มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตือนภัยผู้บริโภคโดนแฮกข้อมูลบัตรเครดิต จากเนเธอร์แลนด์ เสียหายกว่า 3 หมื่นบาท

craditcard01 01

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายที่โดนแฮกข้อมูลบัตรเครดิต ถอนเงินจากเฟซบุ๊ก ประเทศเนเธอร์แลนด์ 12 รายการ เสียหาย 35,700 บาท เบื้องต้นให้ปฏิเสธการจ่ายกับบัตรเครดิต แนะตรวจสอบเอกสารทุกช่องทาง รวมถึงใบแจ้งหนี้ทางอิเล็กทรอนิกส์

           มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายที่โดนแฮกข้อมูลบัตรเครดิต เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 ถูกถอนเงินไปใช้ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ถึง 35,700 บาท โดยไม่มีข้อความยืนยันตัวตน (OTP) ส่งมาที่ผู้ร้องเลย ได้รับแต่ข้อความ SMS แจ้งเตือนถอนเงิน แต่เนื่องจากโทรศัพท์มีข้อความแจ้งเตือนดังจากหลายแอปพลิเคชัน ทำให้ไม่ได้ยินเสียงข้อความ SMS นั้น ผู้ร้องรู้ตัวว่าถูกแฮกข้อมูล ตอนได้รับอีเมลแจ้งเตือน  “บัตรเครดิตของท่านถูกระงับใช้งาน เนื่องจากมีบุคคลน่าสงสัย กรุณายืนยันความถูกต้องผ่านอีเมล”  โดยพบรายการถอนเงิน จากเฟซบุ๊ก ประเทศเนเธอร์แลนด์ 12 รายการ เป็นจำนวนเงินทั้งหมด 35,700 บาท ธนาคารเห็นความผิดปกติ จึงระงับบัตรไป ตอนนี้พบปัญหาที่ยอดเงินของธนาคารกับในแอปพลิเคชันแจ้งเตือนบัตรเครดิตไม่ตรงกันส่วนหนึ่ง ของธนาคารอยู่ที่ 34,200 บาท หายไป 1,500 บาท จึงให้ธนาคารตรวจสอบยอดล่าสุด และปฏิเสธยอด 34,200 บาท แล้วแจ้งเป็นยอด 35,700 บาท หลังจากเกิดเหตุก็ได้แจ้งอายัติบัตรแล้ว และให้ธนาคารตรวจสอบอยู่ ส่วนด้านบริษัทบัตรเครดิตยังไม่มีการเรียกร้องเก็บเงินตามยอดที่ถอนไป

             ขณะนี้ยังไม่ทราบวิธีการแฮกข้อมูลบัตรเครดิตของกรณีนี้อย่างแน่ชัด เพราะทางผู้ร้องไม่ได้กดลิงก์อะไร ไม่พบข้อความน่าสงสัยส่งมา แต่การที่ยอดเงินโดนถอนเงินจากเฟซบุ๊ก ทำให้ธนาคารตั้งข้อสงสัยว่า ผู้ร้องเคยโปรโมทโพสต์ในเฟซบุ๊กหรือไม่ ซึ่งทางผู้ร้องไม่ได้โปรโมทโพสต์อะไรในขณะนี้ เคยทำเมื่อนานมาแล้ว แต่เป็นบัตรเครดิตคนละใบและหมดอายุไปแล้ว ส่วนเรื่องการพ่วงบัตรเครดิตกับเว็บไซต์ ก็มีเพียงแค่พ่วงกับการซื้อของออนไลน์ ในแอพพลิเคชัน Lazada และ Shopee โดยใน Lazada จะให้กรอกข้อความ OTP ใหม่ทุกครั้ง แต่ Shopee กรอกข้อความ OTP ครั้งเดียว แล้วบันทึกข้อมูลบัตรเครดิตไว้ตลอด

              ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ผู้บริโภคควรตรวจสอบเอกสารในทุกช่องทาง รวมถึงระบบใบแจ้งหนี้ทางอิเล็กทรอนิกส์ เพราะปัจจุบันมีระบบการแฮกข้อมูลแล้วเอาบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตไปใช้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบข้อมูลของธนาคารน่าจะเป็นระบบตัดวงเงินโดยอัตโนมัติ ที่จริงแล้วต้องมีระบบที่คุ้มครองผู้บริโภคได้ในระดับหนึ่ง ให้ผู้ร้องตรวจสอบดูว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

              ในกรณีนี้ทางมูลนิธิฯ ให้ผู้ร้องเรียนทำหนังสือปฏิเสธการจ่ายและเรียกเงินคืนผ่านอีเมล และให้แจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ เพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อไป ตอนนี้ผู้ร้องยังไม่เสียหาย บัตรเครดิตแค่แจ้งเตือนที่ถูกแฮกข้อมูลเท่านั้น แต่จะเสียหายก็ต่อเมื่อธนาคารฟ้องเป็นลูกหนี้และเรียกเก็บเงิน ซึ่งทางผู้ร้องก็ต้องสู้คดีกับบริษัทบัตรเครดิตต่อไป

               การโดนแฮกข้อมูลบัตรเครดิตนั้น มีข้อกฎหมายให้ผู้บริโภคมีสิทธิปฏิเสธรายการที่ไม่ได้ใช้ โดยผู้ประกอบการมีหน้าที่ส่งใบแจ้งหนี้ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 10 วัน หลังจากที่ได้รับใบแจ้งหนี้ ให้ผู้บริโภคตรวจสอบ และดูความถูกต้องของรายการที่เรียกเก็บเงิน ถ้าไม่ถูกต้อง ผู้บริโภคมีสิทธิปฏิเสธการจ่ายรายการที่ไม่ได้ใช้ ควรทำเป็นหนังสือให้บริษัทบัตรเครดิตตรวจสอบหลักฐานและปฏิเสธการจ่ายเป็นลายลักษณ์อักษร แล้วเก็บหลักฐานไว้


             หากมีข้อสงสัยต้องการสอบถามเพิ่มเติมหรือต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 02-2483734-7 หรือ Line id : @ConsumerThai

 

ffc.debt01

Tags: หนี้บัตรเครดิต, แฮกข้อมูลบัตรเครดิต

พิมพ์ อีเมล