภัยหลอกยกเลิกกรมธรรม์แชร์ลูกโซ่-อ้างคืนเงินทันที 30% - ฐานเศรษฐกิจ

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) วันที่ . จำนวนผู้ชม: 5765

นายกสมาคมประกันชีวิตไทยออกโรงเตือนภัย ระวังแก๊งตุ๋นหลอกให้ยกเลิกกรมธรรม์ อ้างจ่ายผลตอบแทนให้ทันที 30% เลียนแบบกระบวนการแชร์ลูกโซ่ แนะเจ้าทุกข์แจ้ง คปภ. ทันทีสกัดกั้นระบบเน่า ขณะที่แนวโน้มตลาดประกันชีวิตปี 52 คาดเบี้ยรับรวมยังโต 8.1%



นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า จากวิกฤติทางการเงินที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ทำให้เริ่มมีการระบาดของการทุจริตโดยกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงผู้เอาประกัน แฝงเข้ามาในรูปแบบกลุ่มตัวแทน ด้วยวิธีการใช้คำพูดชักจูงให้ผู้เอาประกันยกเลิกกรมธรรม์ที่ถือไว้ เพื่อมาซื้อกรมธรรม์ฉบับใหม่ที่มีความคุ้มครองใกล้เคียงกัน พร้อมกับเสนอผลตอบแทนค่าคอมมิสชันหรือค่าหัวคิวคืนให้ทันที 22.5-30% ของมูลค่าลงทุนซื้อกรมธรรม์ใหม่ โดยที่กลุ่มเป้าหมายคือผู้ที่ถือกรมธรรม์ชำระเบี้ยประกัน 2-3 ปี


ตัวอย่างของการหลอกลวง เช่น ผู้เอาประกันถือกรมธรรม์ชำระเบี้ยมาแล้ว 2-3 ปี มีมูลค่าเงินสด 50,000 บาท สนใจเข้าร่วมระบบนี้ เมื่อยกเลิกกรมธรรม์ แล้วนำเงินมาซื้อกรมธรรม์ที่นำเสนอในราคาเพียง 25,000 บาท ซึ่งความคุ้มครองใกล้เคียงกรมธรรม์เดิมและยังให้ค่าคอมมิสชันคืนทันทีอีก 15,000 บาท หากต้องการได้เงินเพิ่มก็ไปชวนเพื่อนหรือญาติมาทำในลักษณะเดียวกันแล้วเอา ค่าหัวคิวไปอีก 17.5%


ผู้เอาประกันส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ากำลังถูกหลอกและเสียผลประโยชน์ หากยกเลิกกรมธรรม์ อาทิ เมื่อประกันตอนอายุมากเปลี่ยนเบี้ยประกันแพงขึ้น หรือสูญเสียมูลค่าเงินสดที่เริ่มในปีที่ 2 ทันที และที่สำคัญหากเป็นกรมธรรม์ที่ซื้อก่อนปี 2552 จะเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษีเดิมสามารถหักลดหย่อนภาษีจากเบี้ยรวมทั้งหมด นอกจากนี้ผู้เอาประกันอาจจะถูกฟ้องในคดีอาญา ข้อหาฉ้อฉลเข้าร่วมกับกลุ่มผู้กระทำความผิด เป็นผู้นำเสนอไม่มีใบอนุญาตตัวแทน ตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต 2551 มีโทษปรับ 3,000 บาทและจำคุก


"เรื่องนี้น่ากังวลอย่างมาก ถือว่าเข้าข่ายกรณีการทุจริตแชร์ลูกโซ่เคยเกิดขึ้นในธุรกิจอื่นและสามารถ เกิดมูลค่าความเสียหายมากกว่า เพราะมีผู้เอาประกันเป็นจำนวนมากที่จะเสียสิทธิประโยชน์ เพราะการทุจริตที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการที่เนียนมากๆ"


ดังนั้น ทางสมาคม และบริษัทประกันชีวิตทั้ง 24 แห่ง กำลังเฝ้าระวังการทุจริตและแจ้งเตือนภัยให้กับผู้เอาประกันพยายามรักษา กรมธรรม์ที่มีไว้ และหากผู้เอาประกันรายใดถูกพูดชักจูงในรูปแบบที่กล่าวมาข้างต้น ให้โทรกลับเพื่อตรวจสอบได้ที่บริษัทประกันโดยตรงหรือหากได้รับความเสียหาย สามารถร้องเรียนและแจ้งเบาะแส ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อยุติการทุจริตที่จะทำให้ภาพธุรกิจประกันชีวิตทั้งระบบเสียหาย


ทั้งนี้ นายสาระ ยังได้กล่าวถึง แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตปี 2552 เบี้ยรับรวมจะเติบโตที่ 8.1% หรือมีเบี้ยรับรวม 240,181.2 ล้านบาท เงินกองทุนสูงถึง 145,261.4 ล้านบาท ขณะที่เบี้ยรับรวมปี 2551 คิดเป็นมูลค่า 222,100 ล้านบาท เติบโต 10%
 
ฐานเศรษฐกิจ 29/1/52
 

พิมพ์