บริการสุขภาพ

อย.ตามล้อมคอก"คาร์บ็อกซี่" หารือกองโรคศิลปะ-แพทยสภา

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) วันที่ . จำนวนผู้ชม: 4404

หลัง จาก นพ.ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความงามส่งสัญญาณเตือนสาวอยากผอมที่นิยมทำ "คาร์บ็อกซี่" (Carboxy) โดยฉีดก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปสลายไขมันและเซลลูไลท์เฉพาะส่วนได้ โดยไม่รู้ว่าเป็นภัยเงียบที่คุกคามผู้บริโภค โดยกลุ่มเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเลือด โรคเบาหวาน สตรีมีครรภ์ หรือผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เพราะหากก๊าซบางส่วนผ่านเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือดอาจทำให้อาการดังกล่าวแย่ ลง

ภญ.วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.จะมีการหารือร่วมกับกองประกอบโรคศิลปะ และแพทยสภา ถึงแนวทางการควบคุมการใช้สารบางชนิดที่มีการอวดอ้างสรรพคุณว่าทำให้ผิวขาว หรือผอมเพรียว เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีผลิตภัณฑ์ใดในกลุ่มนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. ขณะที่กองประกอบโรคศิลปะจะทำหน้าที่ในการควบคุมคลีนิคที่ใช้สารดังกล่าว ส่วนแพทยสภาจะคอยกำกับดูแลแพทย์ที่ทำหน้าที่ในการฉีดสารเหล่านี้ เนื่องจากหากสารที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนก็ไม่ควรนำมาใช้ให้แก่ผู้บริโภค เพราะถือว่าผิด โดยเฉพาะผิดจรรยาบรรณแพทย์

ผู้สื่อข่าวถามว่า สำหรับกระแสความนิยมฉีดคาร์บ็อกซี่ ที่มีความเชื่อว่าจะทำให้ผอม อย.จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป ภญ.วีรวรรณกล่าวว่า ต้องมีการตรวจสอบสารชนิดนี้ก่อนว่าเป็นสารชนิดใด มีการขึ้นทะเบียนหรือไม่ แต่หากมีการอวดอ้างว่าเป็นนวัตกรรมที่ช่วยลดไขมันได้ เท่าที่ผ่านมายังไม่เคยมีผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเลย

ภญ. วีรวรรณกล่าวอีกว่า ไม่อยากให้ผู้บริโภคหลงเชื่อว่ามีสารที่ช่วยให้ร่างกายผอมเพรียว หรือช่วยให้ผิวขาวสวยงาม เนื่องจากพวกนี้ไม่มีงานวิจัยใดรับรองที่ชัดเจน และยิ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องฉีดเข้าสู่ร่างกายหรือรับประทานเข้าไปก็ยิ่ง เสี่ยง เนื่องจากไม่มีทางทราบว่าจะเข้าไปสู่กระแสเลือดได้หรือไม่ และจะส่งผลอันตรายถึงขั้นไหน ทางที่ดีที่สุดควรหลีกเลี่ยง แต่หากอยากสวยอยากผอมก็ควรหันมาใช้วิธีธรรมชาติ โดยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ไม่รับประทานอาหารไขมันสูง ของทอดของปิ้งย่างมากๆ หากรู้จักดูแลตัวเองสุขภาพก็จะดี และจะส่งผลต่อผิวพรรณและรูปร่างในที่สุด ที่สำคัญไม่เสี่ยงก่อให้เกิดอันตราย

มติชน 30-1-52

พิมพ์